พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง หรือ แอคเมคส์ ซัมมิท ครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ “การก้าวสู่ประชาคมแม่โขงที่เชื่อมโยงกัน" ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ
โดยก่อนพิธีเปิดการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีได้ต้อนรับและสัมผัสมือทักทายผู้นำประเทศสมาชิก แอคเมคส์ทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ อู วิน มยิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และร่วมกันรับชมสารแสดงความยินดีต่อการจัดประชุมแอคเมคส์ที่ส่งมาจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีได้ถ่ายภาพร่วมกันและจับมือแบบไขว้มือแสดงความเชื่อมโยงกัน และร่วมชมนิทรรศการก่อนเริ่มการประชุมแอคเมคส์ระดับผู้นำประเทศอย่างเป็นทางการ
นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งแอคเมคส์มา 15 ปี อนุภูมิภาคนี้ได้มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโต ร้อยละ 6-8 ต่อปี และเป็นสะพานเชื่อมต่อเศรษฐกิจและตลาดระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย แต่ขณะเดียวกันแอคเมคส์ก็กำลังเผชิญความท้าทายในด้านเทคโนโลยียุคดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมถึงปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น ประเทศไทยจึงพยายามผลักดันให้มีการปฏิรูปแอคเมคส์ โดยการจัดทำแผนแม่บทเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานใน 5 ปีข้างหน้า แต่การทำตามแผนแม่บทอาจมีความยาก หากแหล่งลงทุนไม่มีความชัดเจน ไทยขอเสนอให้มีการจัดหาแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืน โดยสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนแอคเมคส์พร้อมสนับสนุนทุนก่อตั้งจำนวนหนึ่ง และขอเชิญชวนประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนารวมถึงประเทศและองค์กรที่มีศักยภาพทั่วโลกร่วมสมทบทุนในกองทุนแอคเมคส์
ขณะที่รัฐบาลไทยก็ได้ทำงานตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และโครงการประชารัฐที่สนับสนุนแผนแม่บทแอคเมคส์ โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยบนพื้นฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะโครงการอีอีซี ที่เน้นโครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งและสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยมีภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกัน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน โดยไทยพร้อมเปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวเดินหน้าร่วมกันและให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมจากประโยชน์ที่จะเกิดจากแอคเมคส์ โดยรัฐบาลไทยได้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SEZ 10 แห่ง ตามบริเวณแนวชายแดน ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่าเหมาะสมสำหรับสร้างเป็นฐานการผลิตที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกแอคเมคส์ ซึ่งมีศักยภาพที่จะรองรับแรงงานต่างด้าวได้เป็นจำนวนมาก และสามารถอำนวยความสะดวกในการจ้างงานแรงงานต่างด้าวได้โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและวัตถุดิบที่ต้องนำข้ามแดนจากประเทศสมาชิกแอคเมคส์
นอกจากนี้ ในการประชุมในครั้งนี้ ผู้นำแอคเมคส์จะรับรองเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญากรุงเทพ ซึ่งจะสะท้อนเจตนารมย์ของประเทศสมาชิกที่จะมุ่งมั่นและบรรลุความตั้งใจให้แอคเมคส์เป็นความร่วมมือที่ยั่งยืนและเอื้อประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม และแผนแม่บทแอคเมคส์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2562 – 2566) ซึ่งเน้นความเชื่อมโยง 3 เสาหลัก หรือ “3S” ได้แก่ 1.การเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค เน้นการพัฒนาโครงสร้างคมนาคมให้เชื่อมถึงกัน 2.การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ เชื่อมโยงการค้าการลงทุนร่วมกัน และ 3.การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเป็นแนวทางในการหารือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนาคต
ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานสภาธุรกิจ ACMECS ประเทศไทย เปิดเผยว่า ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือระหว่าง 5 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม ซึ่งในกรอบความร่วมมือนี้จะมีการดำเนินกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องมากว่า 15 ปี ซึ่งในปีนี้ได้มีการจัดประชุม ACMECS SUMMIT ครั้งที่ 8 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในกรอบความร่วมมือ ACMECS มาโดยตลอดเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACMECS Business Forum 2018 ขึ้น
โดยในการประชุมดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนทั้ง 5 ประเทศ ACMECS มาร่วมกันหารือถึงความร่วมมือทางการค้าการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมทั้งนำเสนอปัญหาและอุปสรรคในการทำการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ และนำเสนอข้อเสนอต่าง ๆ ให้รัฐบาลทั้ง 5 ประเทศได้ทราบว่าภาคเอกชน ACMECS ต้องการพัฒนาสิ่งใดบ้าง เพื่อให้ ACMECS มีความน่าสนใจต่อการค้าและการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบร่วมกันถึง Business Recommendation ที่จะนำเสนอให้กับผู้นำทั้ง 5 ประเทศ ได้รับทราบและนำไปดำเนินการต่อได้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคนี้
สำหรับประเด็นสำคัญที่ได้นำเสนอต่อผู้นำทั้ง 5 ประเทศ ACMECS ในการทำข้อเสนอต่าง ๆ ต่อรัฐบาลทั้ง 5 ประเทศนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ คือ Concept ของนายกรัฐมนตรีของไทย “Stronger Together With No One Left Behind” ดังนั้น ข้อเสนอต่าง ๆ ของสภาธุรกิจ ACMECS จะเป็นการเสนอเพื่อพัฒนาให้ ACMECS มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน ลดช่องว่างระหว่างกัน และทำให้ทุก ๆ ประเทศสามารถเชื่อมโยงระหว่างกันได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งสรุปข้อเสนอของสภาธุรกิจ ACMECS ได้ 3 ด้านหลักๆ ดังนี้
1. Seamless Connectivity จะเห็นได้ว่าประเทศในกลุ่ม ACMECS ถูกเชื่อมโยงกันโดยทางถนนเป็นหลัก (landlink) ซึ่งประเทศในกลุ่มนี้จะต้องเกาะกลุ่มกันให้แน่นโดยใช้ศักยภาพเชิงพื้นที่ของ ACMECS เป็นศูนย์กลางทั้งการค้าและการลงทุน เพื่อเชื่อมโยงออกไปสู่ภูมิภาคอื่น ดังนั้นเพื่อจะให้เกิดภาพนั้นอย่างชัดเจน จะต้องปรับปรุงแก้ไข Missing Link ทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศระหว่างกันให้สำเร็จก่อน นอกเหนือไปจากการเชื่อมโยงทางคมนาคมขนส่งแล้วความเชื่อมโยงในเรื่อง Digital Infrastructure ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมากเช่นกัน เพื่อให้สอดรับกับโลกธุรกิจในยุคปัจจุบันและอนาคต
2. Synchronized ACMECS Economies ซึ่งข้อเสนอประเด็นต่าง ๆ ในหัวข้อนี้ เน้นถึงการ Unlock ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ และอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และการขนส่งระหว่างกันให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด
3. Smart และ Sustainable ACMECS ในประเด็นนี้ทางสภาธุรกิจต้องการเน้นที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสามารถและตอบรับกับอุตสาหกรรมในอนาคตได้ และในส่วนที่จะเป็นการทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนทั้งในธุรกิจการเกษตร การท่องเที่ยว และอื่น ๆ เราต้องพัฒนาหลายๆสิ่งร่วมกันเพื่อให้พัฒนาอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ข้อเสนอให้รัฐบาลทั้ง 5 ประเทศ ร่วมกันจัดทำ ACMECS Single Visa เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวให้มากที่สุดเพื่อผลในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้ง 5 ประเทศ ในการมาเพียงครั้งเดียวตาม Concept “Five Countries One Destination”
อย่างไรก็ตามในอนาคตของสภาธุรกิจ ACMECS จะทำ Dashboard ขึ้นมาฉบับนึงเพื่อเป็นเอกสารในการติดตามงานว่า ข้อเสนอต่างๆ ได้มีการดำเนินการไปถึงในขั้นตอนใดบ้าง เพื่อความสะดวกในการติดตามงานและจะได้เห็นภาพการพัฒนาที่อย่างต่อเนื่องที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และจะเร่งรัดพัฒนาเราเองให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งเพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนที่เข็มแข็งและรองรับโครงการที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ในโลกปัจจุบัน เช่น โครงการ Belt and Road, กรอบการเจรจา RCEP และ กรอบการเจรจา CCPIT ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ โดยการจัดประชุมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อหารือถึงการพัฒนาไปด้วยกัน
ขอบคุณภาพ : FB/ไทยคู่ฟ้า