นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการควบคุมจริยธรรม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ที่มีการวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการตั้งคำถามกับผู้ปกครองของทีมฟุตบอลหมูป่าทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิต ที่หายเข้าไปในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย และการนำเสนอภาพข่าว ว่า การรายงานข่าวสถานการณ์ที่มีลักษณะเช่นนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นข่าวที่อ่อนไหว มีความละเอียดอ่อนสูง เพราะเกี่ยวพันกับชีวิต จึงไม่ควรรายงานในลักษณะแบบคาดการณ์
"กรณีเหตุการณ์ที่จังหวัดเชียงราย จะเห็นว่าการรายงานข่าวช่วงวันแรกๆ จะมีความเลอะเทอะ ข่าวไม่ได้โฟกัสที่ข้อเท็จจริง เป็นข่าวที่คาดการณ์ และมีสื่อบางส่วนให้ความสำคัญกับการรายงานเรื่องการเชิญไสยศาสตร์ หรือ นำเสนอภาพที่มีคนเข้าทรง สื่อไม่ควรให้ความสำคัญในจุดนี้ ต้องระวัง โดยเฉพาะการตั้งคำถาม ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์นี้ผู้ปกครองของเด็กรอคอยลูก ด้วยความกังวลและเป็นทุกข์อยู่แล้ว ดังนั้นคำถามไม่ควรถามเพื่อเป็นการซ้ำเติม เช่น รู้สึกอย่างไร เพราะต้องรู้อยู่แล้วว่าผู้ปกครองเป็นทุกข์ หน้าที่ของสื่อที่ถูกต้อง ในสถานการณ์เรื่องนี้ คือ ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง ให้มีความชัดเจน แม่นยำว่าเหตุการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไร" นายจักร์กฤษ กล่าว
ส่วนกรณีที่ภาครัฐจัดระเบียบการเข้าถึงพื้นที่และให้ข้อมูลกับสื่อ นายจักร์กฤษ มองว่า การมาถึงจุดนี้สื่อต้องทบทวนว่าการรายงานข่าวที่ผ่านมาไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง เมื่อเป็นเช่นนี้ภาครัฐจึงคิดว่าต้องเข้ามาจัดระเบียบ เฉพาะกรณีนี้อย่ามองว่าเป็นการกีดกันเสรีภาพ เพราะมีเหตุผลรองรับว่าทำไมภาครัฐต้องเข้ามาจัดระเบียบ
ส่วนกรณีขอความร่วมมือในการไลท์สดของสื่อในการรายงานข่าวให้น้อยที่สุด เพื่อเปิดช่องสัญญาณให้กับเจ้าหน้าที่ในการติดต่อสื่อสารนั้น นายจักร์กฤษ มองว่า เป็นเรื่องเทคนิค ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ย่อมรู้ดีว่าควรต้องให้ความร่วมมืออย่างไร เพราะอย่าลืมว่าสื่อไม่ได้มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น มีความเป็นห่วง เป็นคนไทยคนหนึ่งที่ต้องการเห็นภารกิจครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ดังนั้นเสรีภาพควรอยู่บนความรับผิดชอบด้วย