ไม่พบผลการค้นหา
กรมการขนส่งทางบก แนะงดใช้บริการแท็กซี่หมดอายุ สังเกตหมวดทะเบียนรถก่อนใช้บริการ ขู่หากพบแท็กซี่หมดอายุลักลอบให้บริการจะดำเนินการตามกฎหมายทุกกรณี

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า การฝ่าฝืนใช้รถแท็กซี่ครบอายุการใช้งาน มารับจ้างรับ-ส่งผู้โดยสาร ส่งผลต่อความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้เกิดข้อร้องเรียนจากประชาชน ทั้งยังมีความผิดตามกฎหมาย ดังนั้น เพื่อป้องปรามการกระทำผิด ควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถสาธารณะให้แก่ประชาชน 

กรมการขนส่งทางบกได้จัดผู้ตรวจการขนส่งลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบและจับกุมผู้ฝ่าฝืนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล หากพบการกระทำผิดดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 5 (10) ปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และยึดแผ่นป้ายทะเบียนรถทันที

ทั้งนี้ แนะนำประชาชนงดใช้บริการรถแท็กซี่ที่ครบอายุการใช้งานแล้วและแจ้งข้อมูลมายังกรมการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย โดยให้สังเกตหมวดอักษรบนแผ่นป้ายทะเบียน กรณีรถแท็กซี่นิติบุคคล หมวดที่ครบอายุการใช้งานแล้ว ประกอบด้วย ทฉ, ทต, ทท, ทธ, ทน, ทพ, ทม, ทย, ทร, ทล กรณีรถแท็กซี่ส่วนบุคคลสีเขียวเหลือง หมวดที่ครบอายุการใช้งานแล้ว ประกอบด้วย ทจ, มก, มข, มค, มง, มจ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน 

นอกจากนี้ แนะนำให้สังเกตสภาพตัวรถเพิ่มเติม โดยตัวรถต้องมั่นคงแข็งแรงต่อการใช้บริการอย่างปลอดภัย, มีโป๊ะไฟบนหลังคา, ป้ายไฟแสดงสถานะ, ข้อความ “แท็กซี่บุคคล” หรือ “ชื่อนิติบุคคล” หมายเลขทะเบียนรถและข้อความ “ร้องเรียนแท็กซี่ โทร.1584” ไว้ที่ประตูตอนหน้าด้านนอกทั้งสองข้าง, ภายในรถมีบัตรประจำตัวผู้ขับรถ (บัตรสีเหลือง) แสดงไว้บริเวณที่นั่งผู้โดยสารตอนหน้า ซึ่งจะระบุข้อมูลรถ ชื่อและรูปถ่ายผู้ขับรถซึ่งต้องถูกต้องตรงกัน มีมาตรค่าโดยสารและอัตราค่าโดยสารเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบก���ำหนด

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการกำหนดอายุการใช้งานรถแท็กซี่ไม่เกิน 9 ปี นับแต่วันจดทะเบียนครั้งแรก เพื่อให้สภาพรถมีความมั่นคงแข็งแรงพร้อมนำมาให้บริการประชาชนอย่างความปลอดภัย

ดังนั้น เมื่อครบอายุการใช้งานแล้วต้องรีบส่งคืนแผ่นป้ายทะเบียนและใบคู่มือจดทะเบียนรถเพื่อแจ้งระงับทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ครบอายุการใช้งาน ถอดอุปกรณ์ส่วนควบคุมของรถแท็กซี่ เช่น โป๊ะไฟ มิเตอร์ และห้ามนำไปใช้รับจ้างรับ-ส่งผู้โดยสารโดยเด็ดขาด

หากต้องการใช้รถเพื่อการส่วนตัว ต้องแจ้งเปลี่ยนประเภทจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและห้ามนำมารับจ้างรับส่งผู้โดยสาร พบฝ่าฝืนจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 21 ปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท