ไม่พบผลการค้นหา
เทียบฟอร์มรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับรัฐบาลประยุทธ์ ตามผลประเมินขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติ พบว่า ทั้งสองได้คะแนนภาพลักษณ์คอรัปชั่นพอๆ กัน ที่ระดับประมาณ 35 จากคะแนนเต็ม 100 ฟาก ป.ป.ช แจงยิบแหล่งที่มาเพิ่ม 2 คะแนน

ในวันพุธที่ 21 ก.พ. องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเบอร์ลิน เปิดผลประเมินรัฐบาลทั่วโลกตามดัชนีภาพลักษณ์คอรัปชั่น หรือซีพีไอ (Corruption Perception Index-CPI) ปรากฏว่า ประเทศไทยได้อันดับรองบ๊วยในหมู่ประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน 6 ประเทศ (มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย, บรูไน และ สิงคโปร์)

นอกจากนี้ ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลทหารทำคะแนนได้ไม่แตกต่างจากประเทศไทยภายใต้รัฐบาลพลเรือน สมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีค่าคะแนนอยู่ในช่วง 35-38 จากคะแนนเต็ม 100 (คะแนน 0 หมายถึง ไม่มีความโปร่งใสใดๆ เลย คะแนน 100 หมายถึง มีความโปร่งใสโดยสมบูรณ์) 

ตามผลการจัดอันดับประจำปี 2560 โดยใช้คะแนนความโปร่งใสเป็นเกณฑ์ ปรากฏว่า ในกลุ่ม 5 ประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียนนั้น สิงคโปร์มาเป็นอันดับหนึ่ง (คะแนน 84/100) ตามด้วยมาเลเซีย (47/100) อินโดนีเซีย (37/100) และไทย (37/100) โดยมีฟิลิปปินส์รั้งอันดับท้ายสุดในกลุ่ม (34/100)

ขณะที่ คะแนนภาพลักษณ์คอรัปชั่นของไทยในปี 2560 ไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากเมื่อปี 2559 ส่วนในแง่อันดับนั้น ไทยได้อันดับที่ 96 จากทั้งหมด 183 ประเทศ โดยเมื่อปี 2559 ไทยได้อันดับที่ 101 จากทั้งหมด 176 ประเทศ

หากเทียบเคียงผลคะแนนในช่วงเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2557-2560) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับผลคะแนนในช่วงเวลาเท่ากันของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า ค่าคะแนนมีระดับขึ้น ๆ ลง ๆ เพียงเล็กน้อย 

CPI_02.jpgCPI_04.jpg

Source: TI


ปี 2560 การจัดอันดับดัชนีการรับรู้การทุจริตไทยขยับเป็น 96

นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า เมื่อคืนวันที่ 21 ก.พ. ที่่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ TI (Transparency International) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2560 พบว่า 2 ใน 3 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน โดยประเทศที่ได้อันดับความโปร่งใสสูงสุด คือ นิวซีแลนด์ 89 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน 

ส่วนประเทศไทย ได้ 37 คะแนน ดีกว่าปีก่อนหน้า 2 คะแนน และอันดับขยับขึ้นจาก 101 มาเป็น 96 จาก 180 ประเทศ 

สำหรับการให้คะแนน CPI ปี 2560 องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) ให้คะแนนและจัดอันดับประเทศไทย โดยพิจารณาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่งข้อมูล ซึ่งไทยได้คะแนนเท่าเดิม 2 แหล่ง คะแนนเพิ่มขึ้น 3 แหล่ง คะแนนลดลง 3 แหล่ง และอีก 1 แหล่งไม่ปรากฏคะแนน 

โดย 2 แหล่งข้อมูลที่ประเทศไทยได้คะแนนเท่ากับปีก่อนหน้า ได้แก่ เรื่อง International Country Risk Guide (ICRG) : Political Risk services หรือ ความเสี่ยงทางการเมืองจากการวัดคะแนนโดย ICRG ที่ให้ 32 คะแนน และ Economist Intelligence Unit (EIU) : Country Risk Rating หรือ ความเสี่ยงประเทศ โดยการวัดของ EIU ให้ 37 คะแนน

ทั้งนี้ ICRG เป็นองค์กรแสวงหากำไร ให้บริการวิเคราะห์วิจัยและจัดอันดับสภาวะความเสี่ยงระดับประเทศ ประเมินความเสี่ยงด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเงิน ซึ่งองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ใช้ข้อมูลรายงานความเสี่ยงด้านการเมือง มาประกอบการพิจารณาให้ค่าคะแนน เนื่องจากการคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงด้านการเมือง ซึ่ง ICRG มุ่งประเมินการคอร์รัปชันในระบบการเมือง โดยเฉพาะรูปแบบทุจริต ที่นักธุรกิจมีประสบการณ์ตรงและพบมากที่สุด นั่นคือการเรียกรับสินบน การเรียกรับเงินเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก การประเมินภาษี รวมถึงระบบอุปถัมภ์ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางธุรกิจกับการเมือง 

อย่างไรก็ดี ICRG มีการประเมินและเผยแพร่ผลประมาณเดือน ส.ค. ของทุกปี และ​คะแนนที่เท่าเดิม น่าจะเป็นผลมาจาก ICRG เน้นความเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลและฝ่ายบริหารต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ซึ่งประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องนี้เหมือนปีที่ผ่านมา

ส่วนการให้คะแนน โดย EIU เป็นการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความเสี่ยงที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญ ได้แก่ ความโปร่งใสในการจัดสรรและการใช้จ่ายงบประมาณ การใช้ทรัพยากรของราชการ/ส่วนรวม การแต่งตั้งข้าราชการจากรัฐบาลโดยตรง มีหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบการจัดการงบประมาณของหน่วยงานนั้นๆ มีหน่วยงานอิสระ ขณะที่ด้านยุติธรรมตรวจสอบผู้บริหาร/ผู้ใช้อำนาจ ธรรมเนียมการให้สินบน เพื่อให้ได้สัญญาสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ 

ทั้งนี้ EIU มีการสำรวจเก็บข้อมูลประมาณเดือน ก.ย. ของทุกปี ส่วนที่คะแนนจากแหล่งนี้เท่าเดิม ป.ป.ช. ประเมินว่า น่าจะเป็นผลมาจากว่าถึงแม้ไทยจะได้รับการจัดอันดับการเปิดเผยงบประมาณภาครัฐดีขึ้น แต่ด้านการใช้จ่ายงบประมาณยังปรากฎเกี่ยวกับปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณไม่ถูกต้องอยู่เป็นระยะ

WEF-WJP-GI 3 แหล่งเพิ่มคะแนนไทย

ส่วนแหล่งข้อมูลที่ไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน มี 3 แหล่งข้อมูล ได้แก่ World Economic Forum (WEF) : Executive Opinion Servey วัดผลสำรวจความเห็นของผู้บริหาร โดยที่ประชุมเศรษฐกิจโลกได้ 42 คะแนน (เพิ่มขึ้น 5 คะแนน) แหล่งที่สอง คือ World Justice Project (WJP) : Rule of Law Index วัดดัชนีนิติธรรม ได้ 40 คะแนน (เพิ่มขึ้น 3 คะแนน) และ Global Insight Country Risk Rating (GI) วัดความเสี่ยงประเทศจากมุมมองนานาชาติ ได้ 35 คะแนน (เพิ่มขึ้น 13 คะแนน) 

ทั้งนี้การวัดความเห็นผู้บริหาร โดย WEF ซึ่งประเทศไทยได้รับ 42 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5 คะแนน มาจากการสำรวจมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสูงสุดในการทำธุรกิจ 5 ด้าน คือ 1.การคอร์รัปชัน 2.ความไม่มั่นคงของรัฐบาล/ปฏิวัติ 3.ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย 4.ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ 5.โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอว่าแต่ละปัจจัยเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้น เท่าเดิมหรือลดลง 

ทั้งนี้ WEF จะสำรวจข้อมูลประมาณเดือน ม.ค.-มิ.ย. ของทุกปี ส่วนคะแนนที่เพิ่มขึ้น น่าจะเป็นผลมาจากสหภาพยุโรป (อียู) มีความสนใจฟื้นความสัมพันธ์กับไทย เนื่องจากเห็นว่า ไทยมีทิศทางปรับตัวในทางที่ดีขึ้นหลายด้าน นักลงทุนต่างชาติมีทัศนคติดีขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวกับการนำเข้าส่งออก สาธารณูปโภค การชำระภาษี การทำสัญญาและการออกใบอนุญาต มีการลดขั้นตอนลง การเรียกรับเงินพิเศษจากผู้มาติดต่อขอรับบริการที่มีจำนวนลดลง ส่งผลให้ WEF จัดอันดับ ขีดความสามารถในการแข่งขันไทยได้คะแนน 4.72 (จากเดิม 4.64) ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 32 (จากเดิมที่ 34) 

นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารเกี่ยวกับ 'ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคหรือปัญหามากที่สุดต่อการทำธุรกิจ' ปี 2560 ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 10.1% เห็นว่าปัญหาคอรัปชันเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจลดลงจากปี 2559 ที่11.3% 

ขณะที่ การวัดหลักนิติธรรม โดย WJP ประเมินค่าความโปร่งใสโดยใช้หลักนิติรัฐ ซึ่งมีหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ 1.รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและถูกตรวจสอบได้ 2.กฎหมายต้องเปิดเผย ชัดเจน มั่นคง ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน 3.กระบวนการทางกฎหมายมีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ 4.การตัดสินคดีต้องมีความเป็นธรรม มีจริยธรรม มีความเป็นกลาง ทั้งนี้ WJP มีการเก็บข้อมูลประมาณเดือน พ.ค. - ก.ย. ของทุกปี ส่วนการที่ได้คะแนนสูงขึ้น น่าจะเป็นผลมาจากการประกาศจุดยืนของนายกรัฐมนตรีในการปราบปรามการทุจริต การเปิดทำการของของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอย่างเป็นทางการ และประสิทธิภาพของการบังคับใช้พระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม เพื่อให้เข้าถึงความยุติธรรมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

ส่วนแหล่งที่ 3 ที่ให้คะแนนเพิ่มขึ้น คือ GI ประเมินปัจจัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่ต้องเกี่ยวกับคอร์รัปชัน การแทรกแซงของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินธุรกิจ การให้สินบนและสิ่งตอบแทนสำหรับพิจารณาสัญญาและขอใบอนุญาต โดย​คะแนนที่เพิ่มขึ้น เลขาธิการ ป.ป.ช. ชี้ว่า น่าจะเป็นผลมาจากมุมมองและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อการแก้ไขปัญหาการทุจริตของรัฐดีขึ้น 

ขณะที่ สถานการณ์ภายในประเทศเอื้ออำนวยต่อการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนและบริษัทข้ามชาติด้วยหลายแนวทาง ได้แก่ การออกคู่มือมาตรการควบคุมภายในของนิติบุคคล ตามมาตรา 123/8 การออกมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล เป็นต้น

3 แหล่งลดคะแนน ปมกระบวนการสร้างประชาธิปไตย-การแข่งขัน-ความหลากหลาย

สำหรับแหล่งข้อมูลที่ประเทศไทยได้คะแนนลดลงจากปีก่อน มี 3 แหล่งได้แก่ Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF) ได้ 37 คะแนน (ลดลง 3 คะแนน) แหล่งที่ 2 คือ International Institute Management Development (IMD) : World Competitiveness Yearbook หรือ ความสามารถในการแข่งขันโดยสถาบันนานาชาติด้านการพัฒนาการจัดการ ได้ 43 คะแนน (ลดลง 1 คะแนน) และ Varieties of Democracy Project (V-DEM) หรือโครงการประชาธิปไตยและความหลากหลาย ได้ 23 คะแนน (ลดลง 1 คะแนน)

สำหรับการให้คะแนนของโดย BF-BTI ใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยและระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และดูความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ การเมือง เศรษฐกิจ และ การจัดการของรัฐบาล ทั้งนี้ BF-BTI จะมีการเผยแพร่ผลทุก 2 ปี และข้อมูลที่เผยแพร่ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2558 -31 ม.ค. 2560 โดย​คะแนนที่ลดลง น่าจะเป็นผลมาจาก BF-BTI วิเคราะห์กระบวนการทางการเมืองเป็นหลัก 


"แม้ว่ารัฐบาลสร้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย จัดระเบียบสังคม ทวงคืนทรัพยากรธรรมชาติได้ผลดี แต่ขณะเดียวกันเรื่องการตรวจสอบกรณีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในรัฐบาล การเปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินคดี การจำกัดสิทธิสื่อมวลชน การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ยังเป็นจุดอ่อน"

ส่วนการวัดโดย IMD เป็นการนำข้อมูลสถิติทุติยภูมิและผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ไปประมวลผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ คือ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ IMD จะสำรวจข้อมูลประมาณเดือนม.ค. - เม.ย. ของทุกปี สำหรับคะแนนที่ลดลง น่าจะเป็นผลมาจากการแก้กฎหมายหลายฉบับ แต่การบังคับใช้ยังขาดประสิทธิภาพ เช่น พระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาของทางราชการ เป็นต้น

สุดท้าย การให้คะแนนของ V-DEM วัดในเรื่องที่เกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งในปี 2559 มีการวัดในอาเซียนเพียง 5 ประเทศ แต่ในปี 2560 มีการวัดในอาเซียน 10 ประเทศ สำหรับคะแนนที่ลดลง น่าจะเป็นผลมาจากสถานการณ์ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีจุดอ่อนด้านการถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

 สำหรับแหล่งข้อมูล Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ซึ่งเป็นการสำรวจนักธุรกิจในท้องถิ่นและนักธุรกิจชาวต่างชาติในแต่ละประเทศ เพื่อให้คะแนนเกี่ยวกับระดับปัญหาการทุจริตในประเทศที่เข้าไปทำงานหรือประกอบธุรกิจว่าลดลง เพิ่มขึ้น หรือเท่าเดิมนั้น ไม่ปรากฏข้อมูลว่า TI ให้คะแนนไทยจากแหล่งนี้เท่าใด 

"การดำเนินการเพื่อเพิ่มค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตและการลดปัญหาการทุจริต จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องรวมพลังกันสร้างสังคมที่ไม่ทนกับการทุจริต สร้างค่านิยมสุจริตขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกัน" นายวรวิทย์ กล่าว   


ที่มา: Transparency International