ผศ.ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวกับวอยซ์ ออนไลน์ว่า สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงที่สุดสำหรับพ่อแม่วัยรุ่นในปัจจุบันมี 2 ประเด็น หนึ่ง ตัวพ่อแม่วัยรุ่นและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเขาทั้งหมด เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านต้องต่อสู้กับบรรทัดฐานของสังคม ที่ยังไม่ยอมรับความเป็นแม่วัยรุ่นหรือพ่อวัยรุ่น
แม้ตัวเลขจาก สำนักอนามัยเจริญพันธ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า จำนวนหญิงคลอดบุตรอายุระหว่าง 10-19 ปี มีแนวโน้นลดลงจาก 104,289 คนในปี 2558 มาอยู่ที่ 94,584 คนในปี 2559 แต่ ผศ.ดร.กนกวรรณ มองว่าสภาพความกดดันจากสังคมกลับไม่ได้ลดลงตามไปด้วยเลย
"สังคมคิดว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องอายุมากกว่า 20 ปี ขึ้นไป การเอาตัวเลขมากำหนดหรือแม้กระทั่งว่า ต้องมีงานทำ ต้องเรียนจบก่อน แต่งงานก่อน ส่ิงเหล่านี้เป็นความคาดหวังของสังคม พอเจอปัญหาขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นแม่วัยรุ่นหรือพ่อวัยรุ่น หรือญาติพี่น้อง มันก็เหมือนกับถูกมองไปแล้ว ว่าไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคม ไม่เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทย มันอึดอัด เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นอันแรกเลยที่เป็นปัญหาสถานการที่น่าห่วง"
ผศ.ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ.ดร.กนกวรรณ ระบุว่า ถามว่าทำไมต้องน่าห่วง จริงๆ แล้วเราไม่ต้องคิดแบบนี้ก็ได้ คือต้องแต่งงานก่อนแล้วค่อยมีลูก อันนี้ก็ไม่ควรจะจริงอีกต่อไปแล้ว ต้องเรียนจบก่อนแล้วมีงานทำให้เป็นกิจลักษณะแล้วถึงจะมีลูกได้ จริงๆ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่ถ้ามีขึ้นมาแล้ว มันก็สามารถที่จะมีลูกได้แล้วเรียนหนังสือไปด้วย แล้วก็ทำงานไปด้วยได้เหมือนกัน
การที่เราคิดเป็นแบบภาพฝันเลยว่า เรียนจบก่อน ทำงานก่อน แต่งงานก่อนแล้วค่อยมีลูก มันหนักหนาสาหัสเกินไป ก็ไม่ควรเอาอันนั้นมาเป็นความคาดหวังของตัวเอง
ในส่วนข้อกังวลต่อมาคือ พ่อแม่วัยรุ่นหลายคน ตลอดจนคนที่ใกล้ชิดทั้งหมดไม่รู้ว่า ขณะนี้รัฐบาลจัดบริการให้พวกเขาสามารถขอรับบริการทั้งทางด้านสุขภาพและสังคม การเรียน การฝึกอาชีพ ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์วัยรุ่น พ.ศ.2559 ได้แล้ว ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่ควรช่วยเหลือให้พ่อแม่วัยรุ่นสามารถประคองชีวิตไปได้ในขณะที่ยังไม่มีความพร้อม
"คนที่มีลูกและตั้งใจและสามารถที่จะเลี้ยงดูลูกต่อได้ อย่าไปมองว่ามันจะต้องเป็นคู่เสมอไป ผู้หญิงอาจจะเลี้ยงลูกคนเดียวก็ได้ ผู้ชายอาจะเลี้ยงลูกคนเดียวก็ได้ ถ้าผู้หญิงไม่เอาหรือทั้งคู่ช่วยกันเลี้ยงก็ได้หรือให้พ่อแม่พี่น้อง ญาติๆ ช่วยเลี้ยงก็ได้ ถ้าจะเลี้ยง แต่ถ้าตัดสินใจว่า ดูแล้ว รอบตัว ไม่สามารถจะเลี้ยงได้ ไม่ว่าเหตุใด ๆ ก็ตาม แล้วต้องการที่จะยุติ การไปต่อตรงนั้น มันก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้"
หรือถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเกิดกรณีท้องไม่พร้อมขึ้นมา เราต้องดูว่า เราจะสามารถท้องจนคลอดได้ไหม หรือว่าท้องจนคลอดแล้วยกให้ผู้อื่นเลี้ยงว่าเราจะไม่ท้องต่อ เป็นทางเลือกที่หลากหลายที่จะสามารถเลือกได้ ทุกวันนี้สามารถเลือกได้
ท้องไม่พร้อม ไม่ใช่วันสิ้นโลก
"วินาทีแรกที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งไม่พร้อม ต้องเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องของการท้องไม่พร้อม ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ จะอายุน้อยกว่า 20 ปีเป็นวัยรุ่น หรืออายุ 30 ปีหรือ 40 ปีไปแล้วก็ตาม ถ้าเกิดท้องไม่พร้อมขึ้นมา มันเหมือนกับโลกแตกสลายไปต่อหน้าเลย ใช่ แต่วินาทีต่อจากนั้นไป ขอให้รู้ว่าประเทศไทย ณ ปัจุบัน มีบริการทางด้านสุขภาพและสังคมที่พร้อมที่จะช่วยคุณตัดสินใจ และหลังจากตัดสินใจก็ยังมีบริการที่จะสามารถเลือกให้มันเหมาะกับสถานการณ์ของชีวิตได้" ผศ.ดร.กนกวรรณกล่าว
นอกจากครอบครัวและคนรอบข้างจะมีส่วนสำคัญในการให้กำลังใจและช่วยเหลือให้พ่อแม่วัยใสสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ในสังคมแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าการได้รับกำลังใจจากคนอื่น
ผศ.ดร.กนกวรรณระบุว่า ตัวผู้หญิงที่ท้องก็ต้องรู้ก่อนว่า ต้องการหรือไม่ต้องการซึ่งต้องใช้เวลาในการถามตัวเองว่าพร้อมไหมที่จะเลี้ยงลูกต่อไป
ถ้าไม่พร้อมจะให้ใครช่วยเลี้ยงหรือถ้าไม่มีใครจริงๆ จะเอายังไงกับการตั้งครรภ์ไม่พร้อมครั้งนี้ แล้วค่อยไปหาหมอตรวจซึ่งภายใน 3 เดือนแรกของท้องหรือแม้กระทั่ง 6 เดือนแรกก็สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้
แต่หากตั้งครรภ์ในเดือนที่ 7-9 ก็ยังสามารถเอาลูกไปฝากไว้กับคนอื่นเลี้ยงได้ แล้วค่อยกลับมาเลี้ยงเมื่อพร้อมก็สามารถกลับมารับไปเลี้ยงดูต่อไป
ดังนั้นถามว่าความช่วยเหลือของคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครูบาอาจารย์หรือเพื่อนฝูงสำคัญไหม ไม่สำคัญมาก แต่สำคัญที่สุดคือตัวผู้หญิงที่ท้องเองว่ามีความเชื่อมั่นว่าจะเอายังไงกับการท้องครั้งนี้
ท้องไม่พร้อมไม่ใช่ตราบาป
การท้องไม่พร้อมถือเป็นตราบาปไหม ผศ.ดร.กนกวรรณบอกว่า มันเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากได้ ความไม่พร้อมมีทุกกรณี เช่น ไม่พร้อมที่จะเรียนหนังสือ ไม่พร้อมที่จะท้อง ไม่พร้อมที่จะทำงาน ความไม่พร้อมทุกกรณีเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากได้ ไม่มีใครอยากจะไม่พร้อม ทุกคนอยากจะพร้อมมากกว่า
การท้องไม่พร้อมสำหรับบางคนคือความพลาดและสามารถแก้ไขได้
และหากขณะนี้กำลังท้องไม่พร้อมอยู่ ผศ.ดร.กนกวรรณแนะนำว่า ควรคิดว่าตกลงจะท้องต่อหรือยุติการตั้งครรภ์ เอาง่ายๆ เลยนะ หลังจากนั้นเราควรป้องกันไม่ให้เกิดการท้องไม่พร้อมซ้ำอีกการท้องไม่พร้อม ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยในชีวิตของเรา
"ทุกวันนี้เราสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ โดยไม่ต้องท้อง เพราะมีวิธีการป้องไม่ให้ท้องได้ตั้งเยอะแยะให้เลือกใช้สักวิธีหนึ่ง คือมีแฟนได้ มีอะไรกันได้ แต่ไม่จำเป็นต้องท้อง แต่ถ้าท้องขึ้นมาแล้ว ให้ถามตัวเองว่า เอาไว้หรือไม่เอาไว้และที่สำคัญที่สุดหลังจากการท้องไม่พร้อมครั้งหนึ่งมันผ่านไปได้แล้ว อยากให้มันเกิดครั้งที่ 2 ที่ 3 ขึ้นต้องป้องกันถ้ามีเพศสัมพันธ์" ผศ.ดร.กนกวรรณกล่าวทิ้งท้าย