ไม่พบผลการค้นหา
ซอฟต์พาวเวอร์จะเกิดขึ้นในรัฐบาลประชาธิปไตย ! วงเสวนาชี้ รัฐควรสนับสนุนในเชิงนโยบาย พร้อมจัดตั้งหน่วยงานกลางสำหรับคนในวงการ

วันที่ 19 มี.ค. 2566 ที่วอยซ์ สเปซ ในงาน ‘สไลด์ to unlock SOFT POWER FESTIVAL 2023 วงเสวนา ‘ปัดหมุด Soft Power ไทยในแผนที่โลก’ โดยมี ทักษิณ ชินวัตร (Tony Woodsome) อดีตนายกรัฐมนตรี, มาริสา สุโกศล นายกสมาคมโรงแรมไทย, อนุชา บุญยะวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย, ศรัณย์ ภิญญรัตน์ ผู้บริหาร Fungjai และธีรัตน์ รัตนเสวี พิธีกรรายการ Talking Thailand Voice TV เป็นผู้ดำเนินรายการ 


‘มาริสา’ มองปัญหาโรงแรมไทยขาดบุคลากร เนื่องจาก โควิด-19 

มาริสา กล่าวถึงปัญหาของอุตสาหกรรมโรงแรมว่า ตอนนี้นักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้ามาแล้วทำให้โรงแรมเริ่มมีรายได้ แต่ปัญหาที่สั่งสมมาถึง 2-3 ปีก็รุนแรงมากที่สุดในการทำงานของใครหลายคน ตนจึงอยากมองเป็นอนาคตมากกว่าว่า อยากให้ทุกท่านเห็นว่า การท่องเที่ยวสำคัญ และเป็นกลไกขับเคลื่อนธุรกิจที่สำคัญ โดยก่อนจะมีโควิด-19 นักท่องเที่ยวเข้ามา 40,000,000 คนต่อปี และในปีนี้อาจเข้ามาถึง 30,000,000 คน และมีโอกาสที่จะขยายได้ถึง 60,000,000 หรือ 80,000,000 ดังนั้นเราจะเตรียมพร้อมอย่างไรเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยในปริมาณที่มากขึ้น 

โดยสิ่งที่สำคัญตอนนี้คือการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากปัญหาโควิด-19 ทำให้แรงงานส่วนหนึ่งกลับเข้ามาแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่กลับเข้ามาเนื่องจากทำอาชีพใหม่ๆ ทำให้ตอนนี้ก็เลยหาคนยากมาก และ Service Hospital ที่มีชื่อเสียงมาก โดยจะทำอย่างไรให้การบริการของไทยมีชื่อเสียงอย่างมากสามารถทำได้ ซึ่งถ้าหากเราต้องใช้แรงงานต่างด้าวเนื่องจากคนไทยไม่พอ เพราะคนไทยเราเสียชีวิต 600,000 คนต่อปี แต่เกิดแค่ 500,000 คน

สไลด์ to unlock

สิ่งที่สมาคมโรงแรมไทยพยามผลักดันคือ ให้คนต่างชาติเช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เข้ามาการทำงานในภาคการบริการของเราได้มากขึ้น หรือง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้มีฐานเงินเดือนที่เป็นนโยบายอยู่ แต่หากเราจะจ้างชาติเหล่านี้ต้อง 35,000 บาทเป็นต้น แต่เราไม่ต้องการแรงงานทักษะขนาดนั้นเราต้องการแรงงานภาคบริการที่มีใจรักในการบริการ 

มาริสา กล่าวอีกว่า นักท่องเที่ยวจากยุโรปส่วนใหญ่จะมาในเรื่องของ ‘Sea Sand Sun’ แต่เราจะสามารถขยายผลได้อีกเยอะ เช่น หนังเรื่อง ‘สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก’ ทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนมาซื้อชุดนักเรียนใส่ เป็นต้น ซึ่งเขาก็มาในหลายหลายจุดประสงค์ แต่สิ่งที่เราอยากผลักดันให้มีคือ นักท่องเที่ยวเข้ามาในเรื่องของสุขภาพ โดยเฉพาะหมอนวด หรืออุตสาหกรรมนวดไทยที่ตอนนี้ทักษะเหล่านั้นออกไปอยู่ต่างประเทศ 


‘โทนี่’ แนะการท่องเที่ยวควรสร้างแบบ Man Made

โทนี่ กล่าวว่า เราต้องมองถึงภาพรวม เพราะประเทศไทยคนชอบมาเพราะการดูแลบริการของคนไทยที่ดีต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นเสน่ห์มาก แต่เราต้องสร้างการท่องเที่ยวเป็น ‘Man Made’ เช่นในต่างประเทศมีการนำภูเขาทั้งลูกมาสลักทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และถ้าเราเอาเขาทั้งลูกมาแกะสลักเป็นปราสาทไทยให้คนไปเที่ยวกันเยอะ ให้คนแต่ละภูมิภาคมาร่วมสร้างสรรค์เป็นศิลปะภูมิภาคจะทำให้สามารถสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ ได้ อีกทั้งเรื่องธุรกิจของการบิน ซึ่งตอนนี้การบินไทยก็แย่ลง ซึ่งสายการบินที่จะทำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยก็สำคัญ 

รวมถึงรัฐบาลเท่าที่ฟัง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยเล่าให้ฟังคือ เขามีนโยบายพูดถึงการเข้าเมืองที่ง่ายขึ้นแต่รัดกุมก็คือ วีซ่าฟรีระหว่างประเทศที่จะมาหาเรา แล้วเราจะไปหา การทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามานั้นไม่ยาก แต่เรื่องของการขนส่งนั้นค่อนข้างสำคัญ ต่อมาคือเรื่องของโรงแรมที่ไม่ต้องแข่งกันลดราคา เพราะเราคือโรงแรมที่ดีที่สุด บริการดีที่สุด แต่ถูกที่สุด ดังนั้นอย่าคิดว่า จะต้องแข่งกันเรื่องราคา แต่ควรแข่งกันเรื่องบริการดีกว่า

สไลด์ to unlock

นอกจากนี้สิ่งที่ตามมาเรื่องท่องเที่ยว คือเรื่องของอาหาร รวมถึงเรื่องเทศกาลต่างๆ ที่เราต้องมีเทศกาลที่สำคัญทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยว นี่คือสิ่งที่ตนสมัยเป็นนายกรัฐมนตรีต้องการทำให้ได้ และตอนนี้อะไรๆ มันง่ายขึ้น มันก็สามารถทำได้ และถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลเมื่อไหร่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน 

ขณะที่การผลักดันวงการภาพยนตร์นั้น อนุชา กล่าวว่า ในขณะนี้วงการภาพยนตร์ค่อนข้างเลวร้าย เนื่องจากขาดเงินทุน เพราะเงินทุนในการสร้างหนังต่างชาตินั้น แตกต่างจากเงินทุนของหนังไทย และช่วงหลังมานี้ Box Office เผยข้อมูลรายได้ของหนังไทย เมื่อเทียบกับหนังต่างประเทศนั้นลดลงทุกที ทำให้ทุนของหนังไทยลดลง เมื่อทุนลดลงทำให้กระทบในทุกภาคส่วนคือ

เรื่องคุณภาพของตัวบท และคุณภาพการแสดง ทำให้หนังไทยแข่งขันกับต่างประเทศค่อนข้างยาก ต่อมาคือวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยถูกขาดการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และขาดนโยบายหรือหน่วยงานองค์กรที่ชัดเจนที่จะสนับสนุนหรือชัดเจนในภาพรวมออกมา ทำให้มันยังไม่สามารถพัฒนาได้เต็มอย่างศักยภาพ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ ‘Censorship’ ที่ทำให้การที่จะมีคนคิดหนังในรูปแบบใหม่ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะกลัวว่า หากทำหนังแนวนี้ออกมาแล้วจะถูกเซ็นเซอร์ และในท้ายที่สุดทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดปัญหาคือ ภาพยนตร์ไม่มีความหลากหลาย และไม่มีคุณภาพมากพอที่จะสร้างให้เกิดวัฒนธรรมการดูหนังที่ดีในสังคมไทย 

‘ศรัณย์’ ชี้รัฐมีแนวคิดอนุรักษนิยม จำกัดกรอบของการสร้างดนตรี 

ด้าน ศรัณย์ กล่าวถึงอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทยว่า ตอนนี้ค่อนข้างเป็นขาขึ้น เนื่องจากมีการผลิตศิลปิน และแนวเพลงใหม่ๆ ขึ้นมา ถ้าพูดถึงงานเทศกาลคอนเสิร์ตค่อนข้างคึกคักอย่างต่อเนื่อง ถ้าดูหลังโควิด-19 เราจะพบอีเวนท์ดนตรีทุกสัปดาห์ เพียงแต่ว่า มันยังขาดแรงผลักดันที่จะส่งคอนเทนต์ดีๆ เหล่านี้ออกไปยังข้างนอก เพื่อให้มันกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างแท้จริง

ซึ่งถ้าเจาะลึกลงไปในปัญหามันจะมีอยู่เพียง 3 เรื่องหลักคือ ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐที่เป็นรูปธรรม ปัญหาใหญ่ที่สุดคือเรื่องของคำว่า ‘ดนตรีไทย’ ถ้าหากเราเป็นนักดนตรีหรือค่ายเพลง และอยากเดินเข้าไปทางภาครัฐเพื่อขอเงินทุนสนับสนุนในการไปเล่นคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศ หรืออยากที่จะผลักดันวงการเราออกไปข้างนอกก็จะโดนมุมมองของความอนุรักษนิยมบางอย่างที่จะมองว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นมันไม่ใช่ความเป็นไทย 

สไลด์ to unlock

หรือบางเพลงไม่ได้ร้องภาษาไทยก็จะถูกมองว่า อันนี้ไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่สามารถสนับสนุนได้ ก็จะถูกแนวคิดตรงนี้ตีกรอบอยู่อย่างจำกัด และไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่ชัดเจนในการสนับสนุนเพื่อให้วงดนตรีได้ไปสู่ต่างประเทศ แม้ว่าเอกชนจะทำกันอย่างได้ดี แต่การจะไปอีกขั้นนั้นลำบากมาก นอกจากนี้คือเรื่องของพื้นที่ในการจัดแสดง

เนื่องจากอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทยนั้น 50% มาจากการแสดงดนตรีสด แต่ข้อจำกัดนั้นมาจากในบ้านเราไม่ได้มีการวางผังเมืองแบบโซนนิ่งอย่างชัดเจน เมื่อมีการจัดคอนเสิร์ตที่เป็นลักษณะเอ้าท์ดอร์จะมีปัญหาตามมาคือเรื่องของเสียง แม้ว่า เจ้าของที่จะจัดพื้นที่ที่สามารถจัดคอนเสิร์ตได้แต่จะมีการร้องเรียนในเรื่องของเสียง เพราะไม่ได้มีการแบ่งโซนว่าโซนนี้เป็นเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จึงทำให้มีขอบเขตตรงนี้เข้ามาทำให้ไม่สามารถจัดวางได้อย่างเป็นระบบ 

สุดท้ายคือเรื่องของข้อกฎหมายบางอย่างที่ไม่ทันสมัยอย่างเช่น การที่เราจัดคอนเสิร์ตต้องเข้าไปขออนุญาตกฎหมายในเรื่องของการใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งเป็นกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2493 และยังส่งผลต่อปัจจุบันโดยเนื้อความนั้น คือเรื่องของการใช้รถขยายเสียง หรือรถแห่ แต่เราผ่านมา 70 กว่าปีแล้ว การจัดงานอีเวนท์ หรือมหรสพต่างๆ นั้นเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว

แต่กฎหมายยังไม่มีการอัพเดท เมื่อเราไปขอเอกสารนี้จะทำให้เกิดการช่องว่างเนื่องจากเจ้าหน้าที่เขตจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต และเราต้องไปคุยกับตำรวจ ซึ่งทั้งสองขั้นตอนนี้จะต้องมีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ทำให้ต้องเกิดการลุ้นว่าจะทำได้หรือไม่ หรือถ้าไม่อยากลุ้นก็ต้องมีการตั้งงบเทาๆ ซึ่งนี่คือช่องโหว่ที่ 70 กว่าปีไม่เคยมีการอัพเดททำให้เกิดอุปสรรคในการจัดงาน


‘อนุชา’ เผยค่าตอบแทนสำหรับคนทำหนังไม่เป็นธรรม

อนุชา กล่าวถึงการอนุญาตขอสถานที่ในแง่ของภาพยนต์ว่า ในเรื่องของการขอสถานที่นั้นไม่ได้มีปัญหามาก ซึ่งเราได้มีการคุยกับทาง กทม. ให้ไม่มีการเก็บเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น และโปร่งใสแต่มันมีปัญหาเรื่องทุนสร้างมากกว่า จริงๆแล้วผู้สร้างภาพยนตร์ไทยนั้นมีความสามารถมาก แม้ว่าจะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างไรแต่มีผู้กำกับหลายคนหลายท่านที่ไปสนับสนุนในนานาชาติ

แสดงว่าคนของเราไม่ได้ด้อยไปกว่าใครแต่เรื่องเงินทุนนั้นไม่มี จึงทำให้เราต้องทำอย่างไรก็ได้ให้หนังไทยเรามีมูลค่ามากขึ้น และสิ่งที่สำคัญคือเราต้องจัดการเรื่องเซ็นเซอร์ เพราะจะได้มีการเปิดโอกาสให้มีความสร้างสรรค์ในการแสดงออกของผลงาน และการพัฒนาวงการภาพยนตร์ต้องดูนอกจากคนทำแล้วต้องมีคนขาย และคนฉายคนดู 

ถ้าทำอย่างใดอย่างหนึ่งแค่องค์ประกอบเดียวนั้นก็จะล้มไม่เป็นท่า อย่างคนทำ แม้ว่าจะมีคุณภาพในเรื่องของเซ็นเซอร์ก็เปิดโอกาสให้เขาเต็มที่ได้ค่าจ้าง แต่ในเรื่องของสวัสดิภาพนั้นต้องดูเรื่องของค่าจ้างว่า ได้อย่างเป็นธรรมไหม เนื่องจากคนทำได้ค่าจ้างค่อนข้างน้อยทำให้เกิดปัญหาว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากเข้ามาทำเพราะต้องถ่ายงานกว่า 10 ชั่วโมง และได้ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ต่อมาคือเรื่องของการสนับสนุนหนังอิสระทำให้มีการสร้างบุคลากรใหม่ๆ เข้ามา ส่วนคนขายเราต้องดูว่าคนขายจะทำอย่างไรเพื่อขายในตลาดต่างประเทศ อย่างเช่นหนังสยองขวัญ หรือหนังวายที่สามารถเข้าไปขายได้ในต่างประเทศ ซึ่งถ้าเราสับสนุนหนังแนวนี้ จะทำให้สามารถขายได้มากขึ้น เพื่อทำให้หนังไทยในตลาดโลกนั้นมีมูลค่ามากขึ้นจึงสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ตามมาได้ 

ต่อมาคือเรื่องคนขายคือเรื่องของโรงภาพยนตร์ซึ่งเป็นอำนาจในการต่อรองก็น้อยทำให้วนกลับลงมาว่า ฉันจะสร้างหนังมาแล้วจะมีโรงฉายไหมทำให้ต้นทุนในการสร้างหนังมันแพงขึ้น ไม่มีใครกล้าสร้างถ้ามีระบบที่สามารถปกป้องระบบอุตสาหกรรมได้นั้นจะมีระบบโควตาซึ่งมีสัดส่วนในการฉายหนังไทย และต่างประเทศ

เมื่อต้นทุนนั้นเราไม่สามารถแข่งกับต่างประเทศได้จึงให้เวลาเรามากกว่าต่างประเทศได้หรือไม่ เพราะหนังไม่ได้มีแค่เวลาแต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วย ซึ่งถ้าเราทำให้หนังนั้นสามารถเติบโตได้ก็ส่งผลไปสู่เรื่องอื่นๆ คือเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นเราต้องมีการสร้างคนดู คือการมีเทศกาลภาพยนตร์เพราะทำให้มีการคัดเลือกหลังจากหลายประเภท ให้มีความหลากหลายเพื่อให้คนดูมากขึ้น 

‘โทนี่’ แนะใช้ Block Chain หมุนเวียนเงินทุนสำหรับหนังและดนตรี

โทนี่ กล่าวว่า ได้ฟังจากนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะมี Block Chain สร้างเหรียญที่เป็นของหนังเรื่องนั้นขึ้นมา และสามารถสร้างเงินทุนให้กับภาพยนตร์ และแลกเปลี่ยนให้ผู้ลงทุนนั้นสามารถรีเทิร์นเป็นหุ้นกำไร โดยการสร้างเหรียญจากภาพยนตร์เรื่องนั้น เพื่อให้เกิดการระดมทุนง่ายง่ายทำให้คนตัวเล็กนั้นสามารถระดมทุนได้ง่าย เรียกว่าไม่ต้องไปง้อรัฐเลย โดยใช้สิ่งที่มีอยู่สามารถที่จะสร้างเงินทุนได้ ซึ่งวันนี้คนที่มีเงินมีเยอะ คนที่ไม่มีก็ไม่มี ซึ่งคนมีก็ไม่รู้จะไปลงทุนกับอะไร แต่บางคนที่ชอบก็จะไปร่วมลงทุนได้ ตรงนี้ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งจะทำให้การค้า และลงทุนนั้นง่ายขึ้น

ส่วนเรื่องภาพยนตร์นั้น สมัยที่ตนเป็นหนุ่มๆ ตนเคยเป็นสปอนเซอร์สร้างหนัง หรือซื้อหนังมาเดินบ้าง ทำให้เข้าใจในเรื่องของตลาดที่สำคัญ แต่บางครั้งตลาดในเมืองไทยมันเต็มที่ได้อยู่ประมาณ 100,000,000 บาท แต่หากต้องการสร้างหนัง 50,000,000 บาท เพื่อกำไรร้อยล้านมันก็เสี่ยง มันจึงเป็นเรื่องที่ต้องดูทั้งการเจาะตลาดของต่างประเทศ วงการทั้งหมดที่เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ 

ในวันนี้เท่าที่ดูพรรคเพื่อไทยแถลงนโยบาย และเปิดแนวทางเชื่อว่า โอกาสมาแล้ว โอกาสที่จะสร้างพัฒนาคนใหม่ๆ โอกาสที่จะพัฒนาคนใหม่ โอกาสที่จะส่งเสริม โอกาสที่จะทำให้การอนุญาตมันง่ายขึ้น ซึ่งแพทองธาร พูดมาว่า ต่อไปนี้การขอใบอนุญาตจะพยายามให้อยู่บนแอปพลิเคชัน อยู่บนออนไลน์ให้มากที่สุด

“จากนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ เพชรบ้างเม็ดอาจจะไม่ใสนัก แต่อย่างน้อยก็ได้ออกมาเป็นเพชรดีกว่าเป็นก้อนกรวด นั่นคือสิ่งที่เรากำลังจะคิด กำลังจะทำ และทำให้มีคนป้อนในทุกวงการเยอะมากขึ้น และเราต้องสร้างวงการให้มันใหญ่ สร้างตลาดให้แก่วงการอย่างที่ วันนี้ประเทศเรา ให้บริษัทใหญ่เป็นเสือนอนกินมามาก ถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้เขาเผื่อแผ่ให้กับคนตัวเล็กได้มีโอกาสมากขึ้น ไม่อย่างนั้นคนตัวเล็กไม่ได้เกิด คนชั้นกลางไม่มีโอกาสขยับเป็นคนชั้นสูงได้เลย ถ้าหากว่า ยังมีการปิดกั้นด้วยทุน และอำนาจต่างๆ” โทนี่ กล่าว 

นอกจากนี้ โทนี่ ยังกล่าวอีกว่า เรื่องของการเซ็นเซอร์นั้น เราพยายามผลักดันเรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเองมาตั้งแต่สมัยตอนเป็นรัฐบาล สิ่งที่พยายามจะผลักดันเรื่องนี้ และในที่สุดต้องเกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองขึ้นได้ และให้คนใช้วิจจารณาญาณ วันนี้ไม่มีทางปิดใครได้ต่อให้หนังเป็น X สามตัว แต่เด็กก็สามารถเข้าดูได้ เพราะฉะนั้นให้มีการเซ็นเซอร์ด้วยตนเองดีกว่าเพื่อให้ผู้ใหญ่เขาสามารถแนะนำกันได้อย่างถูกต้อง 

โทนี่ กล่าวอีกว่า เราเห็นศักยภาพของคนไทย ตนคิดว่าเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้นเราไม่ได้พูดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เพราะในสมัยนั้นคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จะใช้คำว่า ‘Creative Economy’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยมีสุนทรียทางฝีมือ ดังนั้นเราต้องสนับสนุนเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จึงพยายามทำเรื่องของการสร้างหนังให้มีต่างประเทศสามารถมาถ่ายทำหนัง และการสนับสนุนการสร้างโรงถ่ายหนัง เรื่องเทศกาลต่างๆ ก็ทำมาหมด และยังมีเรื่องของบางกอกเมืองแฟชั่น จึงไม่อยากให้คนไทยเป็นเพียงแรงงานใช้ฝีมือ เพื่อให้คนไทยสามารถก้าวข้ามความยากจน

มาริสา กล่าวอีกว่า โรงแรมที่คนไทยบริหารกันเองมีศักยภาพที่สามารถแข่งขันกันได้คิดว่า โรงแรมของเรานั้นที่หนึ่งของโลกอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากการที่เราไม่มีลูกค้ามาสามปีทำให้รายเล็กๆ ขาดเงินทุนในการพัฒนา ฉะนั้นเราจึงต้องทำอย่างไรให้มีการยั่งยืน เพราะนักท่องเที่ยวจากยุโรปเมื่อมานั้น เขาจากค่อนข้างให้ความสำคัญว่าแหล่งท่องเที่ยวนั้นยั่งยืนอย่างไร หรือปล่อยออกซิเจนอย่างเท่าไหร่ หรือลูกค้าสีเขียว แต่ว่าทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ทำให้เขานำมาสู่การบริหารอย่างยั่งยืน 


‘ศรัณย์’ ชี้รัฐควรสนับสนุนนักดนตรีหน้าใหม่ 

อนุชา กล่าวว่า อยากให้มีการตั้งหน่วยงานกลางที่จะสนับสนุนรับเงินจากหน่วยงานภาครัฐ และมีความอิสระในการสนับสนุนนโยบายภาพยนตร์ ภาครัฐอาจจะเข้ามาช่วยในส่วนของกฎระเบียบ แต่คนกำหนดนโยบายอาจจะเป็นคนที่มีความรู้ในอุตสาหกรรม เพื่อจะรู้ว่า ปัญหานั้นอยู่ตรงไหนแล้วควรจะใช้งบแก้ตรงไหน โดยวิธีการอะไรอย่างไร และการสร้างรายได้ของภาพยนตร์ไทยนั้น ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้สามารถขายไปในระดับเอเชียหรือระดับโลก ในสมัยก่อนมีแนวแอ็คชั่นคือ องค์บาก หรือต้มยำกุ้ง แต่มันขาดความต่อเนื่องทำให้หายไป 

ด้าน ศรัณย์ กล่าวว่า ภาครัฐสามารถเข้ามาสนับสนุนศิลปินหน้าใหม่ได้ และศิลปินหน้าใหม่ยังไม่มีเงินทุนในการสร้างผลงาน และอยากให้มีการขึ้นทะเบียนเลยว่าถ้าคุณเป็นนักดนตรีสามารถลงทะเบียน ถ้าคุณลงทะเบียนว่า เป็นนักดนตรีคุณสามารถเข้าถึงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ได้ในราคาที่ถูกลง และรัฐสามารถช่วยได้คือ รัฐช่วย 50% เขาจะสามารถมีโอกาสเข้าถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่มีคุณภาพเรายิ่งขึ้น และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเขากล้าที่จะซื้อของที่ดีขึ้น ถ้าหากรัฐยื่นมือเข้ามาช่วย ทำให้เขาผลิตเพลงดีๆ ขึ้นมาได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งค่ายเพลงเสมอไป แต่ถ้าคนที่ประสบความสำเร็จแล้วยิ่งต้องรีบผลักดัน โดยที่ต้องมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน 

‘โทนี่’ ชี้ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ จะเกิดกับรัฐบาลประชาธิปไตย 

โทนี่ กล่าวว่า ไม่อยากให้มีการหวังระบบราชการมากเท่าไหร่นัก เนื่องจากถ้าหากตนตั้งอธิบดีขึ้นมา เขาก็จะไม่สามารถเข้าใจในเรื่องนี้ได้มากเท่าไหร่นัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือเราต้องพยายามทำเรื่องที่ยากให้ง่ายในเรื่องกติกา กฎเกณฑ์ และให้สามารถเพิ่มเงินทุนผ่านระบบสาธารณะได้ง่ายมากขึ้น รวมถึงหาช่องทางที่เขาจะสามารถเพิ่มช่องทางการตลาดได้มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนำไปสู่ตลาดต่างประเทศ

ตรงนี้รัฐช่วยได้ในเรื่องของการเจรจา แต่ว่ารัฐมาช่วยตรงนั้นตรงนี้รัฐไม่สามารถทำได้เท่าไหร่นัก อย่างเรื่องของสถานที่ที่อยากมี สมมุติว่า ไปขอพื้นที่ได้จากของทหารกว้างๆ มาให้ รัฐสามารถช่วยสนับสนุนในภาพกว้าง และความคล่องตัวให้ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีการระดมสมองกันเพื่อให้พวกคุณช่วยคิด ถ้ารัฐช่วยคิด เขาคิดไม่เป็นเพราะเขาไม่ได้อยู่ในอาชีพนี้เพราะเขาอยู่ในอาชีพราชการ

“เชื่อว่า ถ้ารัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยจะรับฟังมากและเข้าใจได้มาก รวมถึงจะสนับสนุนได้มากเพราะฉะนั้นเชื่อว่า คราวหน้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแน่นอน เมื่อเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยแล้ว โอกาสที่ซอฟต์พาวเวอร์จะเกิดขึ้น เพราะซอฟต์พาวเวอร์ต้องเกิดกับประชาธิปไตย ฮาร์ทพาวเวอร์มันอยู่กับเผด็จการ” โทนี่ กล่าว