ตามไปดู 'โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง' อาคารพักอาศัยแปลง G 28 ชั้น 334 ห้อง หัวมุมถนนวิภาวดีรังสิตตัดกับถนนดินแดง เขตดินแดง ที่อยู่อาศัยแห่งใหม่สำหรับชาวชุมชนแฟลตดินแดง (เดิม) อาคาร 18-22 จำนวน 238 ราย ที่จะสามารถย้ายเข้าพักอาศัยได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. นี้
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยหลังร่วมพิธีเปิดอาคารโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (อาคาร แปลง G) ว่า อาคารที่มาเปิดวันนี้ เป็นหนึ่งในโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง แผน 8 ปี (2559-2567) ระยะแรก ที่ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 18 เดือน และสามารถเปิดให้ชาวชุมชนแฟลตดินแดงเดิมเข้าพักตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. นี้
ส่วนโครงการระยะถัดไป จะเริ่มก่อสร้างในเดือน พ.ย. นี้ และขยายทุกๆ 2 ปี จนครบทั้งหมด 20,292 ยูนิต ภายในปี 2567
พร้อมให้ชาวแฟลตดินแดงเดิมเข้าพัก 15 ก.ค. กรรมสิทธิ์เช่าระยะยาว 30 ปี
ด้านนายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559 - 2567) ที่มีมติ ครม. เห็นชอบ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2559 นั้น จะแบ่งโครงการออกเป็น 4 ระยะ เพื่อสร้างที่พักอาศัยให้ได้ทั้งหมด 36 อาคาร 20,292 หน่วย แบ่งเป็นสำหรับผู้อยู่อาศัยเดิม 6,546 หน่วย และผู้อยู่อาศัยใหม่ 13,746 หน่วย ระยะเวลาดำเนินการรวม 8 ปี อย่างไรก็ตาม อาคารสำหรับผู้อยู่อาศัยใหม่ 13,746 หน่วย จะเริ่มในโครงการระยะที่ 3-4 ตั้งแต่ปี 2563-2567
สำหรับโครงการระยะที่ 1 แปลง G นี้ มีจำนวน 334 หน่วย ขนาดพื้นที่ห้อง 33 ตารางเมตร ดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด 18 เดือน มาตั้งแต่ปี 2559 และผู้อยู่อาศัยได้กรรมสิทธิการเช่า เนื่องจากที่ดินของโครงการนี้เป็นของกรมธนารักษ์ที่เปิดให้เช่า 30 ปี มูลค่าการก่อสร้าง 300 ล้านบาท การตกแต่งอีก 160 ล้านบาท รวมเป็นทั้งสิ้น 460 ล้านบาท หรือคิดเป็นตารางเมตรละ 13,000 บาท
"โครงการนี้ใช้เวลาดำเนินการมานานกว่า 16 ปี 7 รัฐบาล และมาลุลวงในรัฐบาล ซึ่งโครงการแปลง G นับเป็นเฟสแรก มีความสูง 28 ชั้น 334 ห้อง รองรับผู้อยู่อาศัยในชุมชุนดินแดงได้ ซึ่งการสื่อสารเพื่อโยกย้ายจากอาคารเดิมมาอาคารใหม่เป็นเรื่องยากและละเอียดอ่อน ซึ่งเราอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่การเคหะแห่งชาติ และหน่วยงานทั้งทหาร ตำรวจ มวลชนต่างๆ ช่วยกันทำความเข้าใจให้พี่น้องชุมชนที่อยู่ในโครงการเข้าใจ" นายธัชพล กล่าว
ที่อยู่ใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่
สำหรับชาวชุมชนแฟลตดินแดงที่เตรียมตัวย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในอาคารหลังใหม่ ตึก 28 ชั้น เช่น ร.ท.ปัญญา มีฤกษ์สม อาศัยในแฟลตดินแดง อาคาร 20 มาตั้งแต่ปี 2508 หรือ กว่า 53 ปี ซึ่งล่าสุดได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการประธานชุมชนอาคาร G กล่าวว่า อยู่อาศัยที่แฟลตดินแดงเป็นคนแรกๆ มาตั้งแต่ปี 2508 โดยอยู่ในอาศัยในห้องพักร่วมกับพี่สาวและพี่เขย แม้ส่วนใหญ่จะไม่ได้อยู่ห้อง เพราะรับราชการทหารกรมช่างอากาศ แต่ก็อยู่กับชุมชนนี้มานาน
"กะจะย้ายเข้าประมาณวันที่ 20 ก.ค. นี้ ตอนนี้ ยังไม่ได้ขึ้นไปอยู่ ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างไร ยังไม่ทราบ แต่ถ้าเทียบกับที่เก่า ความเป็นอยู่ไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่ควร หนึ่ง ด้านจิตใจของคน ความเจริญไม่เท่ากัน บางคนก็ฉลาด บางคนก็ดี บางคนก็โง่ บางคนก็ไม่เอาไหนเลย แล้วมาอยู่ด้วยกัน ก็เป็นชุมชนที่ตอนนี้เสื่อมโทรมแล้ว ส่วนสิ่งที่มาอยู่ใหม่ มาดูแล้ว อาจมีความคับแคบไปนิดหนึ่ง แต่ความเจริญก้าวหน้าจะดีกว่า"
อย่างไรก็ตาม ห้องพักในอาคาร G มีพื้นที่ 33 ตารางเมตร ซึ่งเล็กกว่าแฟลตดินแดงเดิมที่ห้องพักมีพื้นที่ 42 ตารางเมตร และมีระบบรักษาความปลอดภัย กฎระเบียบที่เข้มงวดกว่าอาคารเดิม อาทิ มีคีย์การ์ดเข้าอาคาร ห้ามใช้เตาแก็สปรุงอาหาร โดยให้ใช้เตาไฟฟ้าเท่านั้น เป็นต้น
เลือกรับสิทธิเช่าห้องพักระยะยาว ดีกว่าต้องหาแหล่งที่อยู่ใหม่
ส่วนผู้อยู่อาศัยในแฟลตดินแดง ซ. 6 ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัย ตามแผนแม่บทที่จะต้องย้ายเข้าอาคารใหม่ในปลายปี 2567 เช่น นายปู อาชีพค้าขาย กล่าวว่า ตนอยู่ในอาคารแฟลตดินแดงมาตั้งแต่ 5 ขวบ จากตอนแรกอยู่อาคาร 4 ย้ายมาอาคาร 6 อยู่รวมกันในห้องพื้นที่ 42 ตารางเมตร ทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วย ครอบครัวพี่ชาย และครอบครัวของตน แต่ก่อนมีพ่อและแม่อยู่ด้วย แต่พ่อและแม่เพิ่งกลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม หากต้องย้ายออกจากแฟลตเดิมไปอยู่อาคารใหม่ ก็ต้องย้าย และแม้ว่าการเคหะแห่งชาติจะให้ทางเลือกว่า จะรับเป็นสิทธิการเช่าในราคาเช่าเดิม 3 ปี และปรับขึ้นอีกร้อยละ 5 ในปีที่ 3 กับ รับเป็นเงินชดเชยการย้ายออก 400,000 บาท เขายืนยันว่า ก็จะเลือกเป็นสิทธิการเช่า เพราะอย่างน้อย ถ้าเขาไม่อยู่ก็ยังให้ลูกอยู่ได้ในอนาคต
"ค่าเช่าก็อาจจะแพงขึ้น อย่างปัจจุบัน ถ้าเป็นคนเช่ามือแรกก็ราคาหนึ่ง แต่ถ้าเช่ามือที่สอง มือที่สาม ก็จะมีราคาเพิ่มขึ้น อย่างของผมค่าเช่าประมาณ 300 กว่าบาทต่อเดือน ไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ แต่ถ้าไปอยู่อาคารใหม่ ค่าเช่าเพิ่มขึ้นและมีค่าส่วนกลางอีก 825 บาทต่อเดือน ก็ต้องยอมจ่าย แต่ผมเป็นวัยรุ่น ก็ไม่ได้เครียดอะไร เขาให้ย้ายก็ย้าย" นายปู กล่าว
ทั้งนี้ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 หรือ อาคาร G วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2559 และสร้างเสร็จเมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2561 โดยจะพร้อมให้ชาวชุมชนแฟลตดินแดงขนย้ายเข้าอยู่อาศัยได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค – 22 ส.ค. 2561เป็นต้นไป โดยชาวชุมชนดินแดงจ่ายค่าเช่าอัตราเดิมเช่นปัจจุบัน รวมกับค่าบริหารจัดการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ 825 บาทต่อเดือน และค่าภาษีโรงเรือนร้อยละ 12.5 ทำให้ค่าเช่าใหม่อยู่ระหว่าง 1,286 - 4,371 บาทต่อเดือน
นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติ ได้พิจารณาให้สิทธิการเช่าผู้อยู่อาศัยเดิมแฟลตที่ 18 - 22 สามารถเข้าอยู่อาศัยในอาคารพักอาศัยแปลง G แล้ว จำนวน 238 ราย และมีผู้ไม่ประสงค์จะเข้าอยู่อาศัยในอาคารแปลง G จำนวน 45 ราย พร้อมรับค่าชดเชยสิทธิจำนวน 400,000 บาท
เปิดเฟส 3-4 รองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ 13,746 ห้อง ภายในปี 2567
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะที่ 2 3 และ 4 (รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม) จำนวน 6,212 หน่วย ทางการเคหะแห่งชาติได้ออกแบบโครงการและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พร้อมทั้งเสนอให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาครบทุกแปลงแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) กรุงเทพมหานคร
ส่วนการขออนุมัติดำเนินโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยการดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะที่ 3 และ 4 (รองรับผู้อยู่อาศัยใหม่) จำนวน 13,746 หน่วย จะเป็นรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมนำเสนอคณะกรรมการ กคช. ก่อนนำเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ต่อไป ซึ่งระหว่างการศึกษา ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มผู้ลงทุน (Market Sounding)
เบื้องต้น มีภาคเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมหลายราย และได้รับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปปรับใช้เป็นข้อมูลในการหารูปแบบและแนวทาง ให้มีความเหมาะสมทั้งด้านการพัฒนาโครงการและรูปแบบการลงทุนต่อไป
ปั้นอาคาร G บนแนวคิด 'เมืองอัจฉริยะ'
ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาอาคารพักอาศัยแปลง G เพื่อนำไปสู่การเป็น 'Din - daeng Smart Town' ในอนาคต นั้น กคช. จะนำร่องนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับ Smart Life เช่น 1) ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (Smart Security) ด้วยการนำระบบคีย์การ์ดและการติดตั้งกล้องวงจรปิด และจัดให้มีระบบป้องกันอัคคีภัยที่ได้มาตรฐานในอาคารสูง 2) ด้านการออกแบบชุมชน (Smart Community) ได้นำหลักการออกแบบสำหรับทุกคน (Universal Design) เพื่อรองรับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างสะดวก เช่น จัดให้มีทางลาดรถเข็น ลิฟต์ขึ้น - ลงอาคาร และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในห้องน้ำในชั้น 8 และชั้น 9 และ 3) ด้านการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) ภายในอาคาร มีการใช้หลอดไฟ LED การจัดเก็บขยะอย่างมีระบบ โดยการคัดแยกขยะก่อนนำไปทิ้งโดยใช้หลัก 3 R ได้แก่ Reduce Reuse และ Recycle และการนำน้ำบางส่วนที่ผ่านการบำบัดแล้วไปใช้รดน้ำต้นไม้ในโครงการ เป็นต้น