คณะรัฐมนตรีอินเดียมีมติอนุมัติคำสั่งนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิให้ใช้โทษประหารชีวิตกับผู้ที่ก่อเหตุข่มขืนเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี นอกจากนี้ คำสั่งนายกรัฐมนตรียังสั่งให้เพิ่มโทษขั้นต่ำในคดีข่มขืนเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี รวมถึงคดีข่มขืนผู้หญิง โดยสำนักข่าวรอยเตอร์สกล่าวว่าคำสั่งไม่ได้ระบุถึงกรณีการข่มขืนผู้ชายและเด็กผู้ชายแต่อย่างใด
คำสั่งนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับคดีข่มขืนเด็กออกมาหลังจากประชาชนชาวอินเดียออกมา ประท้วงกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยผู้ประท้วงจำนวนมากรู้สึกไม่พอใจที่รัฐบาลไม่มีมาตรการจัดการปัญหาการคุกคามทางเพศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะมาตรการในการคุ้มครองเด็ก จนทำให้มีคดีข่มขืนเด็กที่โหดร้ายทารุณเกิดขึ้นหลายคดี
การประท้วงรอบนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่ตำรวจเปิดเผยรายละเอียดคดีชาวฮินดู 8 คนรุมข่มขืน ทรมาน และสังหารอซิฟา บาโน เด็กหญิงชาวมุสลิมวัย 8 ปีในแคว้นแคชเมียร์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยผู้ก่อเหตุเป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ 1 คน ตำรวจ 4 นาย และเยาวชนอีก 1 คน จากนั้น ความโกรธแค้นของประชาชนยิ่งทวีขึ้น เมื่อสมาชิกพรรคบีเจพี พรรครัฐบาลถูกกล่าวหาว่าข่มขืนเด็กอายุ 16 ปีในรัฐอุตตรประเทศเมื่อ 9 เดือนก่อน
อินเดียประสบปัญหาเรื้อรังเรื่องความรุนแรงทางเพศ แม้จะมีการประท้วงครั้งใหญ่เมื่อปี 2012 หลังเกิดกรณีรุมข่มขืนและสังหารบนรถเมล์ จนรัฐบาลอินเดียต้องแก้กฎหมายเกี่ยวกับการข่มขืนกันครั้งใหญ่ แต่การคุกคามทางเพศในอินเดียก็ยังเกิดขึ้นบ่อยทั่วประเทศ
สำนักข่าว The Times of India รายงานว่าในปี 2016 มีคดีข่มขืนเกิดขึ้นทั้งหมดมากกว่า 38,000 คดี คิดเป็นประมาณ 106 คดีต่อวัน โดยผู้ก่อเหตุร้อยละ 94.6 ของคดีทั้งหมดเป็นคนรู้จักของผู้ถูกกระทำเป็นสมาชิกครอบครัว คู่ชีวิต ญาติ เพื่อนบ้าน รวมถึงเพื่อนร่วมงาน และในคดีข่มขืนทั้งหมด มีคดีข่มขืนเด็กอายุต่ำว่า 12 ปีทั้งหมด 2,116 คดี
อินเดียใช้วิธีการแขวนคอสำหรับโทษประหารชีวิต แต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อินเดียประหารชีวิตนักโทษเพียง 3 ครั้ง และแม้ผู้ก่อเหตุข่มขืนบนรถเมล์ทั้ง 4 คนจะถูกตัดสินโทษประหาร แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการประหารชีวิตแต่อย่างใด โดยคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตในปี 2015 คือชายที่ถูกตัดสินว่าเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อก่อเหตุระเบิดนครมุมไบในปี 1993
ที่มา: BBC, The Times of India