ไม่พบผลการค้นหา
ชวนทุกคนทำการบ้านก่อนดูภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนวนิยายสู่แผ่นฟิล์มในอีกไม่ช้า

1. The Maze Runner : The Death Cure – ได้เวลาปิดตำนานวงกตมฤตยู

3-theDeathCure.jpg

นวนิยายไตรภาคเล่มสุดท้ายของเจมส์ แดชเนอร์ (James Dashner) นักเขียนอเมริกันวัย 46 ปี เจ้าพ่อพล็อตไซไฟสไตล์ดิสโทเปียที่เสนอรูปแบบการล่มสลายของอารยธรรมมนุษย์สุดแปลก แตกต่าง และชัดเจนมาตลอด โดยภาคแรกเปิดฉากด้วยการปรากฏตัวของหนุ่มสาวในพื้นที่เล็กๆ ล้อมรอบด้วยเขาวงกตขนาดใหญ่ และทุกคนจำอะไรเกี่ยวกับชีวิตก่อนหน้าไม่ได้เเลย จนกระทั่งเด็กหนุ่มคนหนึ่งตัดสินใจวิ่งหนีออกจากเขาวงกตอันแสนลึกลับ และอันตราย ทำให้ความลุ้นระทึกเกิดปะทุขึ้น

ส่วนเล่ม เดอะ เมซ รันเนอร์ : เดอะ เดธ เคียว (The Maze Runner : The Death Cure) เป็นเหตุการณ์สืบเนื่องจากสมรภูมิมอดไหม้ในปี 2015 เรื่องราวการผลิตวัคซีนป้องกันไข้มรณะ และการเสี่ยงตายเข้าไปช่วยเพื่อนในเขาวงกตอีกครั้ง ซึ่งผู้รอดชีวิตออกมาจะพบกับคำตอบของคำถามในภาคแรก ตั้งแต่พวกเขามาเยือนเขาวงกตมฤตยู ทว่าปัญหาความไม่เชื่อใจกำลังทำให้ภารกิจปิดตำนานเลวร้ายลง

อย่างไรก็ตาม หากต้องการความมันแบบต่อเนื่องวอยซ์ขอแนะนำว่า ควรกลับไปรื้อฟื้นความทรงจำด้วยการอ่านสองภาคแรกเสียก่อน แล้วจะเห็นภาพการคลายปมปัญหาของเกมล่าปริศนา โดยทางสำนักพิมพ์เอ็นเธอร์บุ๊คส์ซื้อลิขสิทธิ์มาแปลเป็นภาษาไทยแล้ว

เดอะ เมซ รันเนอร์ ทุกภาคได้รับการสนับสนุนจากค่ายทเวนตีท์ เซนจูรี ฟอกซ์ (20th Century Fox) เป็นผลงานการกำกับของเวส บอล (Wes Ball) เดิมทีภาคจบของมหากาพย์วงกตมฤตยูมีกำหนดฉายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน แต่ทางสตูดิโอขอเลื่อนเวลาออกไปยาวๆ เนื่องจากนักแสดงนำ ดีแลน โอไบรอัน (Dylan O'Brien) ได้รับบาดเจ็บจากการเข้าฉาก ส่งผลให้การถ่ายทำต้องล่าช้าออกไป และล่าสุดฤกษ์ครั้งใหม่เผยออกมาเป็นวันที่ 26 มกราคม


2. Annihilation – เปิดฉากสำรวจแดนทำลายล้าง

8-Annihilation.jpg

นวนิยายไตรภาคลำดับแรกของเจฟฟ์ แวนเดอร์เมียร์ (Jeff Vandermeer) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2014 และขายดีถล่มถลาย ว่าด้วยเรื่องของทีมนักมานุษยวิทยา นักสำรวจ นักชีววิทยา และนักจิตวิทยา ข้ามพรมแดนไปยังพื้นที่ที่ไม่มีใครรู้จักเรียกว่า แอเรีย เอ็กซ์ (Area X) เนื่องจากต้องการหาคำตอบของสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในดินแดนลึกลับ เพราะสามีของนักชีววิทยาเคยเข้ามาแล้วออกไปในสภาพโคม่า และใกล้ตายด้วยโรคประหลาด

ภาพยนตร์แฟนตาซีผจญภัยใช้ไทยชื่อว่า ‘แดนทำลายล้าง’ ผลงานเขียนบท และกำกับโดย อเล็กซ์ การ์แลนด์ (Alex Garland) โดยนาตาลี พอร์ตแมน (Natalie Portman) นักแสดงรางวัลออสการ์มารับบทเป็นนักชีววิทยา และได้พาราเมาต์ พิกเจอส์ (Paramount Pictures) เป็นผู้ช่วยเผยแพร่ กำหนดเข้าฉายรอบปฐมทัศน์วันที่ 22 กุมภาพันธ์


3. Fifty Shades Freed – เปิดตัวอนาสตาเซียในชุดเจ้าสาว

2-FiftyShades.jpg

นวนิยายรักร้อนฉ่าแห่งศตวรรษที่ 21 ผลงานของอี.แอล. เจมส์ (E. L. James) ซึ่งเป็นนามปากกาที่ปรากฏบนปกเท่านั้น แต่ภายหลังจากที่หนังสือฟิฟตี้ เชดส์ กลายเป็นแฟชั่นระบาดไปทั่วโลก ชื่อของเอริกา มิทเชลล์ (Erika Mitchell) วัย 55 ปี อดีตช่างภาพสถานีโทรทัศน์บีบีซีก็ตกเป็นเป้าของสื่อขึ้นมาทันที เนื่องจากเธออยู่เบื้องหลังนวนิยายที่ยอดขายพุ่งเร็วมากสุดตลอดกาล

ฟิฟตี้ เชดส์ ฟรีด (Fifty Shades Freed) เป็นภาคต่อความสัมพันธ์ของแอนัสเตเซีย สตีล (Anastasia Steele) นักศึกษาเอกวรรณกรรม กับนักธุรกิจหนุ่มคริสเตียน เกรย์ (Christian Grey) ซึ่งเลือกใช้ชีวิตบนเส้นทางรักที่เปี่ยมด้วยความลับ และหลังจากผ่านเรื่องราวเลวร้ายกันมามากในสองภาคแรก ทั้งคู่ก็ได้เวลาหลุดพ้นจากพันธนาการทั้งปวง โดยเตรียมออกฮันนีมูนให้ทุกคนอิจฉาตาร้อน ขณะเดียวกันการดำเนินเรื่องยังไม่มีทีท่าจะหยุดล้วงลึกลงไปในจิตใจของมิสเตอร์เกรย์ ความน่าสนใจอยู่ตรงบทสนทนาเรียกร้องความสนใจ แต่สร้างเสน่ห์เย้ายวนทางเพศให้กับตัวละคร จนนักอ่านผู้หญิงเป็นล้านๆ คนตกหลุกรักไปตามๆ กัน

ส่วนการกลับมาของภาคต่อในปี 2018 ยังคงกำกับโดยเจมส์ โฟลีย์ (James Foley) และดาโกต้า จอนห์สัน (Dakota Johnson) กับเจมี ดอร์แนน (Jamie Dornan) ก็เซ็นสัญญาแสดงนำไว้ 3 ภาครวด โดยในตัวอย่างหนังบนยูทูบเปิดฉากด้วยชุดแต่งงานสีขาวบริสุทธิ์ พร้อมคำสัญญาของมิสเตอร์เกรย์ที่ว่า เขาจะให้เกียรติเธอ ปกป้องเธอ และดูแลเธอให้ปลอดภัย มีกำหนดฉายแบบหวานๆ รับวันวาเลนไทน์เหมือนเดิมทุกปี


4. Ready Player One – ดิสโทเปียในปี 2044

4-ReadyPlayerOne.jpg

ดูเหมือนพ่อมดฮอลลีวูด สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) จะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองหมดไฟในการทำงานลงเสียง่ายๆ เมื่อเขาตัดสินใจหยิบนวนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องแรกของเออร์เนสต์ ไคลน์ (Ernest Cline) นักเขียนอเมริกัน ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 7 ปีก่อน มาสร้างเป็นภาพยนต์แอคชั่นไซไฟล้ำจินตนาการ ภายใต้การอำนวยการสร้างของวอร์เนอร์ บราเธอส์ (Warner Bros.) และเลือกไท เชอริแดน (Tye Sheridan) มาแสดงนำ

เนื้อเรื่องบอกเล่าเรื่องราวของเวด วัตต์ (Wade Watts) ชายหนุ่มวัย 18 ที่กำลังเบื่อหน่ายกับการใช้ชีวิตในปี 2044 เพราะสังคมโลกอนาคตเลวร้าย เสื่อมทราม และมลภาวะเป็นพิษ ทำให้ผู้คนมักหนีความวุ่นวายไปอยู่บนโลกเสมือนจริงอันแสนสมบูรณ์แบบที่เรียกกันว่า ‘โอเอซิส’ แต่หลังจากผู้ออกแบบเทคโนโลยีล้ำสมัยเสียชีวิตลง ไม่ใช่ใครๆ ก็สามารถไขปริศนาของโอเอซิสได้ง่ายๆ เพราะกุญแจดอกสำคัญที่จะพาทุกคนเดินทางสู่ดินแดนใหม่อันกว้างใหญ่ไพศาลคือ ‘ไข่อีสเตอร์ดิจิตอล’ ที่ต้องออกตามล่า

ท่ามกลางการผจญภัยในสมรภูมิอันดุเดือด อ่านแล้วอาจรู้สึกเหมือนมันเป็นเรื่องราวของอนาคตล้วนๆ ทว่าความจริงบรรยากาศของเรื่องกลับเต็มไปด้วยป๊อปคัลเจอร์ของเด็กเนิร์ดยุค 80-90s ทั้งที่เป็นตลับเกม ตัวการ์ตูน และวิดีโอเทป จนทำให้เมื่อปี 2012 ‘เรดดี้ เพลเยอร์ วัน’ กลายเป็นหนังสือขวัญใจของคนอเมริกัน กระทั่งได้รับรางวัลอเล็กซ์ (Alex Award) จากสมาคมผู้ให้บริการห้องสมุดวเยาวชน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association – ALA) ตามด้วยรางวัลโพรมีทีอูส (Prometheus Award) ที่มอบให้กับผลงานนวนิยายแนววิทยาศาสตร์อันโดดเด่น และยังติดอันดับหนังสือขายดีของนิวยอร์ก ไทมส์ อีกด้วย สำหรับชื่อหนังภาษาไทยคือ ‘สงครามเกมคนอัจฉริยะ’ กำหนดฉายรอบปฐมทัศน์ในวันที่ 28 มีนาคม


5. Simon vs. The Homo Sapiens Agenda – ไม่มีใครรู้ว่าผมเป็นเกย์

11-Simon.jpg

วรรณกรรมเยาวชนอีกเรื่องที่มีเสียงชื่นชมล้นหลาม ผลงานของเบ็คกี้ อัลเบอร์ตัลลี (Becky Albertalli) ออกเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2015 โดยเล่าเรื่องราวของตัวละครหลักชื่อ ไซมอน สไปร์ (Simon Spier) เกย์อายุ 17 ปี ซึ่งใช้นามแฝงอยู่บนโลกออนไลน์ว่า ฌาคส์ (Jacques) และกำลังมีความสัมพันธ์ลับกับเพื่อนนิรนามทางอีเมล

แน่นอนว่า ไม่ว่าจะเป็นเกย์ เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล หรือคนข้ามเพศ ทุกคนสมควรได้รับเรื่องราวความรักอันยิ่งใหญ่ แต่สำหรับไซมอนมันซับซ้อนมากเพราะเรื่องรสนิยมของไซมอนเป็นความลับ เขาไม่เคยบอกใคร แต่ด้วยความโชคร้ายทำให้เข้าต้องเผชิญกับดราม่าครั้งใหญ่ เมื่ออีเมลการสนทนาโต้ตอบกันกุ๊กกิ๊กตกไปอยู่ในมือจอมแบล็กเมล เพราะเขาดันลืมล็อกออฟจากคอมพิวเตอร์สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหลักของเรื่องอยู่ที่การนำเสนอแง่มุมของการเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศ และการก้าวข้ามวัยที่ชวนให้ค้นพบตัวเอง หากใครสนใจติดตามอ่านลองดูสำนวนการแปลฉบับภาษาไทยในชื่อ ‘อีเมลลับฉบับไซมอน’ ของสำนักพิมพ์ไทเซย์ บุ๊ก

ขณะที่การถ่ายทอดลงบนจอยักษ์มาในชื่อ เลิฟ,ไซมอน ( Love, Simon) และได้ เกร็ก เบอร์ลานติ (Greg Berlanti) นั่งแท่นเป็นผู้กำกับ แสดงนำโดย นิค โรบินสัน (Nick Robinson) หนุ่มอเมริกันวัยใส สมทบความสนุกด้วยดาราฝีมือคับคั่งทั้ง เจนนิเฟอร์ การ์เนอร์(Jennifer Garner) และ จอช เดอเมล (Josh Duhamel) กำหนดฉายรอบปฐมทัศน์ในวันที่ 16 มีนาคม


6. The Invisible Man – การรีเมคผลงานระดับตำนาน

10-TheInvisibleMan.jpg

นวนิยายคลาสสิกแนวไซไฟระทึกขวัญของ เอช.จี. เวลส์ (H. G. Wells) เปิดตัวครั้งแรกในปี 1897 โดยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในนิตยสารของเพียรสัน (Pearson's Magazine) ก่อนทำการรวมเล่มในปีเดียวกัน เรื่องราวของการทดลองวิทยาศาสตร์ที่เป็นความลับสุดยอดของรัฐบาลสหรัฐฯ กับการพัฒนาเซรุ่มทำให้ร่างกายมนุษย์ล่องหนราวกับมีพลังวิเศษ แต่โชคร้ายตรงกระบวนการทดลองไม่สามารถทำให้ร่างกายกลับคืนมาเหมือนเดิมได้ กระทั่งสถานการณ์บีบบังคับให้นักวิทยาศาสตร์หนุ่มเจ้าเสน่ห์ต้องกลายเป็นฆาตกรล่องหน

สำหรับสำนวนการแปลภาษาไทยเวอร์ชั่นล่าสุดเป็นของจักรพันธุ์ ขวัญมงคล นักเขียน และอดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสารเดอะ ฮอลลีวูด รีพอร์ตเตอร์ โดยใช้ชื่อว่า ‘บุรุษล่องหน’ ตีพิมพ์เมื่อ 2 ปีก่อน ภายใต้การทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น

ที่ผ่านมา นวนิยาย ‘มนุษย์ล่องหน’ ถูกดัดแปลงเป็นหนังสยองขวัญมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง โดยในปี 1933 นำแสดงโดยโคลด เรนส์ (Claude Rains) และได้รับการยกย่องเป็นหนังวิทยาศาสตร์ที่ดีสุดเรื่องหนึ่ง จากนั้นทำให้มีการสร้างภาคต่อๆ มาอีกหลายภาค สำหรับการกลับมารีเมคอีกครั้งที่เตรียมออกฉายในปี 2018 เป็นผลงานของค่ายยูนิเวอร์แซล (Universal) และคว้าตัวจอห์นนี เดปป์ (Johnny Depp) มาเป็นนักแสดงนำ อาจจะเข้าฉายในเดือนเมษายนตามกำหนดของทางสตูดิโอ


7. Where'd You Go, Bernadette – การหายตัวไปของคุณแม่จิตป่วย

1-whereYouGo.jpg

นวนิยายตลกคุณภาพเยี่ยมผลงานของ มาเรีย เซมเพิล (Maria Semple) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2012 เนื้อเรื่องออกแนวเสียดสีสังคม สะท้อนภาพชีวิตของเบอร์นาเด็ตต์ แบรนช์ (Bernadette Branch) อดีตสถาปนิกที่เป็นโรควิตกกังวล หวาดกลัวชุมชน อาศัยอยู่ในเมืองซีแอตเติล สหรัฐฯ ส่วนสามีเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบของโมโครซอฟท์ และมีลูกสาวอัจฉริยะวัย 15 ปี ด้วยกันหนึ่งคน

จุดสร้างความพลิกผัน และน่าอัศจรรย์ เกิดขึ้นหลังจากเบอร์นาเด็ตต์ แบรนช์ หายตัวไปอย่างลึกลับขณะครอบครัวเดินทางไปท่องเที่ยวแอนตาร์กติกา และผู้ทำหน้าที่การบอกเล่าเรื่องราวของแม่จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากลูกสาว ซึ่งนักเขียนนำเสนอความหฤหรรษ์ผ่านเอกสารต่างๆ เช่น อีเมล จดหมาย เอกสารของเอฟบีไอ และจดหมายโต้ตอบของจิตแพทย์ ทำให้นวนิยายเต็มเปี่ยมไปด้วยความสนุกสนาน น่าติดตาม และอาจจะชวนหงุดหงิดกันไปเรื่อยๆ

การเข้าฉายในปี 2018 ได้ผู้กำกับระดับเทพ ริชาร์ด ลินเคลเตอร์ (Richard Linklater) ที่เคยสร้างผลงานกำกับหนังไตรภาคสุดโรแมนติกอย่าง Before Sunrise (1995), Before Sunset (2004) และ Before Midnight (2013) ส่วนนักแสดงนำได้ เคต แบลนเช็ตต์ (Cate Blanchett) มารับบทเป็นเบอร์นาเด็ตต์ แบรนช์ ซึ่งอาจทำให้เธอดังเป็นพลุแตก กำหนดฉายรอบปฐมทัศน์ในช่วงวันแม่อเมริกัน หรือเดือนพฤษภาคม


8. Crazy Rich Asians – ปัญหาวุ่นๆ ของอภิมหาเศรษฐีเอเชียน

9-CrazyRichAsians.jpg

นวนิยายของเควิน กวาน (Kevin Kwan) นักเขียนเชื้อสายจีน-สิงคโปร์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2013 ก่อนขายดิบขายดีไปทั่วโลก จนชื่อของเควินขึ้นแท่นนักเขียนน่าจับตามองของเดอะ ฮอลลีวูด รีพอร์เตอร์ ในปี 2014 เพราะนวนิยายของเขาสะท้อนความคิด และวัฒนธรรมของคนเอเซียได้เฉียบขาด ตั้งแต่ประเด็นการสืบสกุล ความแตกต่างทางเจเนอเรชั่น สังคมบริโภคนิยม และปัญหาโลกแตกเรื่องแม่ผัว-ลูกสะใภ้ ทำให้ตลอดระยะเวลา 5 ปีผ่านมา ‘เครซี ริช เอเชียน’ ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลแล้วกว่า 12 ภาษา ส่วนสำนวนภาษาไทยใช้ชื่อว่า ‘เหลี่ยมโบตั๋น’ ของสำนักพิมพ์แกเลอรี พับลิชชิ่ง

‘เครซี ริช เอเชียน’ หรือ ‘เหลี่ยมโบตั๋น’ เล่าเรื่องวุ่นๆ ของหนุ่มสาวเชื้อสายจีน-สิงคโปร์ ผ่านมุมมองของ 5 ตัวละครหลักที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์ก ทว่าพวกเขาต้องเดินทางกลับบ้านเกิดไปร่วมงานแต่งเพื่อน ซึ่งเป็นสุดยอดการแต่งงานของอภิมหาเศรษฐีในทวีปเอเชีย จึงเกิดเป็นความสับสนอลหม่าน และการต่อสู้กับอำนาจ ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยสินค้าแบรนด์เนม

เมื่อปีที่ผ่านมา ทางค่ายวอร์เนอร์ บราเธอส์ (Warner Bros.) ตัดสินใจนำ ‘เครซี ริช เอเชียน’ มาสร้างเป็นหนังใหญ่สไตล์ฮอลลีวูด ความน่าสนใจอยู่ตรงการคัดเลือกนักแสดงเอเชียนทั้งหมด เพราะช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษ ตั้งแต่เดอะ จอย ลัก คลับ (The Joy Luck Club) ที่สร้างจากนนิยายชื่อดังของเอมี ตัน (Amy Tan.) นักเขียนอเมริกันเชื้อสายจีน ออกฉายในปี 1933 ตลาดหนังกระแสหลักของฮอลลีวูดก็แทบจะไม่สนใจไยดีนักแสดงเอเชียนอีกเลย

อย่างไรก็ตาม เวอร์ชั่นฮอลลีวูดเป็นหนังแบบตลกขบขับผลงานการกำกับของ จอน เอ็ม. จู (Jon M. Chu) วัย 37 ปี ที่เคยโชว์ฝีมือมาแล้วในจี.ไอ. โจ (G.I. Joe ) สเต็ป อัป (Step Up) และนาว ยู ซี มี ภาค 2 (Now You See Me 2) ส่วนนักแสดงนำคือ คอนสแตน วู (Constance Wu) ด้านโลเคชั่นหลักๆ ถ่ายทำกันในประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย เตรียมเปิดรอบปฐมทัศน์ในวันที่ 17 สิงหาคม


9. All the Bright Places – ชีวิตเป็นของใครกันแน่

7-AllTheBrightPlaces.jpg

อีกหนึ่งนวนิยายคัมมิ่ง ออฟ เอจ (Coming of Age) ขายดีของเจนนิเฟอร์ นิเวน (Jennifer Niven) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อน จัดอยู่ในหมวดหมู่วรรณกรรมเยาวชน บอกเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนผ่านชีวิต และการซ่อมแซมจิตใจของหนุ่มสาว สะท้อนให้เห็นการพยายามค้นหาตัวตน ความอยากรู้อยากลอง และวิธีการเติมเต็มความต้องการ

2 ตัวละครหลักคือ ธีโอดอร์ ฟินช์ (Theodore Finch) ชายหนุ่มที่พยายามเกลี้ยกล่อมให้ไวโอเลต มาร์กีย์(Violet Markey) ฆ่าตัวตายบนหอระฆัง เพื่อหลุดพ้นจากความโศกเศร้า และเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ หลังจากนั้นพวกเขาชวนกันตระเวนไปตามสถานที่สำคัญๆ ของรัฐอินดีแอนา เพื่อสร้างสรรค์โปรเจคการท่องเที่ยว ทำให้ได้รู้จักโลก สัมผัสกับบทเรียนชีวิต และความรักมากขึ้น สำหรับเวอร์ชั่นแปลเป็นภาษาไทยมีชื่อว่า ‘แสงแห่งหวังที่ทุกฝั่งฟ้า’ ของสำนักพิมพ์คลาสแอคท์

ส่วนการนำไปพัฒนาต่อเป็นหนังได้ มิเกล อาร์เตต้า (Mikel Arteta) ทำหน้าที่ผู้กำกับ โดยเขาเลือกแอล แฟนนิง (Elle Fanning) ขวัญใจฮอลลีวูด และแฟนหนังทั่วโลก มารับบทเป็นนางเอกของเรื่อง เริ่มเปิดกล้องถ่ายทำในฤดูใบไม้ผลิปี 2016 และอาจเข้าฉายภายในปี 2018 ซึ่งน่าจะถูกใจคนที่ชอบดูหนังรักปนเศร้าของหนุ่มสาวสไตล์ The Fault in Our Stars


10. Boy Erased : A Memoir – ไดอารีที่สวยงามเกี่ยวกับตัวตน ความรัก และความเข้าใจ

6-BoyErased.jpg

หนังสือบันทึกความทรงจำของการ์ราร์ด คอนลีย์ (Garrard Conley ) ถูกนำมาเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 2 ปีก่อน บอกเล่าเรื่องราวชีวิตวัย 19 ปี ของลูกชายบาทหลวงผู้ทำพิธีศีลล้างบาป และชีวิตฝังรากลึกอยู่กับพระเจ้า ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ในรัฐอาร์คันซอ และหวาดกลัวกับปัญหาความขัดแย้งทางเพศมาตลอด กระทั่งวันหนึ่งเขาโดนบังคับให้เข้าโปรแกรมบำบัดของทางคริสตจักร เพื่อรักษาอาการเป็นเกย์ 

ผลงานของคอนลีย์เปรียบเป็นดั่งเอกสารสำคัญของต้นศตวรรษที่ 21 และตัวเขาเองก็เป็นพยานปากสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วย เพราะลึกลงไปในประสบการณ์แสนเจ็บปวด ตัวหนังสือถ่ายทอดความกล้าหาญทั้งภายใน และภายนอก ขณะเดียวกันก็ยังซ่อนความสุขในการค้นพบตัวเอง การเติบโตขึ้นท่ามกลางกลุ่มคริสเตียนสายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ พร้อมกับแสดงให้ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของเขากับแม่ ผู้คอยเฝ้าดูแลเขาท่ามกลางบรรยากาศน่าหดหู่ 

การนำมาดัดแปลงเป็นหนังชีวประวัติได้ โจเอล เอ็ดเกอร์ตัน (Joel Edgerton) ทำหน้าที่เขีนยบท และกำกับ โดยเขาเลือก ลูคัส เฮ็ดจ์ส ( Lucas Hedges) นักแสดงหนุ่มที่เข้าชิงรางวัลออสการ์จากเรื่องแค่ใครสักคน (Manchester by the Sea) มารับบทนำมารับบทเป็นคอนลีย์ และนิโคล คิดแมน (Nicole Kidman) ร่วมถ่ายทอดความกดดัน กำหนดเข้าฉายในวันที่ 28 กันยายน


11. The House of Tomorrow – สิ่งที่อยู่ใต้โดม

5-theHouse.jpg

ผลงานนวนิยายของปีเตอร์ บ็อกนานนี (Peter Bognanni) ว่าด้วยเรื่องราวของการค้นพบตัวเองของชายหนุ่มนามว่า เซบาสเตียน เพรนเดอร์กาสต์ (Sebastian Prendergast) ที่อาศัยอยู่ในโดมทางธรณีวิทยากับยายหัวขบถ ไม่คบค้าสมาคมกับใคร และเป็นครูแบบโฮมสคูลคอยสั่งสอนเขาเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีตามรอย ริชาร์ด บัคมินสเตอร์ ฟูลเลอร์ (Richard Buckminster Fuller) 

ส่วนจุดหักเหของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อยายของเซบาสเตียนเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้เขาถูกบังคับให้ออกจากโดม และเดินไปตามทางของตัวเอง ก่อนพบกับเจเร็ด วิทคอมบ์ (Jared Whitcomb) ที่กำลังฟื้นตัวจากการปลูกถ่ายหัวใจตอนอายุ 16 จากนั้นทั้งคู่ร่วมกันปั้นเดอะ ราช (The Rash) วงดนตรีพังค์ร็อกขึ้นมา ทั้งๆ ที่เป็นสไตล์ดนตรีที่ไม่เคยรู้มาก่อน และนำไปแสดงในโบสถ์

สำหรับหนังเป็นผลงานกำกับของปีเตอร์ ลิโวลซี (Peter Livolsi ) แสดงนำโดย เอซา บัตเตอร์ฟีลด์ (Asa Butterfield) และ อเล็กซ์ โวล์ฟฟ์(Alex Wolff) จัดฉายรอบปฐมทัศน์ไปแล้วในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซานฟรานซิสโก (San Francisco International Film Festival) เมื่อเดือนเมษายนปี 2017 และกำลังจะนำกลับมาฉายให้ชมกันในวงกว้างขึ้นอีกครั้งในปี 2018