ไม่พบผลการค้นหา
ปรากฏการณ์เพลง ‘ประเทศกูมี’ กลุ่ม Rap Against Dictatorship เป็นสิ่งที่สะกิดใจ คสช. ไม่น้อย แม้เนื้อเพลงจะไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่รัฐบาล-คสช.เท่านั้น แต่ก็มีการพาดพิงถึงบุคคลในรัฐบาล หนึ่งในนั้น คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ในเรื่องนาฬิกาหรูยืมเพื่อน รวมถึงคสช.ที่ 4 ปีแล้วยังไม่เลือกตั้ง กล่าวถึงรัฐสภาที่มีแต่ทหาร และรัฐประหาร

แต่เนื้อหาเพลงไม่เท่าฉากหลังที่เป็นเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เป็นหุ่นศพที่ถูกฟาดด้วยเก้าอี้ แต่มีผู้คนยินดีรอบข้าง จึงทำให้เพลงนี้เป็นที่สนใจ แต่งานศิลป์ย่อมมีคนชอบและไม่ชอบ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หลากหลายและยิ่งทำให้ยอดการชมและแชร์มากขึ้น จนล่าสุดอยู่ที่ 25 ล้านวิว

แต่ไม่เท่าการออกมาของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ที่มีท่าทีจะตรวจสอบการจัดทำเพลงดังกล่าว ว่าขัดคำสั่งคสช.หรือไม่ และจะเชิญกลุ่มศิลปินและทีมที่จัดทำมาสอบสวน โดยให้กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมและเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบเนื้อหา พร้อมย้ำว่ายังไม่มีถอย ทาง ปอท. กำลังตรวจสอบ แต่ขั้นตอนการสืบสวนนั้น ไม่จำเป็นต้องเรียกตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับคลิปดังกล่าวมาสอบสวน

ส่วนการแชร์ กดไลค์ ร้องเพลงนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ระบุว่า ไม่ผิดกฎหมาย แม้ว่าจะทำให้ยอดวิวเพิ่มขึ้นก็ไม่ได้ส่งผลกับคดีอาญา หลังมีข่าวออกมาว่าการแชร์ กดไลค์ หรือร้องเพลงจะมีความผิดได้ สิ่งเหล่านี้ยิ่งไปกระตุ้นให้คนอยากรู้มากขึ้นด้วย อีกทั้งการออกมาให้สัมภาษณ์ของตำรวจในการจะตรวจสอบหรือดำเนินการทางกฎหมายก็ยิ่งเพิ่มเชื้อเข้าไปอีก

“อย่าสนใจเรื่องไร้สาระ ผมไม่ทำอะไรเขาหรอก ผมไม่สนใจ ไม่ได้ฟัง อย่าไปฟัง ถ้าสังคมยอมรับได้ก็ว่าไป สังคมต้องรับเอาเองว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป คอยดูนะ ต่างประเทศเขาเปิดอิสระ เสรี แล้วลูกหลานท่านจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ไม่รู้นะ ลูกหลานท่านมีปัญหาใช้คำพูดหยาบคาย ท่านก็รับผิดชอบกันเอาเอง ผมทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ ใช้กฎหมายก็มีปัญหา แต่เขาก็อยากให้ใช้กฎหมาย ปัญหาจะตามมาทีหลัง อย่าไปสนับสนุนคนเหล่านี้ ผมไม่ทำอะไรทั้งนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุ

ประเทศกูมี

ซึ่งไม่นานก็มีเพจกองหนุน คสช. พากันออกมาโต้กลับและแต่งเพลงสู้ เช่น ประเทศเรามี หรือ ประเทศกูมีในมุมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ย้อนกลับเพลงประเทศกูมีที่สะท้อนแต่ปัญหาออกมา จนกลายเป็นข้อถกเถียงถึง ‘ความคลั่งชาติ-ชังชาติ’ เกิดขึ้น

แต่เพจกองหนุนคสช.ที่ทำเพลงโต้กลับได้รวดเร็ว คือ เพจเปรี้ยง ที่ถูกจับตามานานว่าเป็นเพจของบุคคลในรัฐบาลจัดทำขึ้น เพราะเพจนี้ในช่วงแรกจะนำเสนอข่าวและภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ในมุมที่เอ็กซ์คูลซีฟและสื่อเข้าไม่ถึง ก็ได้แต่งเพลงชื่อ “ประเทศกูมี ที่บางเพลงแม่งลืมแร็ป” ขึ้นมา โดยเป็นการพูดถึงการเมืองในอดีต ในธีมประเทศกูมีเผด็จการรัฐสภา และกลุ่มคนเสื้อแดง รวมถึงคดีจำนำข้าว และการพูดถึง 2 อดีตนายกฯ ‘ทักษิณ – ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ อย่างชัดเจน

ทว่าปรากฏการณ์เพลงประเทศกูมี มีเรตติ้งดีอีกส่วนมากจาก ‘พลังคนกลางๆ’ ในสังคม ที่ไม่ได้เลือกฝั่งการเมืองชัดและไม่ได้สนใจการเมืองเข้มข้น ก็ต่างพูดถึงและแชร์เพลงนี้ อีกทั้งมีการถกเถียงถึงฉากหลังมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้คนไปค้นประวัติ 6 ต.ค.2519 มากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเป็น ‘ประวัติศาสตร์บาดแผลการเมือง’ ด้วย

ซึ่งเพลงดังกล่าวได้มีการแพร่มาช่วงต้นเดือน ต.ค. 2561 ก่อนจะมีเอ็มวีออกมา 22 ต.ค. 2561 โดยตั้งใจปล่อยในเดือน ต.ค. เพราะเป็นเดือนที่มีความสำคัญทางการเมือง 2 วัน คือ 6 ต.ค. 2519 และ 14 ต.ค. 2516

ศรีวราห์

ขณะเดียวกัน กลุ่มศิลปิน RAD บางคนก็มีผลงานเพลงแร็ปที่ร้องถึงสภาพสังคม การเมือง มาก่อนหน้านี้ เช่น ‘ฮอคกี้ Hockhacker' เป็นต้น หนึ่งในเพลงที่แต่ง คือ เพลง ‘อุดมการณ์’ เพื่อให้กำลังใจ นศ.และนักกิจกรรม ที่ถูกจับกุม จากการจัดงานรำลึกครบ 1 ปีรัฐประหาร คสช. เมื่อ 22 พ.ค. 2558 ด้วย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายความมั่นคงเอง ระบุว่า แม้ยังไม่ดำเนินการกับศิลปินและทีมงานทางกฎหมายในเวลานี้ แต่ก็ได้ทำการตรวจสอบที่มาและที่ไปของเพลง

โดยเฉพาะกับ ‘เปีย’ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอเพลง ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ อีกทั้งเคยเป็นผู้กำกับสารคดีเล่าถึงเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ให้กับเครือข่ายนักวิชาการด้วย ในชื่อ “สองพี่น้อง The Two Brothers” ซึ่งจุดนี้เองก็สะท้อนว่า ‘ธีระวัฒน์’ มีความสนใจเรื่องวันที่ 6 ต.ค. 2519 เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อีกสิ่งที่ถูกให้ความสนใจ คือ โปรดักชั่นที่ออกมาดีแบบนี้และมีการใช้คนจำนวนมากในการผลิตขึ้นมา จะต้องมีการใช้ทุนใดหรือไม่

ฝ่ายความมั่นคงมองว่า มีการแชร์และปั่นกระแสในเพจต้าน คสช.อย่างเป็นระบบและปลุกกระแสต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามกระแสของสำนักข่าวต่างประเทศ ที่ให้ความสนใจกับปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่น้อย โดยมองว่าเป็นการท้าทายอำนาจทหารที่ชัดเจน และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วของยอดชมเพลง รวมถึงมีการประเมินว่าจะยังไม่มีการจับกุมหรือดำเนินคดี เพราะใกล้ช่วงเลือกตั้งแล้ว ก็จะส่งผลต่อภาพของ คสช. เอง


ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีท่าที ‘หงุดหงิด’ กับเพลงดังกล่าวไม่น้อย หลังลงพื้นที่ คสช.สัญจร ที่ จ.พะเยา และ จ.เชียงราย เพราะกล่าวตลอดการลงพื้นที่ถึงการใช้โซเชียลฯอยู่ตลอดในการลงพื้นที่แต่ละจุด ถึงขั้นย้ำว่า “ด่าผมได้ แต่อย่าด่าประเทศ”

ประยุทธ์ 1030043841.jpg

“เปิดดูสิจากเพลงอะไรก็ไม่รู้ อย่าไปสนใจ ผมไม่สนใจ สนใจมันทำไม สนใจก็ยิ่งไปกันใหญ่ ก็คิดแล้วกันว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ใช้วิจารณญาณว่าอย่างไร ฟังแล้วว่าอย่างไร ฟังแล้วมันใช่หรือไม่ใช่ มันลำบากขนาดนั้นเชียวหรือ เผด็จการมากขนาดนั้นเชียวหรือ ถ้าเผด็จการผมไม่ต้องมาแบบนี้หรอก พูดจนเมื่อยอยู่แล้ว ใช่ไหม ถ้าเผด็จการนั่งสั่งอย่างเดียว หาผลประโยชน์เท่านั้น แต่ผมไม่เคยคิดอย่างนั้น และนี่ผมคิดว่าผมทำมากกว่าด้วยซ้ำไป อย่าให้ใครเขามาบิดเบือน ฉะนั้น หากเราปล่อยให้มีเรื่องอย่างนี้และนิยมชมชอบว่าเป็นสิทธิเสรีภาพโดยที่ไร้ขีดจำกัด วันหน้ามันจะเดือดร้อนกับท่าน ครอบครัวท่าน ลูกหลานท่านจะว่าอย่างไร ถ้าสังคมเป็นแบบนี้ผมว่าเราอยู่กันไม่ได้หรอก อย่าเป็นเครื่องไม้เครื่องมือคนอื่น” นายกฯ กล่าว

“ผมไม่ได้ว่าที่เขามาว่าผม แต่ถ้าเขาว่าประเทศ ผมว่ามันไม่เหมาะสม ผมคิดว่าคนเราควรจะมีวิจารณญาณที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเขียนเพลงหรือจะอะไรยังไง กับใครก็ตาม ท่านต้องอย่าไปให้ร้ายประเทศตัวเอง ดังนั้นจะมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย มันไม่ใช่ เพราะความหมายท่านต้องการอะไรก็รู้กันอยู่ ก็ถือเป็นเรื่องของสังคมถ้ารับเรื่องแบบนี้ได้” นายกฯ กล่าว

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ก็เลี่ยงการตอบคำถามเรื่องเพลงแร็ปนี้ ใช้วิธีการนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว แม้ในเพลงจะมีการกล่าวพาดพิงถึงเรื่องนาฬิกาหรู โดยบอกเพียงว่าไม่รู้จะฟังไปทำไม

ประวิตร

พร้อมกันนี้ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานอนุกรรมประชาสัมพันธ์การสร้างความปรองดองฯ ของรัฐบาล ตั้งข้อสังเกตเจตนาของผู้จัดทำเพลงทำไมถึงหยิบยกเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ที่มีภาพการนำเก้าอี้ฟาดศพ มาเป็นฉากหลัง ที่สื่อให้คนดูถึงความสะใจและรุนแรง จึงขอให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรสิทธิฯ เข้ามาตรวจสอบว่า สะท้อนความรุนแรงในสังคมหรือมีกลุ่มใดต้องการปลุกกระแสเพื่อนำไปขยายความต่อหรือไม่ พร้อมขอให้พิจารณาการใช้ประโยชน์จากเพลงนี้ ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาล -คสช. พยายามลดความขัดแย้งในสังคมลงเพื่อสร้างความสามัคคีจึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกัน

ล่าสุด Liberate P หนึ่งในสมาชิกศิลปินวง RAP AGAINST DICTATORSHIP ปฏิเสธการขึ้นเวทีคอนเสิร์ต Future Fest ที่จัดโดยพรรคอนาคตใหม่ ช่วง 3-4 พ.ย.นี้ เพราะเกรงว่าจะถูกเชื่อมโยงระหว่างพรรคหลังได้ออกเพลงประเทศกูมีออกมาด้วย

โดยมีรายงานว่า ช่วงที่พรรคอนาคตใหม่ได้เชิญมาร่วมงานนั้น คือ ช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มศิลปิน RAD ยังไม่เป็นที่โด่งดัง และไม่รู้ว่าจะมีการปล่อยเพลงประเทศกูมีออกมาจนดังขนาดนี้ แต่ว่ากันว่าให้จับตางานนี้ด้วยว่าจะมีใครไปร่วมงานบ้าง

ทั้งหมดนี้จึงเป็นปรากฏการเคลื่อนไหวในรอบสัปดาห์กับวาทะ “ประเทศกูมี” ซึ่งต้องจับตาว่าจะซ้ำรอยกับเหตุการณ์ในอดีตหรือไม่ ที่ก็เป็นเพียง ‘กระแส’ ที่ผ่านเข้ามาแล้วคนก็ลืม ซึ่งต้องดูกันต่อว่าจะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับทีมจัดทำ - กลุ่มศิลปินหลังจากนี้หรือไม่

ยังไม่ชัดว่า คสช. แค่ ‘ถอย’ หรือ ‘ตั้งหลัก’ กันแน่ !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog