ไม่พบผลการค้นหา
ระยะทาง 3 กิโลเมตร จากแยกไทรม้า บนถนนรัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี ทีมงาน ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ใช้เวลาประมาณ 6 นาทีเดินทางลัดเลาะผ่านย่านชุมชน และสวนทุเรียนยกร่อง จนมาหยุดอยู่บริเวณทางเข้าสวนชีววิถี (Growing Diversity Park) แนวพื้นที่สีเขียวใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งกำลังรอทุกคนเข้ามาหาความรู้ด้านการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้บริโภค

บนพื้นที่ 2.5 ไร่ ของ ‘สวนชีววิถี’ โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมคอนกรีตเปลืิอยแบบเปิดโล่งสีเอิร์ธโทน ผลงานของ ‘บุญฤทธิ์ ขอดิลกรัตน์’ จากบริษัทแปลน แอสโซซิเอทส์ ซึ่งตั้งใจออกแบบอาคาร 2 หลัง ให้น้อมเข้าหาธรรมชาติ รอรับแสงแดด สายลม และวันฝนโปรยอยู่อย่างอบอุ่น ขณะเดียวกันยังสะท้อนเนื้อหาการทำงานหลักของมูลนิธิชีววิถี และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงทางอาหาร

บริเวณทางเข้าสวนออกแบบเป็นทางลาด เพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านเข้าออกได้อย่างเท่าเทียม และพร้อมต้อนรับทุกคนด้วยคาเฟ่ ‘กินเปลี่ยนโลก’ ลักษณะเป็นเหมือนกลาสเฮ้าส์ขนาดพอเหมาะ ทว่านอกจากจะเสิร์ฟกาแฟ และน้ำผลไม้ปลอดสารเคมีหลากหลายชนิดแล้ว ยังละลานตาด้วยผลิตภัณฑ์จำพวก น้ำผึ้ง น้ำปลา น้ำตาล ซอสพริกศรีราชา และถั่วเหลืองจากชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ไว้ให้ชอปติดมือกลับบ้านอีกด้วย

สวนชีววิถี 4.1.jpgสวนชีววิถี 6.1.jpgสวนชีววิถี.1.jpg

4 วันหลังจากทำพิธีเปิดสวนอย่างเป็นทางการเรานัดพบกับ ‘กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา’ และเธอบอกเล่าความเป็นมาให้ฟังว่า ‘สวนชีววิถี’ เป็นโปรเจกต์ที่คิดมานานกว่า 10 ปี ก่อนมูลนิธิชีววิถี และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน จะตัดสินใจซื้อที่ดินร่วมกันเมื่อปี 2554 และก่อร่างสร้างตัวหลังน้ำท่วมจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อกลางปี 2561

สำหรับวัตถุประสงค์หลักๆ ของสวนเน้นการจัดการความรู้ การเรียกคืนความรู้ และนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติการ เพราะทั้ง 2 มูลนิธิเชื่อมั่นตรงกันว่า การเรียนรู้ที่ดีสุดคือ การลงมือทำ และการเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารคือ การปลูก การปรุง และการกินจริงๆ

“ชีวิตของคนเมืองใหญ่อยู่ค่อนข้างห่างไกลจากเส้นทาง หรือต้นทางของอาหาร อาหารการกินที่เอาใส่ปาก ใส่ท้อง เข้าไปวันละเกิน 3 มื้อ เริ่มไม่รู้แล้วว่าปรุงมาจากอะไร หรือทำอย่างไร คือความรู้ค่อนข้างหายไปเร็วมากช่วง 10 ปี ดังนั้น พอได้โอกาสซื้อที่ดินแปลงเล็กๆ เลยคิดว่า ควรจัดแสดงเรื่องราวอาหารการกิน การปลูก การปรุง และความหลากหลายของพันธุ์พืช โดยเน้นเป็นกิจกรรมแบบครบวงจร และทุกคนสามารถทำร่วมกันได้” กิ่งกรกล่าว

สวนชีววิถี 8.1.jpgสวนชีววิถี 12.1.jpgสวนชีววิถี 11.1.jpg

หากเดินตามชมนกชมไม้ไล่เข้ามาเรื่อยๆ จะพบว่า รอบสวนปลูกพืชผักหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งไม้ยืนต้น ผักสามัญประจำบ้าน ผลไม้ และผักสลัด ซึ่งส่วนใหญ่สามารถเก็บกินได้แบบสดๆ โดยทางสวนทำการติดป้ายบอกชื่อพันธุ์นั้นๆ เพื่อคลายความสงสัยให้กับทุกคน

ส่วนกลางสวนขุดเป็นบ่อน้ำทรงสี่เหลี่ยมเลี้ยงปลากินพืช เช่น ปลาตะเพียน ซึ่งความสนุกอยู่ตรงการเด็ดดึงผักบุ้งที่ขึ้นรอบๆ บ่อ แล้วนำไปให้เป็นอาหารปลา

“ถือเป็นไฮไลต์เลยนะ ลองถอนผักบุ้ง ถอนหญ้า แล้วหย่อนลงไปในบ่อสิ ปลาชอบมาก (ลากเสียง) ชอบแบบดูดติดๆๆๆ จนหลายคนสงสัยกันว่า ปลาอดอยากมาจากไหน โยนอะไรไปก็กินหมด” เธอเล่าพร้อมรอยยิ้ม

บริเวณข้างๆ บ่อน้ำเลี้ยงเป็ดแบบปล่อยให้เดินเล่นตามธรรมชาติ บางช่วงพวกมันก็ส่งเสียงร้องคลอเคล้าสายลมอ่อนๆ ทำให้รู้สึกเหมือนมาพักผ่อนหย่อนใจในชนบท

เดินลึกเข้าไปอีกหน่อยเป็นการเลี้ยงไก่บาร์พลีมัทร็อก (Barred Plymouth Rock) แบบเก็บไข่ไว้กิน และอีกไม่นานเกินรอทางสวนจะเดินหน้าทำโครงการ ‘ไข่ยิ้ม’ เพื่อเปิดให้คนเมืองเข้ามาสมัครร่วมจ่ายปีละ 2,000 บาท และได้โควต้าหิ้วไข่ไก่กลับบ้าน 210 ฟอง/ปี โดยทางสวนจะคอยเลี้ยงไก่ให้อารมณ์อยู่เสมอ

สวนชีววิถี 9.1.jpgสวนชีววิถี 5.1.jpgสวนชีววิถี 13.1.jpg

ท่ามกลางความเขียวชอุ่มของพืชผักสามัญประจำบ้านนานาพันธุ์ สวนสื่อสารกับผู้มาเยือนเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืนแบบครบวงจร ทั้งเรื่องเมล็ดพันธุ์ การจัดการขยะ การแยกขยะ และการจัดการเศษอาหาร เพื่อนำมาทำเป็นปุ๋ยหมักไว้ใช้

“กระบวนการหมักปุ๋ยเราทำการทดลองการหมักแบบต่างๆ ตามประเภทของขยะอินทรีวัตถุ เช่น ใบไม้ เปลือกผลไม้ ฯลฯ เพื่อค้นหาวิธีการหมักที่ดีสุด สำหรับปริมาณขยะภายในครัวเรือน คือเราเรียนรู้ไปด้วย ปฏิบัติการไปด้วย และแบ่งปันความรู้ไปด้วย” กิ่งกรอธิบาย

โซนหน้าห้องครัวใหญ่แสดงวิธีการปลูกผักสามัญประจำบ้าน เช่น พริก กะเพรา ยี่หร่า ตะไคร้ สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง ฯลฯ ซึ่งเป็นผักในครัวเรือนแบบไทยๆ ส่วนผลไม้อยู่ตามแนวด้านหลังอาคาร และตัวอย่างการปลูกไม้กระถางเก็บยอด เก็บดอกกินตามฤดูกาล 

“เราพยายามปลูกต้นไม้ให้หลากหลาย พร้อมกับนำเสนอไอเดียการปลูกพืชบนพื้นที่จำกัด ทุกคนที่เข้ามาสามารถหยิบยืมไอเดียกลับไปใช้ หรือลองมาหาไอเดียใหม่ๆ มาทำความรู้จักกับต้นไม้สายพันธุ์แปลกๆ มาดื่มกาแฟนั่งชิลล์ๆหรือพาเด็กๆ มาวิ่งเล่น นอนเปลรับลมเย็นๆ ยังได้” 

สวนชีววิถี 10.1.jpgสวนชีววิถี 1.1.jpgสวนชีววิถี 2.1.jpg

อีกหนึ่งไฮไลต์น่าสนใจคือ ‘เรือนพันธุกรรม’ ที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้าน หรือพืชพันธุ์แท้ มาให้เรียนรู้เรื่องความหลากหลายของพันธุกรรม เนื่องจากความหลากหลายถือเป็นฐานการดำเนินชีวิตที่สำคัญของมนุษย์ 

“เราอยากเน้นเรื่องการกินอยู่อย่างหลากหลาย ถ้าเรากินหลากหลาย การผลิตก็จะเกิดความหลากหลาย พันธุกรรมธรรมชาติก็ยังคงความหลากหลายไว้ได้ ถ้าเรากินอย่างยั่งยืนมันสามารถรักษาความหลากหลาย และความหลากหลายนั้นแหละเป็นฐานการสำคัญของมนุษย์ 

“ส่วนเรียนรู้เรื่องพันธุกรรมอาจจะให้เด็กๆ เข้ามานับถั่วเดี๋ยวให้รางวัล ก็มีถั่วกว่า 20 ชนิดให้ดูเป็นตัวอย่าง ข้าวหลาย 10 ชนิด น้ำเต้า บวบ เพื่อแสดงให้ได้เห็นว่า พันธุ์พื้นบ้าน หรือพันธุ์แท้ดั้งเดิมของเรายังมีเหลืออีกมากมาย และสามารถเอาไปปลูกได้”

สวนชีววิถี 7.1.jpg

ไม่ใช่แค่นั้น ทางสวนยังจัดเวิร์กชอปเป็นระยะๆ ตั้งแต่การบำรุงดิน การปลูก การปรุง การกินอาหาร และชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับฤดูกาลของพืชผัก ซึ่งสามารถติดตามกิจกรรมกันได้ทางเพจเฟซบุ๊กสวนชีววิถี

“ถ้าจะกินให้ตรงฤดูกาลต้องรู้ด้วยว่า ฤดูกาลของผักประกอบด้วยอะไรบ้าง ผักหน้าฝน ผักหน้าแล้ง ผักหน้าหนาว ผลไม้ต่างๆ หรือถ้าน้ำมะนาวแพงจะเอาความเปรี้ยวมาจากไหนได้บ้าง พวกเราก็จะคุยกันเรื่องแบบนี้ หรืออนาคตอาจจะจัดทริปขี่จักรยานเข้าไปตามร่องสวน เพื่อไปชมสวนของชาวสวนแถบนี้” 

‘สวนชีววิถี’ ตั้งอยู่ที่ 3/12 ซอยบางอ้อ 2 ถนนไทรม้า 22 หมู่ 6 ตำบลไทรม้า อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 เปิดให้เยี่ยมชมทุกวันอังคาร - วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 9:30 - 17:00 น.