ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค เผยปีนี้ (61) พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษในไทยแล้ว 74,980 หมื่นราย และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นช่วงหยุดยาวนี้ แนะประชาชนเลือกรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ถูกสุขลักษณะ อาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-7 ส.ค. 2561 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 74,980 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุ 15-24 ปี รองลงมาอายุ 25-34 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ เป็นกลุ่มก้อน 2 เหตุการณ์ ที่จังหวัดสงขลา เกิดในเรือนจำมีผู้ป่วย 494 ราย ปัจจัยเสี่ยงที่พบคือ การนำกะทิที่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้าหลายชั่วโมง โดยที่ไม่ได้เก็บไว้ในตู้เย็น มาปรุงรับประทาน และที่จังหวัดเชียงใหม่ พบผู้ป่วยหลังงานเลี้ยงของชุมชน 47 ราย ปัจจัยเสี่ยงคือการนำหมูมาปรุงรับประทานแบบดิบ

ส่วนการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยจากโรคอาหารเป็นพิษเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาว มีการเดินทางพบปะญาติพี่น้องและเลี้ยงสังสรรค์ ประกอบกับในบางพื้นที่เกิดน้ำท่วมขังมีการอพยพคนมาอยู่รวมกัน จึงมีโอกาสที่อาหารหรือแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคอาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรคได้ 

กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า ประชาชนควรเลือกรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ถูกสุขลักษณะ ส่วนในการประกอบอาหารปริมาณมาก ควรยึดหลักสุขอนามัยของผู้ปรุงและสุขาภิบาลอาหาร เช่น น้ำ วัตถุดิบ และภาชนะใส่อาหาร ต้องสะอาด ปราศจากการปนเปื้อน ที่สำคัญอาหารควรปรุงสุก รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ เก็บถนอมอาหารอย่างถูกวิธี และก่อนหยิบจับอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง 

อาการของผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ ในรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระมากๆ ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกหมดสติได้ การช่วยเหลือเบื้องต้น ควรให้จิบสารละลายเกลือแร่โอ อาร์ เอส บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่ายกายขาดน้ำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว