ไม่พบผลการค้นหา
นักกฎหมายและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ ไว้อาลัย 'เดวิด บัคเคิล' ทนายความสิทธิมนุษยชนชื่อดังที่เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเขาจุดไฟเผาตัวตายต่อต้านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ต้นตอที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนและมลพิษทางอากาศ

เดวิด บัคเคิล ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักงานกฎหมายแลมบ์ดา และทนายความสิทธิมนุษยชนชื่อดังของสหรัฐฯ จุดไฟเผาตัวเองจนตายที่สวนสาธารณะพรอสเปกต์ในย่านบรู๊กลิน นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (14 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐฯ พร้อมทิ้งจดหมายชี้แจงเหตุผลว่า ต้องการให้ความตายครั้งนี้เป็นสัญญาณเตือนให้คนหันมา 'ปกป้องโลก' อย่างจริงจัง

เว็บไซต์นิวยอร์กเดลี่นิวส์รายงานว่าการฆ่าตัวตายของบัคเคิลเป็นการวางแผนอย่างดี เพราะเขาได้ทิ้งจดหมายสั้นที่เขียนด้วยลายมือไว้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฉบับหนึ่ง โดยระบุว่าเขาเป็นใครและมีวัตถุประสงค์อย่างไร พร้อมขอโทษเจ้าหน้าที่สำหรับความเสียหายที่เขาเป็นผู้ก่อขึ้นในระหว่างจุดไฟเผาตัวตายประท้วงครั้งนี้ ส่วนจดหมายอีกฉบับหนึ่งซึ่งเป็นตัวพิมพ์ได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม พร้อมแนบนามบัตรติดต่อสำนักงานกฎหมายที่เขามีส่วนเกี่ยวข้อง

"ตายเพื่อปลุกผู้คนให้ตื่น ถือว่าเป็นเกียรติ"

ผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งเปิดเผยกับนิวยอร์กเดลี่นิวส์ว่าคนที่ผ่านไปมาบริเวณจุดเกิดเหตุไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น และบางคนคิดว่าเป็นการเผาหุ่นจำลอง โดยรามิน พัฟลอวิช วัย 43 ปี ผู้อาศัยในย่านบรู๊กลิน เชื่อว่าการฆ่าตัวตายของบัคเคิลเป็นความมุ่งมั่นที่จะแสดงจุดยืนอย่างแรงกล้า เพราะจุดที่เกิดเหตุเป็นสนามกว้างเปิดโล่ง ไม่ไกลจากทางเข้าสวนสาธารณะ

นอกจากนี้ สำเนาจดหมายลาตายฉบับพิมพ์ซึ่งชี้แจงเหตุผลอย่างละเอียดถูกส่งไปยังกองบรรณาธิการของนิวยอร์กเดลี่นิวส์ก่อนที่บัคเคิลจะลงมือจุดไฟเผาตัวเอง โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่า การเผาตัวตายประท้วงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะความตายเท่านั้นที่จะสามารถแสดงเจตจำนงให้ผู้อื่นเข้าใจได้อย่างชัดเจนที่สุด พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณีพระทิเบตจุดไฟเผาตัวตายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อประท้วงการยึดครองทิเบตของรัฐบาลจีน

David Buckel.jpg

(บัคเคิลเคยดูแลคดีของ 'แบรนดอน ทีนา' ชายข้ามเพศที่เป็นแรงบันดาลของภาพยนตร์ Boys Don't Cry)

บัคเคิลระบุในจดหมายด้วยว่า การตายครั้งนี้ถือเป็นเกียรติ ถ้าหากว่ามันจะช่วยส่งสัญญาณให้ผู้คนตื่นขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อหยุดยั้งความล่มสลายของโลกใบนี้ และการที่เขาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจุดไฟเผาตัวเองก็เป็นสัญลักษณ์ว่าผู้คนในสังคมกำลังปล่อยให้โลกถูกผลาญทำลายด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลต่างๆ จนอาจจะสายเกินไป

แวดวงนักกฎหมาย-นักอนุรักษ์ฯ ร่วมไว้อาลัย

สำนักงานกฎหมายแลมบ์ดาออกแถลงการณ์แสดงความอาลัยต่อการจากไปของบัคเคิล พร้อมระบุว่าเหตุการณ์นี้ถือเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับสังคมอเมริกัน เพราะบัคเคิลเป็นผู้มีจิตใจดีงามและมุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากนี้เขายังเป็นทนายความผู้ทุ่มเท และเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวให้เกิดการคุ้มครองสิทธิผู้หลากหลายทางเพศ

บัคเคิลเป็นผู้รับผิดชอบคดีของ 'แบรนดอน ทีนา' ชายข้ามเพศชาวอเมริกันซึ่งถูกข่มขืนและฆ่าเมื่อปี 2536 และเขาได้ยื่นเรื่องดำเนินคดีแก่นายอำเภอในรัฐเนบราสกา ซึ่งบกพร่องต่อหน้าที่ สั่งปล่อยตัวผู้ก่อเหตุคุกคามทีนาจากการคุมขัง นำไปสู่การก่อเหตุข่มขืนและฆ่าทีนาในเวลาต่อมา

คดีดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กับบัคเคิล เพราะเป็นคดีที่ถูกนำเค้าโครงไปสร้างภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง Boys Don't Cry นำแสดงโดยฮิลลารี สแวงค์ ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในปี 2542

นอกเหนือจากบทบาทด้านกฎหมาย บัคเคิลยังเป็นอาสาสมัครผู้ประสานงานของโครงการบำบัดฟื้นฟูขยะชีวภาพของศูนย์พฤกษศาสตร์บรู๊กลินและสำนักงานเขตนครนิวยอร์ก ก่อนที่จะตัดสินใจฆ่าตัวตายประท้วง และมีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากร่วมโพสต์ข้อความไว้อาลัยบัคเคิลอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่าการฆ่าตัวตายของเขาไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: