น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ.2560 ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้วเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2561 ที่่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงการคลัง และ ธปท.ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ในการกำหนดประเภทและการกำกับดูแลผู้ให้บริการระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินภายใต้ พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่ผ่านมา
กฎหมายฉบับนี้เป็นการบูรณาการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระบบการชำระเงินในอดีตมาไว้ในฉบับเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการลดภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายหลายฉบับ เกิดความคล่องตัว สะดวก และเอื้อต่อการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้พัฒนาบริการการชำระเงิน โดยมีการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับขนาดและความเสี่ยงของธุรกิจ รวมถึงยกระดับการกำกับดูแลระบบการชำระเงินให้มีความมั่นคงปลอดภัย มีเสถียรภาพ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ ประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลดังกล่าวครอบคลุมระบบและบริการการชำระเงิน 3 ประเภท ได้แก่ 1) ระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญ 2) ระบบการชำระเงินภายใต้การกำกับ และ 3) บริการการชำระเงินภายใต้การกำกับ
"จากนี้ไปภายใน 120 วัน ผู้ให้บริการรายเดิมจะต้องมายื่นขออนุญาต หรือขึ้นทะเบียนไว้แล้วแต่กรณี ซึ่งภายในระหว่าง 120 วันนี้ เมื่อมายื่นเอกสารแล้ว ก็ยังสามารถให้บริการต่อไปได้ จนกว่า ธปท.จะมีหนังสือแจ้งกลับไป ส่วนผู้ให้บริการรายใหม่ นับจากวันนี้ต้องมายื่นขออนุญาต หรือขอขึ้นทะเบียนตามที่ได้ประกาศไว้" น.ส.สิริธิดา กล่าว
นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ออกประกาศ ธปท. ภายใต้ พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน พ.ศ.2560 อีกทั้งสิ้น 14 ฉบับ ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ 1) ประกาศหลักเกณฑ์ระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลผู้ให้บริการระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ และสมาชิกของระบบ เพื่อให้มีการดำเนินการตามมาตรฐานสากล รวมทั้งมีมาตรการจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการคุ้มครองผลสิ้นสุดของการชำระเงิน เพื่อป้องกันความเสี่ยงกรณีที่สมาชิกของระบบถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย และอาจมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ในระบบการชำระเงิน และระบบการเงินโดยรวม
2) ประกาศหลักเกณฑ์กำกับดูแลระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงิน เพื่อให้ระบบการชำระเงินและบริการการชำระเงินมีความมั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ให้บริการอย่างต่อเนื่อง และมีการคุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะและความเสี่ยงของแต่ละประเภทธุรกิจ
โดยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ ได้แก่ ด้านคุณสมบัติผู้ประกอบธุรกิจ เช่น การกำหนดประเภทนิติบุคคล และคุณสมบัติกรรมการ ผู้มีอำนาจจัดการ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ พ.ร.บ.กำหนด, ฐานะการเงินมั่นคง โดยผู้ประกอบการต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่าตามที่กำหนดสำหรับธุรกิจแต่ละประเภท เช่น e-Money 100 ล้านบาท, ธุรกิจรับชำระเงิน แบ่งเป็น Acquiring 50 ล้านบาท, Payment Facilitating 10 ล้านบาท, รับชำระเงินแทน 10 ล้านบาท, ธุรกิจโอนเงิน 10 ล้านบาท และผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงเพียงพอที่จะให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง
"ทุนจดทะเบียนชำระแล้วขั้นต่ำของธุรกิจ e-Money ในกฎหมายใหม่นี้ ได้มีการปรับลดลงมาเหลือเพียง 100 ล้านบาท จากเดิม 200 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เกิดผู้ให้บริการรายเล็กๆ เข้ามาในระบบเพิ่มเติม โดยไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะรายใหญ่ที่ปัจจุบันมีอยู่ 20 กว่ารายเท่านั้น รวมถึงทำให้เกิดการแข่งขัน และช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการ e-Money ได้มากขึ้น" น.ส.สิริธิดา กล่าว
3) มีการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การเปิดเผยข้อมูลเงื่อนไขบริการแก่ผู้ใช้บริการ การรักษาข้อมูลส่วนบุคคล และคุ้มครองเงินรับล่วงหน้าจากผู้ใช้บริการ
4) ด้านธรรมาภิบาล ได้แก่ การกำหนดให้กรรมการหรือผู้มีอำนาจจัดการ มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลให้มีนโยบายและการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ มีการควบคุมภายในที่เหมาะสม
5)การจัดการความเสี่ยงและความปลอดภัย ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีแผนการบริหารความเสี่ยงต่อเนื่องทางธุรกิจ และแผนฉุกเฉินที่เป็นปัจจุบันและมีการทดสอบอยู่เสมอ ตลอดจนมีการตรวจสอบด้านสารสนเทศเป็นประจำทุกปี
"ที่ผ่านมา เราเห็นการเติบโตของสังคมไร้เงินสดมากขึ้น เช่น พร้อมเพย์ก็มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกๆ เดือน และแต่ละเดือนก็มีการทำสถิติสูงสุดใหม่ๆ ตลอด ซึ่งเป็นการมุ่งสู่สังคมไร้เงินสดกันมากขึ้น โดยจะเห็นว่าจำนวนเงินที่โอนผ่านพร้อมเพย์แต่ละครั้งเริ่มน้อยลง มียอดต่ำกว่า 3,000 บาทต่อรายการ สะท้อนการโอนเงินเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันกันอย่างแท้จริงมากขึ้น" น.ส.สิริธิดา กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลของ ธปท. นับตั้งแต่เริ่มใช้พร้อมเพย์ถึงปัจจุบัน (27 ม.ค.2560 - 6 เม.ย.2561) มียอดการลงทะเบียนแล้ว 40 ล้านบัญชี แบ่งเป็น การลงทะเบียนโดยผูกบัญชีกับเลขบัตรประชาชน 27 ล้านบัญชี และลงทะเบียนโดยผูกกับหมายเลขโทรศัพท์มือถือ 13 ล้านบัญชี มีปริมาณการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์สะสม 173 ล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าราว 7 แสนล้านบาท
ย้ำติดตามตรวจสอบบริการ 'ทรู มันนี่' ประจำ ยันไม่พบอะไรที่น่าเป็นห่วง
นอกจากนี้ น.ส.สิริธิดา ยังกล่าวถึงกรณีข้อมูลลูกค้าของทรูมูฟ เอชเกิดการรั่วไหลว่า ทาง ธปท.ได้มีกระบวนการติดตามและตรวจสอบเป็นประจำทุกปีกับทรูมันนี่ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-money รายหนึ่ง และมีการให้บริการ e-wallet (กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์) เป็นหนึ่งในบริษัทลูกของทรูเช่นเดียวกับทรูมูฟ และที่ผ่านมายังไม่พบว่าจะมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดความเสียหายหรือเกิดความรั่วไหลในข้อมูลของลูกค้าแต่อย่างใด
"เราได้มีการติดตามทุกปี มีการพูดคุยกับผู้ให้บริการทรูมันนี่ ซึ่งไม่พบว่าจะต้องมีข้อห่วงใยใดๆ" น.ส.สิริธิดา กล่าว
Photo by rawpixel.com / Jonas Leupe on Unsplash
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :