ไม่พบผลการค้นหา
อย. เผยผลการประชุมทุกภาคส่วนที่พิจารณา 18 มาตราในร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ โดยที่ประชุมเห็นชอบได้ข้อสรุปตรงกัน พร้อมที่จะนำเสนอ รมว.สาธารณสุข ย้ำรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน ดำเนินการด้วยความโปร่งใส ยึดผลประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ ประชาชนต้องได้รับความปลอดภัยจากการใช้ยา

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2561 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมพิจารณา 18 มาตรา ในร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ ว่า ทาง อย. ได้เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งภาคเอกชน เภสัชกร อาจารย์มหาวิทยาลัย มาหารือเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับแก้ไข 18 มาตรา ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่มีปัญหามาพิจารณาให้เสร็จสิ้นโดยเร็วในระยะแรก เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน เกิดประโยชน์ในระบบยา และประเทศชาติ หลังจากนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อมาช่วยพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ยา ทั้งฉบับ ซึ่งจะมีรายละเอียดค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ การประชุมเป็นไปด้วยบรรยากาศที่ดี ทุกภาคส่วนรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน แม้มีความเห็นต่างกันในบางประเด็น แต่ก็ได้ทำความเข้าใจตรงกัน และบันทึกความคิดเห็นไว้ โดยได้ข้อสรุปว่าทุกฝ่ายเห็นชอบในฉบับแก้ไข 18 มาตราของร่าง พ.ร.บ. ยา นี้ เป็นการแก้ไขในฉบับที่ 6 ซึ่งยังคงเนื้อหาสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ทั้งเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการพิจารณาอนุญาตตามประกาศฯ คสช. ฉบับที่ 77/2559 หลักเก��ฑ์การอนุญาตยาที่จะวิจัยในต่างประเทศ อายุการขึ้นทะเบียนยา รวมถึงการแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นอกเหนือจากหลักการในการแก้ไขครั้งนี้ จะนำไปเข้าในชุดคณะกรรมการที่จะมีการแก้ไขในฉบับเต็มต่อไป โดยการประชุมครั้งนี้ไม่ได้แตะประเด็นที่ขัดแย้งหรือไม่มีความเข้าใจเพียงพอ และจะมีการนำร่างฉบับเต็มส่วนที่เหลือไปเข้าในคณะกรรมการชุดใหญ่ ให้เกิดการมีส่วนร่วม อาจหาคนกลางมาให้พิจารณาประเด็นที่เห็นต่าง ซึ่งจะไม่กำหนดกรอบเวลาและให้มีเวลาในการพิจารณาอย่างเต็มที่

เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับแก้ไข 18 มาตรานี้ อย. จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคาดว่าหลังวันที่ 3 พฤศจิกายน 2561 จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ อย. ยังยึดมั่นในการรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน ให้เกิดการมีส่วนร่วม ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส เพื่อให้เป็นร่าง พ.ร.บ.ยา ที่มีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ในสังคมไทยปัจจุบันที่จะคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความปลอดภัย ได้รับประโยชน์ และสามารถสร้างความมั่นคงด้านยาอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :