ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลอิหร่านประกาศผู้ประท้วง “ต้องชดใช้” หลังมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 รายจากการชุมนุม ผู้บาดเจ็บหลายราย และอาคารสำนักงานของรัฐบาลได้รับความเสียหาย

ชาวอิหร่านทั่วประเทศลุกฮือประท้วงต่อต้านรัฐบาลต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนและตำรวจ ถือเป็นการประท้วงที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่ปี 2009 ขณะที่กองทัพขู่ใช้ “กำปั้นเหล็ก” สลายการชุมนุม

สาเหตุของการประท้วงเนื่องมาจากไม่พอใจรัฐบาลอิหร่านในหลายกรณี ทั้งค่าครองชีพที่สูงขึ้น คุณภาพชีวิตของประชาชนที่ย่ำแย่ และที่สำคัญคืออัตราการว่างงานที่สูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบรุนแรงจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ จนเริ่มมีการรวมตัวประท้วงตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา และในขณะนี้เหตุการณ์เริ่มบานปลาย เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนและตำรวจ ถือเป็นการประท้วงที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่การประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ในปี 2009

“ผู้ที่ทำให้เกิดความเสีบยหายต่อทรัพย์สินสาธารณะ ขัดขวางคำสั่งและละเมิดกฎหมายต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองและต้องชดใช้” อับดุลเราะห์มาน ราห์มานี ฟาซิล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐ

สถานการณ์ล่าสุดขณะนี้พบว่ามีการรวมตัวกันประท้วงในหลายเมืองทั่วประเทศ บางแห่งมีการรวมตัวกันในหลักร้อยคน ไปจนถึงหลักพันคน แต่เป็นการชุมนุมในลักษณะกระจัดกระจาย และมีการตะโกนสโลแกนของการชุมครั้งนี้ถ้วยถ้อยคำที่ว่า "The people are begging, the clerics act like God" หรือ "ประชาชนต้องขอทาน แต่ผู้นำศาสนากลับทำตัวเยี่ยงพระเจ้า" และมีการตะโกนเรียกร้องให้มีการโค่นล้มอำนาจหรือแม้แต่สังหารผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาตุลเลาะห์อาลี คาเมเนอี พร้อมกับการปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจและการทำลายข้าวของ รวมถึงอาคารสถานที่ของทางราชการอีกด้วย

อีกหนึ่งเหตุผลหลักที่สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ประท้วงทั่วประเทศอย่างมากก็คือการที่รัฐบาลอิหร่านให้ความสำคัญกับการเข้าแทรกแซงและพยายามแก้ไขปมความขัดแย้งในต่างประเทศมากจนเกินไป จนทำให้ละเลยความพยายามแก้ไขปัญหาปากท้องของคนในประเทศ ซึ่งผู้ชุมนุมจำนวนมากได้ตะโกนเรียกร้องด้วยถ้อยคำที่ว่า "Not Gaza, not Lebanon, my life for Iran." หรือ "อย่ามัวแต่สนใจเรื่องกาซ่า อย่ามัวสนใจแต่เลบานอน ชีวิตของฉันมีไว้เพื่ออิหร่าน"

สถานการณ์ขณะนี้ทวีความรุนแรงและวุ่นวายขึ้นทุกนาทีจนยากที่จะระบุข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากความวุ่นวายในการชุมนุมมากเท่าใด แต่เบื้องต้นมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 2 ราย ขณะที่กองทัพอิหร่านประกาศว่าหากผู้ชุมนุมยังไม่ยอมยุติการเคลื่อนไหว จะต้องเจอกับ “กำปั้นเหล็ก” ของกองทัพ ซึ่งเป็นการขู่ว่าจะใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างชัดเจน

ที่สำคัญคือแอปพลิเคชัน 'เทเลแกรม' สื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในอิหร่านราว 40 ล้านคนก็ได้ระงับการให้บริการของสำนักข่าวอาหมัดนิวส์ เนื่องจากทางการระบุว่าสื่อดังกล่าวปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงภายในประเทศ นอกจากนั้นก็ยังมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในบางพื้นที่ของกรุงเตหะรานของอิหร่านไปแล้วด้วย จึงส่งผลให้การสื่อสารกันในพื้นที่เป็นไปอย่างลำบากและไม่มีความชัดเจน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหตุประท้วงต่อต้านค่าครองชีพในอิหร่านลุกลามเข้าสู่วันที่ 3