ไม่พบผลการค้นหา
เว็บไซต์สื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลฟิลิปปินส์ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ หลังถูกกล่าวหาว่าไม่แจ้งข้อมูลผู้ถือหุ้นต่างชาติ แต่สื่อตะวันตกระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นการใช้กฎหมาย 'ปิดปาก' สื่อมวลชนในภูมิภาค

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ของฟิลิปปินส์ สั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของเว็บไซต์ เดอะแรพเลอร์ (rappler.com) สื่อเอกชนที่มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายและการทำงานของนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน โดยระบุว่า เดอะแรพเลอร์หลบเลี่ยงการแจ้งข้อมูลผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติที่มีส่วนในการบริหารและควบคุมกิจการภายในประเทศ

นายอาร์มานโด แพน เลขาธิการ กลต. ระบุว่าคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตลงวันที่ 11 มกราคม และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา แต่คำสั่งดังกล่าวยังไม่ใช่คำวินิจฉัยชี้ขาด และ กลต.เปิดโอกาสให้ผู้บริหารของเดอะแรพเลอร์ยื่นเรื่องอุทธรณ์ภายใน 15 วัน 

ส่วนมาเรีย เรสสา บรรณาธิการบริหารของเดอะแรพเลอร์ เผยแพร่ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ยืนยันว่ากองบรรณาธิการของเดอะแรพเลอร์จะปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวต่อไปตามปกติ และจะยื่นเรื่องคัดค้านคำสั่งของ กลต. พร้อมทั้งขอบคุณเครือข่ายสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ส่งกำลังใจให้แก่กลุ่มคนทำงาน

ขณะเดียวกัน สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนแห่งฟิลิปปินส์ (NUJP) และสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำฟิลิปปินส์ (FCCP) ออกแถลงการณ์คัดค้านการเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการของเดอะแรพเลอร์ โดย NUJP ระบุว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองซึ่งต้องการคุกคามและปิดปากสื่อมวลชนในยุคของรัฐบาลนายดูแตร์เต ส่วน FCCP ชี้ว่าท่าทีดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณเตือนสื่อมวลชนในฟิลิปปินส์ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล 

กลุ่มทุนต่างชาติที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ถือครองกิจการของเดอะแรพเลอร์ ได้แก่ กลุ่มทุนโอมิดดิยาร์ ซึ่งก่อตั้งโดยนายปิแอร์ โอมิดดิยาร์ เจ้าของเว็บไซต์อีเบย์ และบริษัทนอร์ธเบสมีเดีย ซึ่งเป็นตัวแทนสื่ออิสระในสหรัฐฯ และ กลต.ของฟิลิปปินส์ยืนยันว่าการเพิกถอนใบอนุญาตไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง แต่รอยเตอร์รายงานว่า เดอะแรพเลอร์ไม่ใช่ธุรกิจด้านสื่อสารมวลชนเพียงแห่งเดียวของฟิลิปปินส์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนต่างชาติ ทำให้เครือข่ายสื่อมวลชนในฟิลิปปินส์ตั้งคำถามว่ามาตรฐานดังกล่าวจะถูกนำไปบังคับใช้กับสื่ออื่นๆ ด้วยหรือไม่

เจมส์ โกเมซ ผู้อำนวยการองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ยกเลิกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของเดอะแรพเลอร์โดยทันที รวมถึงยุติการเคลื่อนไหวแทรกแซงและปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนในประเทศ โดยโกเมซย้ำว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการใช้ความรุนแรงในการทำสงครามต่อต้านยาเสพติดมากกว่าจะหาทางเอาผิดเดอะแรพเลอร์ ซึ่งทำหน้าที่ 'ผู้ส่งสาร' ให้แก่สาธารณชน

รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า การใช้กฎหมายควบคุมและปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนในประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน ตำรวจเมียนมาได้จับกุมผู้สื่อข่าวและช่างภาพของรอยเตอร์ 2 ราย ได้แก่ วา โลน และจอ โซ อู โดยตั้งข้อหาว่าทั้งคู่ลักลอบเข้าถึงและพยายามเผยแพร่ข้อมูลลับของรัฐบาล ซึ่งเกี่ยวพันกับการรายงานข่าวการเกิดวิกฤตโรฮิงญา นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมาครั้งใหม่เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมปีที่แล้ว ทำให้ชาวโรฮิงญานับแสนคนต้องลี้ภัยข้ามฝั่งไปยังบังกลาเทศ 


000_WO9K0.jpg

รอยเตอร์ระบุว่าการตรวจสอบการทำงานของกองทัพและรัฐบาลเมียนมาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สื่อข่าวทั้งสองรายถูกจับกุมและตั้งข้อหาร้ายแรง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของสื่อมวลชนเท่านั้น แต่การปล่อยให้มีการตั้งข้อหาสื่อมวลชน ส่งผลให้นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนชุดแรกในรอบหลายสิบปี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเพิกเฉยต่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพสื่อ รวมถึงสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา ซึ่งย่ำแย่ยิ่งกว่าสมัยอดีตรัฐบาลทหาร 

นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์เดอะแคมโบเดียเดลี่ สื่อภาษาอังกฤษในกัมพูชา ถูกรัฐบาลกล่าวหาว่าหลบเลี่ยงการจ่ายภาษี ทั้งยังมีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเป็นเงินจำนวนมหาศาลเมื่อปีที่แล้ว แต่เดอะแคมโบเดียเดลี่ระบุว่าเป็นข้อกล่าวหาที่มีจุดมุ่งหมายทางการเมือง เพื่อปิดปากสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์การปราบปรามฝ่ายค้านของรัฐบาลกัมพูชา ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้งทั่วประเทศที่จะจัดขึ้นในปีนี้

ขณะที่นายเจมส์ ริคเก็ตสัน ผู้กำกับสารคดีชาวออสเตรเลีย ถูกจับกุมและตั้งข้อหาสอดแนมข้อมูลลับระหว่างที่เขากำลังถ่ายทำภาพยนตร์ในกัมพูชาเมื่อปีที่แล้วเช่นกัน และเขายืนยันว่าการรายงานข้อมูลที่เกิดขึ้นในเชิงข่าวไม่ใช่อาชญากรรม ทั้งยังยืนยันว่าเขามีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ศาลกัมพูชามีคำสั่งเลื่อนพิจารณาคำร้องขอประกันตัวของเขา จากกำหนดเดิมที่ต้องตัดสินในวันนี้ (17 มกราคม) ไปเป็นวันที่ 31 ม.ค.แทน

กรณีของประเทศไทย มีการประเมินสถานการณ์ด้านสื่อมวลชนของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าสื่อในประเทศไทยถูกควบคุมและต้องเผชิญกับอคติจากผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ และองค์กรจัดอันดับด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่าง 'ฟรีดอมเฮาส์' ก็ระบุว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่มีเสรีภาพด้านสื่อสารมวลชน

อ่านข่าวเพิ่มเติม: