ร้อยเอ็ด เป็นชื่อจังหวัดที่แค่พูดขึ้นมาก็ให้ความรู้สึกผู้บ่าวไทบ้านอีสานกันดารมิใช่น้อย ทั้งที่จังหวัดร้อยเอ็ดมีความเป็นมาเก่าแก่ยาวนานนับพันปีตั้งแต่สมัยอาณาจักรทวาราวดีซึ่งชื่อร้อยเอ็ดมาจากสาเกตนครร้อยเอ็จประตู ทั้งยังเป็นอู่อารยธรรมยุคขอม พบปราสาทหินอโรคยาศาลและกู่ปรางค์จำนวนมากซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน
แต่ความกันดารยากไร้ของร้อยเอ็ดก็อยู่ในความรู้สึกของคนไทยจำนวนมาก ทั้งความแห้งแล้งของทุ่งกุลาร้องไห้ และตำนานชีวิตหนุ่มสาวชาวร้อยเอ็ดที่ต้องออกจากบ้านเกิดเมืองนอนมาแสวงโชคในเมืองกรุง
หากดูจากตัวเลขสถิติ พบว่าประชากรร้อยเอ็ดยังมีสภาพยากจนจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภออาจสามารถและอำเภอเสลภูมิ รายได้เฉลี่ยครัวเรือนของชาวร้อยเอ็ดอยู่ที่ 9,607 บาทต่อเดือน ซึ่งน้อยติดอันดับทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและระดับประเทศ
โครงสร้างประชากรส่วนมากของร้อยเอ็ด มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปจนถึง 60 ปี โดยประชากรวัยฉกรรจ์ระหว่าง 20-39 ปีได้ย้ายถิ่นออกไปหางานทำทั้งในกรุงเทพ ภาคตะวันออก และต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพขับรถแท็กซี่ในกรุงเทพมหานคร มีหลายหมู่บ้านในร้อยเอ็ดเป็นหมู่บ้านคนขับแท็กซี่มีชื่อเสียงเลื่องลือ เนื่องจากญาติพี่น้องที่ไปประกอบอาชีพประสบความสำเร็จมีรายได้ ก็ขยายโอกาสผ่อนรถหรือเช่าซื้อจากอู่แท็กซี่เรียกหาลูกหลานตามมาทำงานในกรุงเทพต่อๆ กัน เมื่อถึงยามเทศกาลงานบุญไม่ว่าจะเป็นปีใหม่หรือสงกรานต์ ก็จะเห็นแท็กซี่ป้ายทะเบียนกรุงเทพคนขับร้อยเอ็ดกลับมาเยี่ยมยามบ้านเกิดกันหนาตา
ปัญหาหลักที่ทำให้เกิดความยากจน จากการศึกษาของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด คือการขาดแคลนน้ำชลประทานในการเกษตร ทำให้ที่ดินเกษตรไม่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนได้เพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยเฉพาะเมื่อภูมิประเทศจังหวัดร้อยเอ็ดขาดแคลนลำน้ำขนาดใหญ่ที่จะหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรได้อย่างเพียงพอ ในยามฤดูฝนน้ำหลาก ทุ่งกุลาร้องไห้ก็จะท่วมเป็นท้องน้ำสุดลูกหูลูกตา ส่วนเมื่อเข้าฤดูแล้งก็จะแห้งแล้งร้างเป็นดินแตกระแหง เนื่องจากพื้นดินเป็นดินทรายและหินกรวดไม่สามารถอุ้มน้ำได้แม้จะขุดบ่อหรืออ่างเก็บน้ำไว้รองรับ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างและชลประทานเข้าช่วยมีต้นทุนสูงเกินกว่าชาวบ้านทั่วไปจะสามารถทำได้เอง
การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเกษตรทำให้พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย ได้รับน้ำชลประทานอย่างเพียงพอจนสามารถผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ที่เป็นผลิตผลทางการเกษตรที่ได้รับมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geological Indication: GI) และสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้แก่เกษตรกร ผ่านการรวมกลุ่มสหกรณ์ของชาวนาที่ประสบความสำเร็จ อย่างสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย ซึ่งสามารถสร้างแบรนด์ข้าวบรรจุถุงส่งขายให้กับทั้งโมเดิร์นเทรดและขายออนไลน์ได้ด้วยตนเอง โดยมูลค่าของข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาจากสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัยสร้างผลกำไรให้กับชาวนาในพื้นที่มากกว่า 28 ล้านบาทในปี 2560 ที่ผ่านมา และสามารถรับซื้อข้าวได้มากถึง 60,000 ตันข้าวเปลือก
ในขณะเดียวกัน การพัฒนาตัวเมืองและการปรับตัวจากความรู้และการย้ายถิ่น ทำให้ร้อยเอ็ดมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการกำเนิดขึ้นของบริษัทสยามโกลบัลเฮาส์ ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองร้อยเอ็ด จากการขยายตัวของร้านวัสดุก่อสร้างแบบดั้งเดิมจนกลายเป็นโมเดิร์นเทรดวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ทำให้เงินภาษีของโกลบัลเฮาส์ไหลเข้าสู่งบประมาณท้องถิ่นของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด สามารถปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงจัดการสาธารณูปโภคได้ดีมากยิ่งขึ้น
เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด แม้ว่าเป็นเทศบาลขนาดกลาง มีประชากรเพียง 35,000 คน น้อยกว่าเทศบาลในเขตเมืองของจังหวัดอื่นในภาคอีสาน แต่นับว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการดีเยี่ยม โดยได้รับรางวัลระดับประเทศมากมายจากทั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า และสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีความโปร่งใสในการจัดการทั้งในด้านบริหารบุคลากรและงบประมาณ สามารถตรวจสอบและค้นหาข้อมูลละเอียดได้ผ่านทั้งเว็บไซต์เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด และโซเชียลมีเดียของเทศบาล ทำให้สภาพโดยทั่วไปของเขตเทศบาลเมืองมีความสะอาดร่มรื่นน่าอยู่ การจัดการจราจรคล่องตัว และมีพื้นที่สีเขียวให้พักผ่อนหย่อนใจสูง โดยเฉพาะในเขตคูเมืองร้อยเอ็ดเดิม ที่มีทั้งบึงพลาญชัยเป็นศูนย์กลางสวนสาธารณะ พื้นที่วัด และสวนหย่อมริมคูเมือง อีกทั้งยังมีการสร้างศูนย์แสดงพันธุ์สัตว์น้ำจืด จัดแสดงปลาน้ำจืดในท้องถิ่นที่หาชมได้ยากในยุคสมัยใหม่ในอควาเรียมขนาดย่อมที่มีอุโมงค์ลอด เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เยาวชนและชาวเมืองเป็นอย่างดี
ปัญหาความยากจนของจังหวัดร้อยเอ็ด จึงมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นตามลำดับ หากสามารถจำลองแบบความสำเร็จของสหกรณ์การเกษตรและเทศบาลเมือง กระจายไปยังพื้นที่อำเภอต่างๆ รอบนอก โดยมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้ส่งเสริมและสร้างสาธารณูปโภครองรับให้ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจสร้างชีวิตของตนให้ดีขึ้นด้วยตนเองอย่างมีหลักการและความรู้ ไม่ใช่การชี้นิ้วสั่งการจากส่วนกลางที่ไม่เข้าใจปัญหาหรือภูมิหลังของพื้นที่
ทัศนคติของข้าราชการจากส่วนกลางในเมืองน้อยๆ อย่างร้อยเอ็ดจึงจำเป็นต้องเป็นผู้ประสานงานและส่งเสริมพื้นฐานให้ประชาชนแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับที่พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดเมื่อครั้งรัชกาลที่ 6 ได้แสดงไว้เป็นตัวอย่าง ด้วยการผลักดันให้ชาวร้อยเอ็ดร่วมกันขุดลอกบึงพลาญชัย และสร้างศาลาว่าการเมืองในครั้งนั้นเพื่อประโยชน์ของชาวร้อยเอ็ดเองด้วยกำลังของราษฎรโดยไม่ต้องพึ่งคำสั่งและงบประมาณของกรุงเทพมหานคร