ไม่พบผลการค้นหา
นักดาราศาสตร์เจาะเวลาหาอดีตบิกแบง พบหลุมดำสุดมหึมา มีมวลเท่ากับดวงอาทิตย์ 800 ล้านดวง ก่อตัวในห้วงเวลาดวงดาวเริ่มฉายแสง จักรวาลเพิ่งมีอายุ 690 ล้านปี

คณะนักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกีค้นพบหลุมดำที่อยู่ไกลที่สุดและมีอายุมากที่สุด มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 800 ล้านเท่า อยู่ภายในวัตถุกึ่งดาวหรือควอซาร์ ห่างจากโลก 13,100 ล้านปีแสง

แสงของควอซาร์ที่เจอนี้ส่องสว่างภายหลังการระเบิดบิกแบงก่อกำเนิดเอกภพแค่ประมาณ 690 ล้านปี ดังนั้น แสงที่ตรวจจับได้จึงมาจากห้วงเวลาที่จักรวาลมีอายุแค่ร้อยละ 5 ของปัจจุบัน เวลานี้ จักรวาลมีอายุราว 13,800 ล้านปี

เอดูอาร์โด บานาดอส นักดาราศาสตร์หัวหน้าทีมวิจัย อธิบายในวารสาร Nature ว่า หากเทียบเคียงว่าจักรวาลเป็นคนอายุ 50 ปี เรากำลังมองคนคนนี้ตอนอายุสัก 2 ขวบครึ่ง ยิ่งเรามองไกลออกไป เรายิ่งเห็นภาพย้อนยุค เพราะแสงที่เราเห็นนั้นต้องใช้เวลาเดินทางกว่าจะมาถึงเรา

LA_02.JPG


ควอซาร์ที่เพิ่งพบนี้ มีชื่อตามแคตาล็อกว่า J1342+0928 ส่องสว่างในช่วงเวลาที่จักรวาลเพิ่งออกจากยุคมืดที่ปราศจากแสงเข้าสู่ยุคส่องสว่างเนื่องจากความโน้มถ่วงดึงดูดมวลสารให้ก่อตัวเป็นดาวฤกษ์ดวงแรกๆ รังสีจากดาวเหล่านั้นทำให้อะตอมของก๊าซไฮโดรเจนแตกตัวเป็นประจุ เปล่งแสงเจิดจ้า

การค้นพบหลุมดำที่มีมวลมหาศาลขนาดนี้ในช่วงเวลาแรกเริ่มของจักรวาล ทำให้ต้องทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อตัวและเติบโตของวัตถุดังกล่าว นั่นคือ ทำไมหลุมดำที่เกิดขึ้นในเวลาไม่นานหลังบิกแบงจึงใหญ่โตมโหฬารได้ขนาดนั้น

ควอซาร์ดวงนี้กลายเป็นแชมป์ใหม่ที่อยู่ไกลกว่าควอซาร์แชมป์เก่าราว 60 ล้านปี

หลุมดำภายในควอซาร์ดังกล่าว ศึกษาโดยใช้กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นในชิลี ฮาวาย และกล้องในอวกาศของนาซาชื่อ WISE (Wide-field Infrared Survey Explorer).

Image: Robin Dienel/Carnegie Institution for Science