ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์เปิดเผยสถานการณ์เด็กติดเกมมีความรุนแรงขึ้น บางรายติดหนี้เกมออนไลน์สูงถึง 400,000 บาท ต้องหนีหนี้เรียนไม่จบ บางรายติดเกมนาน 84 เดือน และเด็กติดเกมอายุน้อยสุด 3 ขวบ ระบุเด็กมีพฤติกรรมรุนแรงก้าวร้าวมากขึ้น เลียนแบบเกมเสมือนจริง บางรายใช้มือถือตีหัวแม่แล้วบอกว่าแค่มือลั่น

พญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวถึงสถานการณ์เด็กติดเกมในงานเสวนา “E-Sport : เกม กีฬา ท้าทาย โรคดิจิทัล” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติว่า จากการติดตามอาการของเด็กติดเกมที่เข้ามารักษาที่สถาบันฯ พบว่า ปัจจุบันเด็กอายุน้อยที่สุดที่ได้รับผลกระทบจากอาการติดเกมคือเด็กอายุ 3 ขวบ โดยเป็นเกมแนวโมบา (MOBA) แต่พ่อแม่ไม่รู้ว่าคือเกมอะไร รู้แต่ว่าลูกของตัวเองนั่งติดอยู่หน้าจอเป็นเวลานานจนไม่สามารถออกจากหน้าจอได้

ทั้งนี้ เว็บไซต์ This IS Game Thailand อธิบายว่า เกมแนวโมบา (Multiplayer online battle arena) คือเกมที่เน้นทำลายฐานฝ่ายตรงข้าม หากฝ่ายไหนทำลายฐานฝ่ายตรงข้ามได้หมดก่อนก็ถือว่าเป็นฝ่ายชนะ

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าเป็นห่วงปี ซึ่งใน 2560 เป็นต้นมาพบว่า การแข่งขันวีดีโอเกมออนไลน์ตอนนี้อาจจะไม่ต้องนั่งเป็นทีมหรือเล่นเป็นทีมแล้ว แต่นั่งอยู่ที่ไหนก็ได้ หรือในห้องน้ำก็ได้ หลังจากนั้นเด็กก็เข้าไปล็อกอินออนไลน์ก็สามารถเล่นได้แล้ว ซึ่งตอนนี้พบปัญหาการเติมเงินซื้อไอเทมโดยวางเดิมพัน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กช่วงอายุก่อนจะเข้าเรียนในชั้นมัธยมโดยเริ่มเติมเงินแล้ว 40 บาท บางรายต้องเติมหรือต้องเสียเงินมากที่สุดถึง 100,000 บาท ในขณะที่อายุยังไม่อายุ 18 ปี และบางรายเป็นหนี้เกมออนไลน์มากถึง 400,000 บาทในขณะที่เรียนในระดับอุมศึกษาและสุดท้ายก็เรียนไม่จบเนื่องจากต้องหนีหนี้ ที่สำคัญพบว่าเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

พญ.ทิพาวรรณกล่าวอีกว่า วงจรชีวิตของเด็กคือ เล่มเกม หลังจากนั้นไปดูแคสติ้ง แล้วกลับมาแชทเพื่อสื่อสารกับคนข้างนอก แล้วไปเล่นโซเซียลมีเดีย แล้วกลับเล่นอีกเกม เราพบว่า เด็กๆ ที่ชอบเล่นเกมไม่ได้เล่นแค่เกมเดียวและไม่ได้มุ่งเพื่อที่จะไปเป็นนักแข่งเกมมืออาชีพ เขาจะเล่น 1 – 4 เกมใช้เวลาต่อวันโดยเฉลี่ยประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง

ในส่วนเด็กบางรายที่เล่นหนักจริงๆ พบว่า เล่นแล้วมีอาการถอนที่รุนแรง พอวางเกมลงก็มีอาการอาละวาด ก้าวร้าวรุนแรง บางรายเมาส์แตก คีย์บอร์ดพัง หรือบางทีเด็กจะต่อรองขอเล่นอีกนิดหนึ่ง แต่จริงๆ ก็ค้างอยู่หน้าจอทั้งคืน วันรุ่งขึ้นก็ไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะฉะนั้นผลกระทบที่เจอในตัวโรคที่เกิดจากโรคติดเกมจะมีทั้งสมาธิสั้นที่อาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หุนหันพลันแล่นได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีการกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนหยาบมากขึ้นซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์และการใช้วิจารณญาณ

วีดีโอเกม

ในขณะที่สมองส่วนคิดทำงานได้น้อยลงเพราะไม่ทันได้คิด หน้าจอเปลี่ยนไวมาก และต้องกดแข่งกับเวลา เพราะฉะนั้นสมองส่วนคิดทำงานได้น้อยมาก ซึ่งสมองส่วนนี้ส่งผลกระทบต่อการคิดรวบยอด คิดแบบมีเหตุมีผล การควบคุมตัวเอง สมาธิความจำ การจดจ่อการงานที่มีความซับซ้อนยุ่งยาก ซึ่งเด็กทำได้น้อยลง เพราะฉะนั้น เด็กส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 70 มักมีอาการสมาธิสั้นหรือคล้ายๆ โรคสมาธิสั้น และหากคนที่เป็นสมาธิสั้นอยู่แล้วและมีอาการติดเกมร่วมด้วยก็มักจะความรุนแรงไปในทางที่ก้าวร้าวมากขึ้น


“ได้มีการทำวิจัยปัญหาพฤติกรรมเสพติดในวัยรุ่นที่สถาบันฯ มีข้อสังเกตุว่าเกมบางเกมที่ต่อสู้ยิงกัน ตีกัน ทางออนไลน์ซึ่งมีโฆษณาด้วยว่าใคร ๆ ก็เล่นกันได้ เราพบว่า เด็กหญิงอายุ 10 ขวบ เล่นมือถือตลอดเวลา พอคุณแม่บอกให้เลิก เด็กก็เอามือถือตีหัวแม่แล้วบอกว่ามือลั่น หรือแม้แต่เด็กชาย 13 ขวบ คุณครูให้ไปพบจิตแพทย์เพราะเอาไม้ไปฟาดหัวเพื่อน” พญ.ทิพาวรรณกล่าว


นอกจากนี้ยังเจออาการซึมเศร้าและวิตกกังวล รวมทั้งโรคบางชนิดที่ไม่ค่อยจะเจอ อย่างเช่น เกมเข้าไปอยู่ในโลกของเสมือนจริง (Virtual Reality) ซึ่งพบว่าเด็กบางคนมีความผิดปกติทางจิต เด็กจะหลงผิด ในชีวิตประจำวันโดยที่เขาไม่รู้ตัว บางรายมีการเลียนแบบท่าทางยิงและมีลักษณะความคิดต่อสู้รุนแรงเหมือนในเกม บางกรณีมีความคิดที่จะไปทำร้ายคนอื่นเนื่องจากหมกหม่นอยู่ซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ กับเกม

“มีข้อสังเกตุอีกอย่างที่เราพูดคำว่าติดเกม อย่าพยายามแยกติดเกมออกจากคนที่เล่มเกมหรือคนที่เล่นเกมเยอะๆ เพราะว่าเราพบว่าอาการเริ่มต้นของการเสพติดระยะเวลาแค่ 1 เดือนก็เริ่มติดจนวางมันไม่ลง และกรณีที่ติดตามมาเราพบติดนานที่สุดคือ 84 เดือน หลายๆ สิ่งเราพบว่า เด็กไปโรงเรียนไม่ได้ เด็กไปลักขโมย ไม่ใช่ขโมยเงินพ่อแม่อย่างเดียว ขโมยสมาร์ทโฟนและขโมยอย่างอื่น” พญ.ทิพาวรรณกล่าวทิ้งท้าย

ขณะที่ นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพและจิตเวช ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตแนะนำว่า เนื่องจากเกมเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อความสนุกสนานและให้คนเล่นติด เพราะฉะนั้นหากผู้ปกครองไม่ต้องให้ลูกของตัวเองติดเกมจะต้องฝึกให้ลูกมีวินัยในการเล่นและต้องมีข้อตกลงร่วมกัน อย่างเช่น ต้องเล่นเกมที่มีเนื้อหาที่ดี ไม่ใช่เกมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเพศหรือความรุนแรง

นอกจากนี้ ควรจำกัดเวลาในการเล่นไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง และพ่อแม่ควรเล่นกับลูกด้วยเพราะจะได้รู้ว่า ลูกเล่นอะไรและจะได้มีโอกาสที่จะสอนหรือให้ข้อคิดกับเด็กด้วย และที่สำคัญพ่อแม่จะต้องไม่เป็นตัวอย่างในทางที่ผิดให้แก่ลูกของตัวเอง อย่างเช่นต้องไม่เล่นในเวลาครอบครัว เวลากินข้าว หรือเวลาเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ เป็นต้น

ขอบคุณภาพ : Photo by Glenn Carstens-Peters on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: