เมื่อวานนี้ (15 มกราคม) นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เผยผลหารือกับนายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่องการเลือกพื้นที่เขตทหารใน จ.สกลนคร เพื่อที่จะดำเนินโครงการนำร่องเพื่อปลูกกัญชาประมาณ 5,000 ไร่ หลังจากกระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยนายประพัฒน์ระบุว่ายาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือ 5 ประกอบด้วย กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น ทุกส่วนของพืชกัญชา ทุกส่วนของพืชกระท่อม และพืชเห็ดขี้ควาย
จากกรณีดังกล่าว ทำให้นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. จัดแถลงข่าวชี้แจงในวันนี้ (16 มกราคม) โดยระบุว่า กฎกระทรวงดังกล่าวเป็นกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ว่าด้วยการอนุญาตปลูกเฮมพ์ (Hemp) หมายถึง 'กัญชง' ซึ่งเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา เพื่อรับรองการพัฒนาการปลูกในเชิงอุตสาหกรรมและสนับสนุนให้เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ
ส่วนกรณีของกัญชา สธ.อนุญาตให้มีการครอบครองพืชกัญชาเพื่อใช้ในโครงการศึกษาวิจัยที่จะพัฒนาสารสกัดจากพืชกัญชาไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์เท่านั้น ยังไม่เคยอนุญาตให้ปลูกในพื้นที่ไร่ตามที่เป็นข่าว แต่ก็ยอมรับว่า อย.ตระหนักถึงประโยชน์ของพืชกัญชาและสารสกัดจากพืชกัญชาในการนำมาใช้ในการบำบัดรักษาทางการแพทย์ และไม่ได้ปิดกั้นความก้าวหน้าทางวิชาการ จึงเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาวิจัยในคนได้ และสามารถนำกัญชาและสารสกัดจากพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรมได้ รวมถึงการแพทย์แผนไทยและแผนไทยประยุกต์
อย่างไรก็ตาม ร่างประมวลกฏหมายยาเสพติดที่เกี่ยวกับกัญชายังอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้ เฮมพ์หรือกัญชง มีลักษณะทางกายภาพคล้ายกับกัญชา แต่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง ขณะที่กัญชาจะมีสาร THC สูงกว่า และ อย.ยืนยันว่าการปลูกจะต้องขออนุญาตตามกฎกระทรวงฯ โดยผู้อนุญาต คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ขณะที่การอนุญาตให้ปลูกหรือแปรสภาพ ต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่ 1. ใช้ในครัวเรือน 2. อุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ 3. ศึกษาวิจัย และ 4. ผลิตเมล็ดพันธุ์รับรองสำหรับจำหน่าย
ข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ อย.ระบุว่า กัญชงเป็นพืชที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในหลายประเทศ โดยเฉพาะส่วนของเส้นใยจากลำต้นและเมล็ด ซึ่งนิยมนำไปทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม กระดาษ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และชิ้นส่วนอุปกรณ์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงมีบางกลุ่มที่ต้องการให้แก้ไขกฎหมายให้สามารถผลิตและจำหน่ายกัญชงได้อย่างเสรีเพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรม แต่ก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานในภาครัฐยังต้องการให้ควบคุม เพราะเกรงว่าลักษณะภายนอกที่คล้ายกันระหว่างกัญชงและกัญชาอาจทำให้มีผู้ลอบปลูกกัญชาโดยอ้างว่าเป็นกัญชงได้ และอาจส่งผลต่อปัญหายาเสพติดในประเทศไทย
อ่านเพิ่มเติม: