ไม่พบผลการค้นหา
'กสิกร' แจก 4,000 บาท/ราย เป็นเวลา 3 เดือนให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการสกัดโรคระบาดใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมปล่อยสินเชื่อไม่คิดดอกเบี้ยตลอดทั้งสัญญา ช่วยรักษาการจ้างงาน

ในงานแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus) ธนาคารกสิกรไทย และประธานกรรมการ มูลนิธิกสิกรไทย ชี้ว่า มูลนิธิกสิกรไทยจะเข้าไปช่วยเหลือในฝั่งบุคลากรทางการแพทย์ของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ฝั่งธนาคารกสิกรไทยจะยื่นมือเข้าช่วยลูกค้าของตนผ่านสินเชื่อดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ในระยะสัญญาทั้งสิ้น 10 ปี 

บัณฑูร - กสิกร
  • 'บัณฑูร ล่ำซำ' ประธานกิตติคุณธนาคารกสิกรไทย

แจกตรง แจกเอง 'กลัวเงินหาย'

สำหรับโครงการ 'เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์' จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบไปด้วย สงขลา, ยะลา, นราธิวาส, ปัตตานี และสตูล ซึ่งนายบัณฑูรชี้ว่า เป็นด่านหน้าที่ต้องทำงานต่อสู้กับเชื้อไวรัสและเปรียบเสมือนเป็น 'ทหาร' ในศึกสงครามของประเทศครั้งนี้ 

โดยมูลนิธิกสิกรไทยจะร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขของทั้ง 5 จังหวัด รวมไปถึงคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อรวบรวมรายชื่อบุคลากรที่เกี่ยวข้องและมีความเสี่ยงทั้งหมด ไม่จำเพาะแค่แพทย์ หรือพยาบาลเท่านั้น แต่รวมบุคลากรในทุกตำแหน่งที่ทำงานเสี่ยงทั้งหมด จากโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งมีทั้งสิ้นราว 45 แห่งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคิดเป็นเจ้าหน้าที่ราว 20,000 คน 

ตรวจโควิด ยะลา.jpg

เม็ดเงินที่จะโอนตรงเข้าสู่บัญชีของบุคลากรที่เข้าเกณฑ์จำนวน 4,000 บาท/ราย เท่ากันทุกคนเป็นเวลา 3 เดือนนั้น นายบัณฑูรเปรียบว่าเป็นเสมือนขวัญกำลังใจในการทำงานต่อสู้กับโรคร้าย และตั้งวงเงินเอาไว้ทั้งสิ้น 300 ล้านบาท โดยจะเริ่มทยอยจ่ายได้จริงในช่วงสิ้นเดือน พ.ค.นี้

"ที่สำคัญคือเงินนี้จะไม่ผ่านใครทั้งสิ้น โอนผ่านเดี๋ยวเงินหาย"

อดีตประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย ย้ำว่า เม็ดเงินช่วยเหลือดังกล่าวจะมีการตรวจเช็คอย่างถี่ถ้วนว่าบุคคลนั้นๆ มีตัวตนจริง และปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยจริง พร้อมย้ำว่าขั้นตอนการโอนต้องให้ถึงมือผู้ทำงานเหล่านั้นจริงๆ โดยมูลนิธิจะเป็นคนจัดสรรเงินเหล่านั้นเอง ไม่ผ่านใครทั้งสิ้น "ไม่อยากผ่านใคร เดี๋ยวไปไม่ถึง ทำเองจะได้สบายใจ"


ปล่อยกู้ 10 ปี 0% ให้เอสเอ็มอี

สำหรับโครงการที่ 2 เป็นความรับผิดชอบของธนาคารกสิกรไทย จะเน้นไปที่การช่วยเหลือลูกค้า หรือผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีชั้นดีที่มีจำนวนพนักงานไม่เกิน 200 คน ด้วยเงินกู้ดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ ตลอดทั้งสัญญา โดยเป็นสัญญาเงินกู้ทั้งสิ้น 10 ปี และไม่ต้องชำระเงินต้นตลอดเวลา 1 ปีแรก อย่างไรก็ตาม วงเงินดังกล่าวมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวเพื่อช่วยในการจ่ายค่าจ้างพนักงาน ผู้ประกอบการไม่สามารถนำเม็ดเงินตรงนี้ไปใช้ในเหตุผลอื่นได้ 

ธนาคารฯ คาดว่าจะมีผู้ที่ผ่านเข้าเกณฑ์ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารอยู่แล้วประมาณ 1,000 บริษัท และคิดเป็นการช่วยเหลือพนักงานได้ราว 41,000 คน ในอัตราเงินเดือนรายละ 8,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งธนาคารฯ ได้เตรียมวงเงินสินเชื่อไว้ทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท 

โควิด19-คนไทย-ผู้หญิง พนักงานออฟฟิศ มนุษย์เงินเดือน
"เราให้รายนึงไม่เกิน 8,000 บาท ที่เหลือเถ้าแก่ต้องช่วยหน่อย" บัณฑูร กล่าว

ทั้งนี้ สินเชื่อดังกล่าวจะมีเป้าหลักเจาะไปที่เอสเอ็มอีซึ่งก่อนหน้านี้ดำเนินธุรกิจได้ดีอยู่แล้ว แต่มาได้ผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดในปัจจุบันเป็นหลัก โดยนายบัณฑูรชี้ว่า สำหรับธุรกิจที่อ่อนแออยู่แล้วก่อนหน้านี้ เจ้าของจำเป็นต้องไปปรับตัวเองก่อน 


ถึงปีนี้ไม่มีกำไร...แบงก์ก็อยู่ได้

นายบัณฑูรชี้แจงถึงแนวนโยบายปล่อยสินเชื่อไม่คิดดอกเบี้ยในครั้งนี้ว่า ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถดำเนินธุรกิจโดยมองจากสายตาแบบเดิมได้เพราะสถานการณ์ปัจจุบันมันไม่ปกติ ดังนั้น ความกลัวที่จะปล่อยสินเชื่อจะรั้งไม่ให้ผู้ประกอบการที่ต้องการสภาพคล่องสามารถยื้อไปจนถึงวันที่เศรษฐกิจเริ่มกลับมาเปิดอีกครั้งได้ ซึ่งจะทำให้ทั้งธนาคารพาณิชย์และประเทศต้องเสียผู้เล่นที่มีศักยภาพเซ่นวิกฤตครั้งนี้ไป 

นอกจากนี้ นายบัณฑูรชี้ว่า หากว่ากันตามจริงระบบสถาบันการเงินของประเทศไทยยังมีความเข้มแข็งอยู่ โครงสร้างก็ยังดีอยู่ไม่เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 23 ปีที่แล้ว จึงหมายความว่าเหล่าธนาคารพาณิชย์เองก็มีศักยภาพที่จะช่วยลูกค้า-ลูกหนี้ของตนเองในภาวะนี้ได้ผ่านมาตรการต่างๆ 

ธนาคารไทยพาณิชย์ แบงก์ ปิด โควิด-19 ไทยพาณิชย์
"ต่อให้ปีนี้ทั้งปี กำไรของสถาบันการเงินทั้งหมดเป็นศูนย์ ถามว่ารับได้ไหม รับได้" บัณฑูร กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายบัณฑูรชี้ว่า ทุกการช่วยเหลือหรือทุกองค์กรเองก็มีขีดจำกัดที่สามารถช่วยเหลือคนอื่น ขอแค่อย่าให้ลงไปกระทบถึงเงินทุน การไม่ได้กำไรในสภาวการณ์เช่นนี้ สถาบันการเงินยังอยู่ได้ เพียงแต่ต้องคำนวณให้ดี มีการตั้งเงินทุนสำรองให้หมดก่อน พร้อมอยู่กับความเป็นจริง อยู่กับตัวเลขคณิตศาสตร์ที่คำนวณตลอดเวลา ซึ่งแนวคิดแบบนี้สามารถปรับใช้กับโครงการของรัฐบาลทั้งฝั่งภาคการเงินและภาคการคลังได้เช่นเดียวกัน

นายบัณฑูรชี้ว่า "ต้องคำนวณ อย่าทำโดยไม่คำนวณ ทุกอย่างมีขีดจำกัดทั้งนั้น เราต้องไม่หลอกตัวเอง ภาคการเงินและภาคการคลังก็ต้องทำตัวเลข อย่าทำเป็นมองไม่เห็น เพราะถ้าพลาดไปแล้วจะยุ่ง"

นายบัณฑูรปิดท้ายว่า "ผมไม่คิดว่าในภาวะที่เทียบเท่าศึกสงครามแบบนี้ระบบสถาบันการเงินจะเดือดร้อนอะไรมากมาย ถ้าไม่มีกำไรสักบาทเดียวในปีนี้ทั้งปี"