ไม่พบผลการค้นหา
'ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ' ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เสนอโมเดลรวมกลุ่มคนแรงงานขับเคลื่อนสิทธิแรงงานเข้าสู่สภา ชูทำงานที่ไหน เลือกตั้งที่นั้นแทนภูมิลำเนา ฟากตัวแทนแรงงานหวังพรรคการเมืองยุคใหม่ฟังเสียง ผลักดันข้อเรียกร้องชูเป็นนโยบาย

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วยนายสุนทร บุณยอด อดีตผู้นำแรงงาน กล่าวถึงประเด็นคุณภาพชีวิตแรงงานและการขับเคลื่อนนโยบาย ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์

โดยนายธนาธร ให้ความเห็นว่า แม้เป้าหมายการทำธุรกิจคือกำไร แต่ปรัชญาการทำงานโดยส่วนตัวเห็นว่า "ถ้าพนักงานมีความเป็นอยู่ไม่ดี จะมีโรงงานทำไม"

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าอุตสาหกรรมมีคู่แข่ง จึงต้องมีการปรับค่าแรงเป็นมาตรฐานเดียวกัน จากฉันทามติที่เห็นร่วมกันทั้งสังคม ซึ่งลักษณะพิเศษของแรงงาน คือการมีอยู่ในทุกภาคส่วนของสังคม และโดยส่วนมากไม่มีความมั่นคงจากภาระที่ต้องใช้จ่าย

ประเด็นนี้ต้องมีการแก้ไขว่าจะทำอย่างไรให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง ซึ่งกลุ่มแรงงานจึงเป็นกลุ่มที่ไม่ควรถูกละทิ้ง 

โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิภาพแรงงาน ที่ผ่านมาไม่มีเรื่องใหญ่ของกลุ่มแรงงานถูกผลักดันให้เกิดรูปธรรม สิ่งที่อยากเห็นคือการรวมตัวกันขององค์กรแรงงานขนาดใหญ่ ร่วมกันเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิของแรงงาน ผลักดันเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เพื่อลดปัญหาการถูกแบ่งแยกปกครอง ในขณะที่สิทธิลาคลอดควรมีให้ผู้ชายเช่นเดียวกับผู้หญิง เพื่อความเท่าเทียมและไม่ถูกตัดโอกาสในการเติบโตในสถานประกอบการ 

ส่วนรัฐธรรมนูญควรให้สิทธิกลุ่มแรงงานเลือกพื้นที่ใช้สิทธิ์ออกเสียงตามพื้นที่ที่ต้องการ เพราะส่วนใหญ่เดินทางจากภูมิลำเนาเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครหรือเมืองใหญ่ และเห็นว่านโยบายของผู้สมัครในพื้นที่ทำงานตอบโจทย์พวกเขามากกว่าภูมิลำเนา ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความหลากหลายตามระบอบประชาธิปไตย

ส่วนนโยบายประเด็นคุณภาพชีวิตแรงงาน พรรคอนาคตใหม่ได้ศึกษาไว้ 3 แนวทาง ประกอบด้วย หนึ่ง ค่าเลี้ยงดูบุตร รัฐต้องจ่ายเงินช่วยเหลือ 1,200-1,500 บาท สอง สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนเข้าอนุบาลในทุกชุมชน เพื่อให้คนหนุ่มสาวไปทำงาน และช่วยแก้ปัญหาสังคมสูงวัย โดยนำคนสูงวัยมาเลี้ยงลูกหลานในสถานรับเลี้ยงเด็ก เพื่อลดภาระ สาม เงินคืนภาษีคนจน ต้องยื่นภาษีตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป หากมีรายรับ 100,000 บาทต่อปี ต้องเสียภาษี และมีการคืนเงินให้กับผู้มีรายได้น้อย 10,000 บาท 

'ตัวแทนแรงงาน' หวังพรรคการเมืองยุคใหม่ฟังเสียงผู้ใช้แรงงาน

นายสุนทร บุญยอด กล่าวว่า มีการตั้งคำถามว่ากลุ่มแรงงงานทำไมเข้าไปยุ่งกับพรรคการเมือง โดยที่ผ่านมา มีข้อสรุปร่วมกันว่าแรงงานต้องเข้าไปในสภา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการผลักดันขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งโมเดลของพรรคอนาคตใหม่ตอบโจทย์กลุ่มแรงงาน เพราะเปิดรับฟังเสียงที่ถูกระดมมาจากกลุ่มคนแรงงาน

ส่วนประเด็นแรงงานต่างด้าว สุนทรกล่าวว่าจะไม่มีการแบ่งแยกระหว่างแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว จะมีการผลักดันให้กลุ่มแรงงานต่างด้าว ให้รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ตามสิทธิที่ระบุในกฎหมาย

ข่าวเกี่ยวข้อง :

'ยูเอ็น' ชี้ไทยต้องไปอีกไกล เพื่อให้ 'ธุรกิจ-สิทธิมนุษยชน' สมดุลกัน

ก.แรงงานสรุปยอดแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนกว่า 1.3 ล้านคน

สหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์สฯ ร้องยูเอ็น นายจ้างปฏิบัติไม่เป็นธรรม