ภาพหนุ่มใหญ่เปิดประตูลงจากรถยนต์ด้วยความฉุนเฉียว ชักปืนและยกขึ้นเล็งไปที่แท็กซี่คู่กรณีที่ขับตามมาบริเวณศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ กลายกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์ โดยต่อมาทราบว่าชายอารมณ์ร้อนคือ นายพิเศษ นาคะพันธุ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ความไม่พอใจและความรุนแรง มีจุดเริ่มต้นจากเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างบีบแตรยั่วอารมณ์ ขับรถปาดกันไปกันมา คำถามก็คือ อะไรเป็นปัจจัยให้ความหัวร้อนปะทุขึ้นได้บ่อยครั้งบนท้องถนนเมืองไทย
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต บอกกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า การข่มขู่และความรุนแรงที่ยกระดับมาจากการกระทบกระทั่งกันบนท้องถนนเกิดจาก 3 ปัจจัยหลักสำคัญได้แก่
1.บุคลิกภาพและการขัดเกลาทางสังคม
พัฒนามาจากการถูกปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามตั้งแต่วัยเยาว์ ผ่านการอบรมเลี้ยงดู การให้ความอบอุ่นภายในครอบครัว และผ่านระบบการศึกษา สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพ พฤติกรรมการแสดงออก อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาจะกระทำผิดเสมอไป เพียงแต่ข้อมูลทางวิชาการชี้ให้เห็นว่าคนที่มาจากครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการขัดเกลาทางสังคมที่ดี จะส่งผลให้บุคคลนั้นมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดน้อยกว่า ผู้ที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหา แตกแยก
(รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล)
2.การบังคับใช้กฎหมาย อัตราโทษและการลงโทษ
สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในสังคมไทย คือพฤติกรรมเบี่ยงเบน หมายถึง ผู้ที่กระทำผิดไปจากบรรทัดฐานทางสังคม เช่น การเดินลัดสนาม สูบบุหรี่ก่อนวัยอันควร เมื่อมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนมากขึ้นก็จะนำไปสู่พฤติกรรมละเมิดกฎหมาย จากความผิดเล็กน้อยก็เป็นความผิดมากขึ้น เช่น การขับขี่ย้อนศร การขับรถด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ปาดหน้ากันไปกันมา
พฤติกรรมเหล่านี้พบเห็นได้อยู่เสมอ หลายคนกระทำจนเป็นความเคยชิน มองว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ จนนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบในที่สุด ก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นระหว่างผู้ที่ทำถูกกฎหมายกับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย ดังนั้น ควรต้องมีมาตรการลงโทษผู้ที่กระทำผิดเล็กน้อยตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนที่เขาจะไปกระทำความผิดที่รุนแรงมากขึ้น
“เมื่อบรรทัดฐานของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ก็จะเกิดการละเมิดกฎหมายมากขึ้น เมื่อละเมิดกฎหมายอย่างเป็นปกติ ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชนได้ ดังนั้น การรณรงค์ให้คนในสังคมปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคมจึงมีความสำคัญ”
ดร.กฤษณพงค์ กล่าวต่อว่า ตามหลักอาชญาวิทยา การบังคับใช้กฎหมาย หากมีความเสมอภาค โปร่งใสและเป็นธรรม สังคมก็จะมีความสงบสุขมากขึ้น ขณะที่การลงโทษหากมีความเด็ดขาด รวดเร็วและแน่นอน คนที่คิดจะกระทำความผิดจะเกิดความเกรงกลัว ส่งผลต่อจำนวนการเกิดอาชญากรรมก็มีแนวโน้มที่จะลดลง
3.สติ การยับยั้งชั่งใจ และการควบคุมอารมณ์
ภาวะเหล่านี้เกิดจากฝึกฝน การเจริญสติการควบคุมอารมณ์ รวมถึงสภาพแวดล้อมขณะเกิดเหตุ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละปัจเจกบุคคล และสถานการณ์ บางคนมีปืนอยู่ในความครอบครอง แต่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้แม้จะถูกยั่วยุ คล้ายกับบางคนเห็นผู้หญิงแต่งตัวโป๊แล้วเกิดความต้องการแต่ไม่กระทำผิด ข่มขืนหรืออนาจาร แต่ขณะที่บางคนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ดังนั้น การฝึกเจริญสติ ควบคุมอารมณ์จึงมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวันในแต่ละวัน
ทั้งนี้ การพกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะนั้นมีความผิดชัดเจน ตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ โดยวางหลักไว้ว่า
"ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์" โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี
ขณะที่พฤติกรรมข่มขู่ เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 392 ที่ระบุว่า ผู้ใดทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจ โดยการขู่เข็ญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สิ่งที่่น่าเรียนรู้ก็คือ การยกปืนเล็งตรงมายังคน ในลักษณะพร้อมยิง นิ้วอยู่ในโกร่งไกและขึ้นลำไว้พร้อมนั้น
เกิดผล เเก้วเกิด ทนายความอิสระ ระบุว่า กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ว่า ถือเป็นการกระทำขั้นตอนสุดท้าย ใกล้ชิดกับผลกระทำที่สุดแล้ว คือไม่ต้องมีขั้นตอนอื่นใดในการตระเตรียมการอีกแล้ว เพียงแค่ขยับนิ้วในไกปืน ก็คือขั้นตอนสุดท้ายของการยิง
การเล็งปืนใส่คน อาจเป็นเหตุให้คนที่ถูกเล็ง เข้าใจผิด หรือสำคัญผิดในข้อเท็จจริง ว่า กำลังถูกปทุษร้ายต่อชีวิต เขาก็ย่อมมีสิทธิที่จะป้องกันตัวได้
"เขาเข้าใจผิดว่ากำลังถูกยิง เขาย่อมมีสิทธิ์ป้องกันตัวได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ตามกฎหมายอาญามาตรา 68 ประกอบมาตรา 62 พูดง่ายๆ ว่า เขาอาจจะยิงสวนกลับโดยไม่มีความผิด ได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แล้วแต่กรณี" ทนายดังกล่าว