เมื่อตอนที่ ‘ร็อคสตาร์’ ระดับเสกสรรค์ ศุขพิมาย หรือที่มักจะเรียกกันง่ายๆ ภายใต้รหัสประจำการ ‘เสก โลโซ’ ยิงปืนขึ้นฟ้าเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ที่เพิ่งผ่านมา เป็นจำนวน 9 นัด (และยิงลงพื้นเล่น แบบไม่ต้องการเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้นไปอีก 1 นัด จึงสิรินับรวมได้ 10 นัดถ้วน) นั้น คงจะทำให้คีย์บอร์ดในมือของใครต่อใครที่รักความยุติธรรม และความถูกต้อง สั่นไปตามๆ กันเลยนะครับ
แต่นอกเหนือจากเหตุผล (ซึ่งฟังแล้วไม่ค่อยน่านับว่าเป็นเหตุผล) ‘ใจสั่งมา’ ที่พี่เสกบ้วนออกมาแบบทำเอาอื้ออึงกันไปทั้งโลกออนไลน์สารพัดช่องทางแล้ว ก็ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งที่คนไม่ค่อยจะพูดถึงกันนัก ทั้งๆ ที่พี่เสกแกก็ให้การไว้ตั้งแต่แรกแล้วก็คือ พี่แกทำไปเพื่อ ‘บวงสรวงพระเจ้าตากสิน’ อยู่อีกด้วย
ใครหลายคนที่เห็นคลิป ‘เสก สิบนัด’ แล้ว ก็คงจะรู้ว่าพี่เสกแกไม่ใช่ก็อยู่ๆ จะยิงปืนขึ้นฟ้าเฉยๆ มันซะอย่างนั้น แต่พี่แกยิงหลังจากที่ได้จุดธูปไหว้บูชาพระพุทธรูปมาก่อน
แถมไอ้งานที่พี่เสกไปจุดธูปไหว้พระ แล้วประกาศศักดาจนได้สมญานามใหม่ว่า เสก สิบนัด ที่ว่านี่ ก็เป็น ‘งานฉลองสมโภช และครบรอบ 250 ปี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช’ ที่จัดขึ้นในบริเวณวัดเขาขุนพนม ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าพี่เสกจะอ้างว่า ทำไปเพราะใจสั่งมาให้ยิงปืนถวายพระเจ้าตากสินนั้น ก็ชวนให้ต้องคิดตามอยู่บ้าง เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ธรรมเนียมการ ‘ยิงสลุต’ (แบบที่พอจะอนุโลมได้ว่าพี่เสกทำนั้น) เพื่อเป็นเกียรติให้กับอะไรต่อมิอะไรต่างๆ รวมทั้งพระมหากษัตริย์อย่าง พระเจ้าตากสินนั้น ก็เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปตามวัฒนธรรมต่างๆ ของโลก
(แน่นอนด้วยว่า การที่อยู่ๆ จะมีใครสักคนยิงสลุตขึ้นไปบนฟ้า โดยไม่ได้นัดหมายกับทางผู้จัดงาน และเจ้าของสถานที่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว แถมผู้คนทั่วไปที่เข้ามาร่วมงานนั้น ก็ย่อมจะไม่รู้ล่วงหน้าด้วยแน่ ย่อมเป็นสิ่งที่อันตรายทุกชีวิตที่อยู่ในละแวกนั้น ดังนั้นสิ่งที่พี่เสกทำจึงเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างไม่ต้องสงสัย และนี่ยังไม่นับรวมไปถึงข้อกฎหมาย กับอีกสารพัดสิ่งที่ตามมา อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ประเด็นที่ข้อเขียนชิ้นนี้อยากจะกล่าวถึง มากเท่ากับข้ออ้างการยิงเพื่อบวงสรวงพระเจ้าตากสินของพี่เสก)
คำว่า ‘ยิงสลุต’ อย่างที่เราคุ้นๆ กันในภาษาไทยนั้น เป็นคำยืมมาจากภาษาอื่น ไม่ใช่คำไทยแท้ๆ เห็นได้ง่ายๆว่า ในภาษาอังกฤษเรียกลักษณะการอย่างนี้ว่า ‘salute’ (และในภาษาฝรั่งเศส ‘salut’) โดยมีรากมาจากภาษาละตินว่า ‘salutare’ ซึ่งมีความหมายถึง การต้อนรับ หรือการแสดงความคำนับ ให้เกียรติกับใครคนใดคนหนึ่ง (คำนี้ยังมีรากในภาษาเดียวมาจากคำว่า ‘salus’ หรือ ‘salut’ ที่หมายถึง สุขภาพที่ดี, ความสุข หรือการต้อนรับขับสู้)
ดังนั้น ต่อให้ไม่ต้องค้นคว้าให้มากความก็น่าจะเดาได้ไม่ยากว่า คำว่า ‘สลุต’ ก็มาจากเสียง ‘salute’ ของพวกฝรั่ง ที่ทำให้คนไทยรู้จักกับทั้งปืน และธรรมเนียมการยิงสลุตเพื่อเป็นเกียรติ หรือแสดงความคำนับนั่นเอง
แต่ในโลกก่อนที่จะรู้จักกับอะไรที่เรียกว่า ‘ปืน’ นั้น ก็มีการ ‘สลุต’ กันด้วยอาวุธ หรือเครื่องไม้เครื่องมือทำมาหากินกันแล้วนะครับ ไม่ใช่เพิ่งจะมามีธรรมเนียมอย่างนี้เอาเมื่อรู้จักการใช้ปืนเท่านั้น
ในยุโรปมีธรรมเนียมการคำนับโดยให้เกียรติอย่างสูง หรือแสดงความเคารพ ในทำนองเดียวกับการยิงสลุต มาอย่างน้อยตั้งแต่ยุคกลาง (หรือที่เคยถูกเรียกด้วยอคติว่า ยุคมืด โดยมีอายุอยู่ในช่วงราวศตวรรษที่ 5-15 หรือตรงกับราว พ.ศ. 1000-2000) อยู่หลายวิธีเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการยื่นปลายดาบชี้ลงต่ำไปที่เบื้องหน้า, ธรรมเนียมการแสดงอาวุธต่อผู้ที่ถูกคำนับ (แน่นอนว่าผมหมายถึงอาวุธที่พกติดตัว), ธรรมเนียมการลดใบเรือลงกึ่งหนึ่ง หรือครึ่งใบ รวมไปถึงการวางไม้พาย สำหรับพวกทหารเรือ และโจรสลัด (ซึ่งหลายครั้งมักจะเป็นคนเดียวกัน สำหรับโลกเมื่อครั้งกระโน้น) เป็นต้น
ที่สำคัญก็คือ ในช่วงศตวรรษที่ 14 (ราว พ.ศ. 1850-1950) คือช่วงปลายของยุคกลางนี้เอง ที่พวกยุโรปได้รู้จักกับ ‘ดินปืน’ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และก็แน่นอนด้วยว่า มีการยิงสลุตด้วย ‘ปืน’ ไม่ว่าจะเป็นปืนใหญ่ หรือปืนไฟ ในการแสดงเคารพ หรือคำนับเพื่อให้เกียรติอย่างสูงด้วย
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การยิงปืนสลุตแบบที่พี่เสกทำ มีที่มามาจากไหน?
และถึงว่าการใช้ปืนระดับพกติดตัวในการยิงสลุตนั้น จะมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 แล้วก็ตาม แต่กว่าจะเริ่มมีธรรมเนียมปฏิบัติเป็นมาตรฐานที่ชัดเจน ก็เพิ่งจะเป็นในช่วงราวศตวรรษที่ 17 (ตรงกับราว พ.ศ. 2150-2250) เท่านั้นเองนะครับ
ในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวยุโรปเริ่มขยายการค้าโลกข้ามสมุทรกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็ว่ากันว่า ธรรมเนียมการยิงสลุตด้วยปืนไฟ ก็แพร่กระจายไปตามเส้นทางการค้าโลกนี่เอง
โดยปกติแล้ว การยินสลุตด้วยปืนไฟ มักจะยิงเป็นชุด ชุดละ 21 นัด (พวกฝรั่งจึงมีสำนวนเรียกการยิงสลุตว่า ’21 guns’ หรือ ’21 guns salute’ นั่นเอง) ไม่ใช่นึกจะยิง 9 หรือ 10 นัด ก็ตามใจสั่งมาเหมือนพี่เสกของใครหลายๆ คน ส่วนทำไมต้องยิงชุดละ 21 นัดนั้น ก็มีที่มาที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ และจอดเรือเข้าฝั่งในสมัยดังกล่าวนั่นเอง
เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า แต่เดิมนั้นเรือของพวกอังกฤษจะบรรทุกปืนใหญ่อยู่ลำละ 7 กระบอก (ส่วนที่ว่าทำไมต้องมี 7 กระบอก พอดิบพอดีเท่านั้น ยังเป็นคำถามที่ถกเถียงกันไม่จบ และคำอธิบายโดยมาก็ลากเข้าเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเลข 7 ตามพระคัมภีร์ของชาวคริสต์ไปเสียหมด) และเมื่อเรือจะเข้าฝั่งก็เป็นธรรมเนียมว่า เรือจะต้องยิงปืนออกทั้ง 7 กระบอก กระบอกละ 1 นัด เพื่อเป็นสัญญาณให้ป้อมบนฝั่งทราบจำนวนปืน (และเป็นการบอกเป็นนัยว่า ‘กูมาดี’)
ส่วนป้อมที่บนฝั่งนั้นก็มีธรรมเนียมที่ต้องยิงตอบคืน เป็นสามเท่าของจำนวนลูกกระสุนปืนที่เรือยิงออกมา ซึ่งก็ตรงกับ 21 นัด ดังนั้นจึงกลายเป็นธรรมเนียมว่า ก่ียิงสลุต 21 นัด ได้กลายเป็นธรรมเนียมการต้อนรับขับสู้นับแต่บัดนั้น
ไม่ว่าทำไมบนเรือต้องมีปืนอยู่เพียง 7 กระบอกไม่ขาดไม่เกิน และทำไมป้อมบนฝั่งต้องยิงตอบกลับมาเป็นจำนวนสามเท่าของที่เรือยิงไปนั้นก็ตามที แต่ถ้าหากไม่ว่าจะฝั่งไหน ยิงเกินจำนวน หรือขาดไปแม้แต่หนึ่งนัด นั่นก็ชวนให้ฝั่งตรงข้ามระแวงแน่ๆ อย่างไม่ต้องสงสัยเลยแหละนะครับ
ดังนั้น จำนวนกระสุนที่ถูกยิงออกมาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้ายิงขาด หรือยิงเกิน ก็อาจจะเกิดสมรภูมิขนาดย่อมเอาง่ายๆ ไม่ใช่ว่าใครนึกจะยิงสลุตกี่นัด ก็ยิงกันปตามแต่ใจจะสั่งมาซะที่ไหน?
(แต่ก็แน่นอนด้วยว่า ธรรมเนียมเหล่านี้ก็ถูกพัฒนาจนแตกต่างกันไปในที่ต่างๆ เช่น ในอินเดีย ซึ่งเคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษนั้น ก็ได้พัฒนาธรรมเนียมนี้จนซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยหากเป็นการยิงสลุตให้กับมหาราชา ก็จะยิงชุดละ 101 นัด ส่วนถ้าเป็นพระราชินี หรือพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เรื่อยไปจนถึงผู้ว่าราชการแผ่นดินนั้น จะยังสลุตชุดละ 31 ส่วนชุดละ 21 นัดนั้นจะใช้สำหรับหัวหน้าของแคว้น เป็นต้น)
และก็เป็นเพราะอย่างนี้แหละ ที่แม้ว่าผมจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ติ่ง’ ของร็อคสตาร์เบอร์ต้นๆ ของประเทศอย่างพี่เสก แต่ผมก็ไม่แน่ใจนักว่า เมื่อตอนที่ใจของพี่เสก ‘สั่งมา’ ให้ยิงสลุตขึ้นไปบนฟ้าเพื่อบวงสรวงพระเจ้าตากสินนั้น ‘ใจ’ ได้สั่งพี่เสกมาด้วยหรือเปล่าว่าให้ยิงกี่นัด?
เพราะถ้าเป็นเมื่อสมัยอดีตแล้วขืนยิงซี้ซั้วไม่นับจำนวนนัดกระสุนอย่างนี้แล้ว ต่อให้เป็นตำรวจทั้งกรมฯ ก็คงไม่ได้พี่เสกตัวเป็นๆ ไปสอบปากคำหรอกนะครับ