นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นโรคที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยพบว่าประมาณ 45% ของการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นผลมาจากหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดอันตรายรุนแรงจากที่มีการขาดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเกิดขึ้นได้ทั้ง ขณะทำงาน เล่นกีฬา หรือขณะพักผ่อน เนื่องจากมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและมีรอยปริของผนังหลอดเลือดทำให้มีลิ่มเลือดและไขมันมาเกาะที่ผนังและก่อตัวเป็นตะกรันเกิดการอุดตันของหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ อาการและสัญญาเตือนของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง มีเหงื่อออก ปวดร้าวไปกรามสะบักหลังแขนซ้าย หอบเหนื่อย ใจสั่น จุกบริเวณคอหอย บางรายอาจมีอาการจุกบริเวณใต้ลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน
เมื่อเกิดภาวะเหล่านี้ผู้ป่วยต้องรีบเดินทางมาโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งจากข้อมูลของประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มาเข้ารับการรักษาล่าช้าทำให้เสียชีวิตหรือมีภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา
แพทย์หญิงวิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าแนวทางการวินิจฉัยของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แพทย์จะซักประวัติ อาการ และทำตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหากพบว่ามีอาการเข้าได้กับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ แพทย์จะรีบทำการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วยให้ปลอดภัย ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนใส่ขดลวดค้ำยัน
ทั้งนี้การป้องกันความเสี่ยงของการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ผู้ป่วยต้องรู้จักดูแลตนเองไม่ให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง ควบคุมน้ำตาลในเลือด ควบคุมความดันโลหิต ควบคุมไขมันในเลือด งดสูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน และเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผัก และผลไม้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ