ไม่พบผลการค้นหา
ทหารอเมริกันวัยเกษียณนับร้อยนาย ลงชื่อค้านว่าที่ ผอ.ซีไอเอคนใหม่ เหตุพัวพันการทรมานนักโทษในคุกลับที่เคยตั้งในไทย ขณะที่องค์กรสิทธิฯ ชี้ มรดกดำมืดของซีไอเอยังตกค้างในไทย

'จีน่า แฮสเปล' รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ ที่ได้รับการเสนอชื่อดำรงตำแหน่ง ผอ.ซีไอเอคนใหม่ในรัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน เตรียมรายงานตัวให้ปากคำกับคณะกรรมาธิการวุฒิสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 9 พ.ค. นี้ ก่อนที่คณะกรรมาธิการฯ จะลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้แฮสเปลเป็น ผอ.ซีไอเอคนใหม่แทน 'ไมค์ ปอมเปโอ' ซึ่งถูกโยกย้ายไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า กำหนดการรายงานตัวของแฮสเปลเกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการตรวจสอบภายในองค์กรของซีไอเอแถลงยืนยันเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่าแฮสเปล 'ไม่มีความผิด' จากการทำลายวิดีโอบันทึกการทรมานนักโทษในคุกลับของซีไอเอในต่างประเทศ รวมถึงไทย จำนวน 92 ชิ้น เพราะเป็นการทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

คำแถลงอ้างอิงบันทึกภายในองค์กรที่จัดทำโดย 'ไมค์ มอร์เรล' อดีตรักษาการณ์ผู้อำนวยการซีไอเอเมื่อปี 2554 และ 2555-2556 ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า แฮสเปลทำลายบันทึกวิดีโอต่างๆ ตามคำสั่งของ 'โจเซ รอดริเกซ' อดีต ผอ.ซีไอเอ ในขณะนั้น

จีนา แฮสเปล ว่าที่ ผอ.ซีไอเอ มีเอี่ยวคุกลับในไทย

อย่างไรก็ตาม ทหารอเมริกันวัยเกษียณ 109 นาย รวมถึงอดีตทหารผ่านศึกซึ่งถูกกักตัวในฐานะเชลยสงครามเวียดนาม ได้ร่วมกันลงชื่อในจดหมายคัดค้านการแต่งตั้งแฮสเปลเป็น ผอ.ซีไอเอ โดยให้เหตุผลว่าการทรมานนักโทษในคุกลับถือเป็นประวัติศาสตร์อันดำมืดของสหรัฐฯ จึงไม่สมควรตั้งแฮสเปลดำรงตำแหน่งสำคัญดังกล่าว เพราะอาจจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดๆ ว่าสหรัฐฯ และซีไอเอสนับสนุนการทรมาน

การเคลื่อนไหวต่อต้านแฮสเปลครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสมาชิกพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน รวมถึงนายจอห์น แมคเคน ส.ว.รัฐแอริโซนา สังกัดพรรครัฐบาลรีพับลิกัน ซึ่งเคยเป็นอดีตเชลยในสงครามเวียดนาม ต่างคัดค้านที่นายทรัมป์เสนอชื่อแฮสเปลเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ถ้าคณะกรรมาธิการวุฒิสภาลงมติรับรองแฮสเปลรับตำแหน่ง จะทำให้เธอเป็น ผอ.ซีไอเอ หญิงคนแรกของสหรัฐฯ 

ผลสอบภายในทำให้ 'ซีไอเอ' ถูกกล่าวหาว่า 'ลำเอียง'

หลังจากการเผยแพร่ผลสอบสวนภายในองค์กรของซีไอเอ ก็มีความเคลื่อนไหวผ่านบัญชีทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของซีไอเอด้วย โดยทวิตเตอร์ดังกล่าวเผยแพร่ข่าวที่ระบุว่าแฮสเปลพ้นจากข้อกล่าวหากระทำผิดวินัย ฐานสั่งทำลายวิดีโอที่เป็นหลักฐานการทรมานในคุกลับ รวมถึงเผยแพร่ข่าวโจมตีผู้คัดค้านแฮสเปลว่าเป็นความพยายามกระพือข่าวลือและข้อมูลเท็จ 

กรณีดังกล่าวทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากโพสต์ข้อความตำหนิซีไอเอ โดยหลายรายระบุว่าบัญชีทางการของหน่วยงานรัฐไม่ควรเผยแพร่ข้อมูลที่ดูจะเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจนออกนอกหน้า และจะทำให้เกิดคำถามว่าการสอบสวนภายในองค์กรมีความโปร่งใส เป็นธรรม และไม่เข้าข้างฝ่ายใดจริงหรือไม่ เพราะตามปกติแล้วหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ มีกฎระเบียบชัดเจนว่าจะต้องไม่แสดงท่าทีสนับสนุนหรือต่อต้านในประเด็นสาธารณะ

ประกอบกับกระบวนการพิจารณาคุณสมบัติของแฮสเปลก็ยังไม่เสร็จสิ้น จึงยังไม่ควรมีการเคลื่อนไหวใดๆ ออกมา เพราะอาจเป็นการชี้นำสังคมได้

นิตยสารไทม์ของสหรัฐฯ รายงานเพิ่มเติมว่าหลังจากแฮสเปลได้รับการเสนอชื่อเป็นว่าที่ ผอ.คนใหม่ เว็บไซต์ของซีไอเอได้เผยแพร่ข้อมูลการทำงานและประวัติส่วนตัวของเธอ โดยยกย่องว่าเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่องค์กรอย่างแข็งขันตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา แต่กลับไม่ชี้แจงความเกี่ยวข้องของแฮสเปลที่มีต่อโครงการ 'คุกลับ' ซึ่งเป็นเรื่องที่สาธารณชนสงสัยและต้องการทราบข้อเท็จจริง

นอกจากนี้ 'ไดแอน ไฟน์สตีน' ส.ว.รัฐแคลิฟอร์เนีย สังกัดพรรคเดโมแครต ยังวิจารณ์ด้วยว่า การเผยแพร่บันทึกของ 'ไมค์ มอร์เรล' อดีตรักษาการณ์ ผอ.ซีไอเอ เป็นการเลือกให้ข้อมูลเพียงบางส่วนที่เป็นประโยชน์กับแฮสเปล ทำให้เธอรอดพ้นจากข้อกล่าวหาเรื่องจงใจทำลายหลักฐานการทรมาน แต่กลับไม่มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงว่าแฮสเปลเกี่ยวข้องกับการทรมานในคุกลับมากน้อยเพียงใด 

"เทคนิคเพิ่มสมรรถนะการสอบปากคำ = การทรมาน"

หลังจากเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์ก่อเหตุวินาศกรรมโจมตีสหรัฐฯ ในวันที่ 11 ก.ย.2544 หรือเหตุการณ์ 9/11 ทำให้อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศนโยบายทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งยังมีคำสั่งขยายอำนาจให้เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงและหน่วยข่าวกรองจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการก่อการร้ายโดยไม่มีการตั้งข้อหา

รวมถึงขยายเวลาควบคุมตัวได้อย่างต่อเนื่อง และอนุญาตการตั้งคุกลับของซีไอเอในต่างประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดกฎหมายด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ 

เจ้าหน้าที่ซีไอเอได้รับอนุญาตให้ใช้เทคนิค 'เพิ่มสมรรถนะการสอบปากคำ' ในการสอบสวนผู้ต้องสงสัยเกี่ยวพันกับการก่อการร้าย รวมถึงสอบสวนผู้ถูกคุมตัวในคุกลับในต่างแดน แต่เทคนิคดังกล่าวถูกคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงของรัฐบาลชุดต่อมา หรือสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ระบุว่าเป็น 'การทรมาน' และ 'ละเมิดสิทธิมนุษยชน' 

ทหาร.jpg

รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมรับว่า 'ไทย' เป็นหนึ่งในประเทศที่ยอมให้มีการตั้งคุกลับของซีไอเอ แต่รัฐบาลไทยทุกสมัยปฏิเสธข้อมูลดังกล่าว และย้ำมาตลอดว่าไม่เคยมีคุกลับของซีไอเอในไทย รวมถึงไม่เคยมีความคิดที่จะไต่สวนข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุกลับของซีไอเอ  

'สุณัย ผาสุข' ที่ปรึกษาขององค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรต์วอทช์' เปิดเผยกับแอลเอไทม์ สื่อของสหรัฐฯ ว่า "มรดกตกค้างจากคุกลับของซีไอเอยังคงอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยในทุกวันนี้" เพราะในแต่ละสัปดาห์จะมีเหตุการณ์ทรมานเกิดขึ้นให้ได้ยินอยู่เรื่อยๆ

การสอบสวนเรื่องคุกลับในไทยย้อนหลัง 'ไม่มีประโยชน์'

แอลเอไทม์สระบุว่า กระบวนการสอบปากคำของซีไอเอมีทั้งการรบกวนการนอนของผู้ต้องสงสัย ทำให้ไม่สามารถหลับได้สนิทเป็นเวลาต่อเนื่องหลายวันติดต่อกัน รวมถึงการใช้วิธี 'วอเตอร์บอร์ดดิง' ซึ่งเป็นการจับผู้ต้องสงสัยขึงบนแผ่นกระดานและใช้ผ้าชุ่มน้ำปิดหน้าพร้อมรดน้ำตาม ทำให้รู้สึกเหมือนถูกจับกดน้ำ และผู้ต้องสงสัยบางรายมีอาการทางจิตหลังจากถูกทรมานด้วยเทคนิคของซีไอเอเหล่านี้

ด้าน 'รศ.ปณิธาน วัฒนายากร' ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ, ที่ปรึกษาและกรรมการคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผยกับแอลเอไทม์สด้วยว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นนานแล้ว และไม่มีคนสนใจอีกแล้ว เว้นแต่ว่าจะมีการค้นพบหลักฐานใหม่ ซึ่งดูจากความเป็นไปได้ คงจะต้องอาศัยหลักฐานที่มาจากสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน 'แอนเดรีย จอร์เกตตา' ผู้อำนวยการสมาพันธ์ระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย มีความเห็นสอดคล้องกับ รศ.ปณิธาน โดยเชื่อว่าข้อมูลเรื่องคุกลับของสหรัฐฯ ในไทยจะถูกเก็บเป็นความลับอันเลวร้ายต่อไป และจะไม่มีใครปล่อยให้เรื่องดังกล่าวถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เพราะไม่มีใครได้ประโยชน์ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับทั้งอดีตรัฐบาล กองทัพ หน่วยงานความมั่นคง และประเทศพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ 

ที่มา: AP/ CIA/ LA Times/ Human Rights First/ Time

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: