ไม่พบผลการค้นหา
บก.จร. เริ่มใช้กล้องจับรถเปลี่ยนช่องทางเดินรถกะทันหัน 15 จุด ทั่วกรุงเทพฯ พบ "จอมปาด- เบียด-แซง" ส่งใบสั่งถึงบ้านภายใน 7 วัน

วันนี้ (9 พ.ค.61) เป็นวันแรกที่กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) จะดำเนินการใช้งานกล้องจับรถเปลี่ยนช่องทางกะทันหัน หรือ กล้องเลนเชนจ์ เพื่อตรวจจับรถฝ่าฝืนเปลี่ยนช่องทางเดินรถในเขตห้าม 15 จุด ที่ติดตั้งกล้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้แก่

1.สะพานข้ามแยกบางเขน ถ.งามวงศ์วาน ขาเข้า

2. สะพานข้ามแยกศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ ขาออก

3. ทางลอดแยกห้วยขวาง ถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า

4. สะพานข้ามแยกบรมราชชนนี ถนนบรมราชชนนี ขาออก

5. สะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน ถนนแจ้งวัฒนะ ขาเข้า

6. สะพานข้ามแยกราชเทวี ถนนเพชรบุรี ขาออก

7. แยกสามเหลี่ยมดินแดง ถนนดินแดง ขาเข้า

8. สะพานข้ามแยกประชานุกูล ถนนรัชดาภิเษก ขาออก

9. สะพานศิริราชด้านถนนอรุณอมรินทร์ ถนนอรุณอมรินทร์ ขาออก

10. แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถ.ลาดพร้าว ขาเข้า

11. แยกรัชดา-ลาดพร้าว ถนนลาดพร้าว ขาออก

12. สะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง ถนนรัชดาภิเษก ขาออก

13. สะพานข้ามแยกพระราม 4 ถนนรัชดาภิเษก ขาออก

14. สะพานพระพุทธยอดฟ้า ถนนประชาธิปก ขาเข้า

15. สะพานข้ามแยกกำนันแม้น ถ.กัลปพฤกษ์ ขาออก

ด้าน พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดอุบัติเหตุและปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมาก แม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรได้กวดขันวินัยจราจรแต่ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกรณีรถปาด เบียด หรือแซงบริเวณทางขึ้นสะพานข้ามแยกและอุโมงค์ลอดทางแยกทำให้เกิดอุบัติเหตุและปัญหาการจราจรติดขัด จึงได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับ ลดปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ โดยการติดตั้งระบบตรวจจับรถฝ่าฝืนเปลี่ยนช่องทางเดินรถในเขตห้าม

ทั้งนี้ แต่ละจุดจะมีป้ายแจ้งเตือน 3 ระยะ คือ ในระยะ 100 เมตร , 50 เมตร และ 30 เมตร ก่อนถึงจุดตรวจจับ โดยแต่ละจุด จะมีกล้อง 4 ตัว ทำงานอัตโนมัติ ตลอด 24 ชั่วโมง ตัวกล้องมีความละเอียดสูง 2 ล้านเมกะพิกเซลล์ ภาพคมชัดทั้งกลางวันกลางคืน และทุกสภาพอากาศ สามารถเก็บข้อมูลไว้ได้ไม่น้อยกว่า 1 ปี

เมื่อพบการกระทำผิด กล้องจะบันทึกข้อมูลทั้งภาพนิ่งและเคลื่อนไหว จากนั้นจะส่งข้อมูลมายัง ศูนย์ควบคุม บก.02 เพื่อตรวจสอบ ทะเบียนยี่ห้อ รุ่น สีรถ และชื่อผู้ครอบครองว่าตรงกับข้อมูลภาพหรือไม่ หากถูกต้องครบถ้วนจะดำเนินการออกใบสั่ง และส่งไปยังระบบ PTM (Police Ticket Management) ของธนาคารกรุงไทย เพื่อออกบาร์โค้ดกลับมา จากนั้นเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบเก็บเป็นหลักฐานในการออกใบสั่ง และส่งไปยังผู้ครอบครองรถภายใน 7 วัน

สำหรับความผิดข้อฝ่าฝืนเครื่องหมายบนพื้นที่ ตาม พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 21ประกอบ มาตรา 152 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ในเบื้องต้น บก.จร.จะปรับไม่เกิน 500 บาท โดยสามารถชำระค่าปรับได้ตามเคาน์เตอร์และตู้ ATM ของ ธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ หรือสถานที่ที่ระบุไว้ตามใบสั่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: