ไม่พบผลการค้นหา
การใช้เวลานานบนหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีแนวโน้มส่งผลกระทบกับสมองของเด็กทั้งในเชิงกายภาพและการคิดวิเคราะห์

ผลลัพธ์เบื้องต้นจากงานวิจัยมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9,847 ล้านบาท จากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) ชี้ให้เห็นว่า โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และ วิดีโอเกม สามารถเปลี่ยนโครงสร้างสมองของเด็กได้ จากการใช้งานเพียง "60 นาที" 

งานวิจัยชิ้นนี้ จะทำการติดตามเด็กอายุ 9-10 ปี จำนวน 11,000 คน เป็นว่า 10 ปี เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงด้านกายภาพของสมองและพัฒนาการทางด้านอารมณ์และสุขภาพจิตของเด็กที่อยู่ในโครงการวิจัยนี้ ข้อมูลเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่าการโจมตีจากหน้าจอของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่งผลกระทบในด้านความเปลี่ยนแปลงกับเด็กในทางที่ไม่ดีนัก

ในการวิเคราะห์ภาพสมองของเด็กจำนวน 4,500 คน ที่ใช้เวลาในการจ้องหน้าจอมากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน พบว่า เปลือกสมอง (brain cortex) ซึ่งเป็นส่วนนอกสุดที่ควบคุมข้อมูลที่ส่งมาจากส่วนต่างๆ ของร่างกายมีขนาดบางลง แม้ว่าความแตกต่างระหว่างผู้เข้าร่วมที่ใช้เวลากับหน้าจอมากกว่า 7 ชั่วโมงและน้อยกว่า 7 ชั่วโมง จะเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) กายา ดาวลิ่ง ออกมาเตือนไม่ให้รีบด่วนสรุป

"เราไม่รู้ว่ามันเป็นผลมาจากระยะเวลาที่ใช้ไปกับการมองหน้าจอ เราไม่รู้ว่ามันเป็นสิ่งไม่ดีรึเปล่า เราไม่รู้จนกว่าเราจะติดตามพวกเขาไปเลื่อยๆจนรู้ผลลัพธ์ที่เกี่ยวโยงกับความแตกต่างที่เราเห็นจากภาพถ่าย" ดาวลิ่ง กล่าว

ผลลัพธ์เบื้องต้นจากงานศึกษาวิจัยที่มีชื่อว่า "การพัฒนาการรับรู้ด้านสมองของวัยรุ่น" (Adolescent Brain Cognitive Development (ABCD)) ระบุว่า เด็กที่ใช้เวลามากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวันไปกับหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำคะแนนด้านการคิดวิเคราะห์และภาษาได้ต่ำกว่าเด็กที่ใช้เวลากับหน้าจอน้อยกว่า 2 ชั่วโมง ข้อมูลจากผลวิจัยนี้จะถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการในต้นปี 2562

อ้างอิง: Bloomberg