ไม่พบผลการค้นหา
จีดีพีขยายตัวดี แล้วมีผลดีต่อชีวิตประจำวันของผู้มีรายได้น้อย คนรากหญ้าอย่างไร เป็นเรื่องที่นักเศรษฐศาสตร์ก็ยังต้องคิด เพราะในเวลาที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนร้อยละ 60-70 เมื่อส่งออกดี แต่ไม่กระจายถึงภาคเกษตร โดยเฉพาะปีนี้ที่ราคายาง ราคาปาล์มน้ำมันตก คนจนก็ยังไม่รู้สึกว่าจะมีอะไรดีขึ้น แม้แต่คนที่ถือบัตรคนจนมีเงินอุดหนุนจากรัฐเดือนละ 200-500 บาท ก็ยังต้องเผชิญกับภาวะสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นราคา

เศรษฐกิจไทยขณะนี้ ต้องยอมรับว่า สำหรับเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการส่งออก กลุ่มคนชั้นกลางบน-สูง เติบโต เงินสะพัด การลงทุนในตลาดหุ้นมีสภาพคล่องที่ดี ขณะที่ในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมาล่าสุด ชี้ว่าไตรมาสแรกปีนี้ จีดีพีขยายตัวร้อยละ 4.8 สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส หรือ 5 ปี 

แต่เมื่อเข้าไปส่องดูสถานการณ์เศรษฐกิจ เงินในกระเป๋าคนชั้นกลางล่างถึงรากหญ้า กลับพบว่า แม้ราคาสินค้าเกษตรบางรายการ เช่น ข้าว จะมีราคาดีขึ้นกว่าปีก่อนๆ แต่ยางพารา และปาล์มน้ำมัน กลับทรงตัวในระดับต่ำ 

บทวิเคราะห์จากสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปีนี้ เห็นชัดถึงการกระจุกตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเริ่มคลี่คลาย และมีสัญญาณบวกในระยะต่อไป

แต่ครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยและปานกลางยังคงมีปัญหาภาระหนี้ จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ในปี 2560 พบว่า ภาระหนี้ต่อรายได้ของครัวเรือนยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การกลับมาเพิ่มการใช้จ่ายของครัวเรือนกลุ่มดังกล่าวในระยะต่อไปเกิดขึ้นได้ไม่เร็วนัก

ขณะที่ แรงกดดันจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ กำลังเป็นปมสำคัญที่จะผลักดันต้นทุนด้านการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันขยับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีก่อน 

สืบเนื่องจากราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงผู้ประกอบการด้านการคมนาคมขนส่งใช้เป็นปัจจัยสนับสนุนขอขึ้นราคาสินค้าและบริการ 

แม้แต่กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย (รายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี) ที่เป็นกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคนทั่วประเทศ ที่ได้รับการอุดหนุนค่าครองชีพจากรัฐเป็นรายเดือนจากวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หลายเสียงต่างพูดตรงกันว่า "เงินไม่พอใช้จ่าย เพราะของแพง"

นางปิ่นแก้ว วันตา วัย 78 ปี บอกว่า เธอกับสามีวัย 84 ปี เป็นผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่เงินช่วยเหลือค่าครองชีพคนละ 200-300 บาทต่อเดือน รวมกับเงินในบัตรผู้สูงอายุ ก็ไม่ได้มากมาย ขณะที่ ราคาข้าวสาร ก๊าซหุงต้ม รวมถึงกับข้าวถุงก็ปรับเพิ่มขึ้น 


"ตอนนี้ ลำบากนะ ข้าวหอมมะลิ ตอนแรกในร้านประชารัฐราคา 180 บาท ตอนนี้ขึ้นมาเป็น 200 บาทต่อถุงแล้ว เราก็ใช้บัตรประชารัฐนี่ซื้อได้ถุงเดียวต่อเดือน" นางปิ่นแก้ว กล่าว

ขณะที่ นายกิตติกาน เข็มเพ็ชร อาชีพ ค้าขาย เปิดเผยว่า ได้บัตรฯ มาใช้ได้ 3 เดือนแล้ว ส่วนใหญ่ก็ซื้อสบู่ ยาสีฟัน ของใช้ในครัวเรือน เดือนๆ หนึ่งก็ใช้หมด เพราะเงินเท่านี้ ไม่พอซื้อทั้งหมดอยู่แล้ว ดังนั้น แต่ละเดือนจะพอซื้อเพียงของใช้ ส่วนของกินก็ไม่ค่อยได้ใช้บัตรซื้อ อีกอย่างโชคดีที่ตนเองไม่เป็นหนี้ ถึงช่วงราคาก๊าซหุงต้มจะขึ้น ราคาน้ำมันรถจะขึ้น แต่ก็ยังพออยู่ได้ 

อีกด้านหนึ่ง สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2561 จะอยู่ในช่วง 60 – 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ยของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 53 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17-23

ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) ในไตรมาสแรกของปี 2561 อยู่ที่ 64.15 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 53.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสแรกของปี 2561 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ร้อยละ 9.0

เมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ราคาขายปลีกในประเทศขยับตาม ต้นทุนสินค้าอุปโภคบริโภคก็ถึงคราวให้ต้องปรับเพิ่มขึ้น ผลสุดท้ายก็ตกลงไปที่ผู้บริโภคคนข้างล่าง แล้วอย่างนี้ รัฐบาล คสช.จะบอกว่า เศรษฐกิจดี จีดีพีโตขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: