10 พ.ย.2565 รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ 14 ส.ส. ร่วมกันเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาฯ ตั้งคณะกรรมการสอบผู้มีอิทธิพลระดับบิ๊กในสภาฯ ใช้อำนาจมืดล็อบบี้ข้าราชการ และจ่ายเงิน ส.ส.เพื่อล็อกประมูลห้องอาหารจัดเลี้ยง ส.ส. ในการประชุม โดยระบุว่า ตนเป็นกรรมการชิมอาหารทุกครั้งที่มีการประมูลร้านที่จะทำอาหารให้ ส.ส. ในการประชุม ซึ่งผลการคัดเลือกในครั้งนี้ยังไม่ออก ในตอนแรกตนก็ยังไม่ทราบเรื่อง แต่วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ออกมาเปิดเผยว่ามีการจ่ายเงินและล็อบบี้กัน หากเป็นแบบนี้ ต้องให้ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และอยากให้ยกเลิกวิธีการประมูลในลักษณะนี้
"อยากให้มีการยกเลิกไปเลย เพราะว่าเงินงบประมาณแผ่นดินมันสูญเสียไปกับค่าอาหารมาก เราต่อสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด เพราะอย่างปีก่อนๆ ที่ตั้งงบประมาณอาหารเป็นร้อยล้าน แต่ถ้าทำแบบรังสิมาเสนอจะเหลือประมาณ 50 ล้านบาทได้"
รังสิมา ระบุต่อไปว่า หากจะประมูลแบบนี้ สมมติมี ส.ส. 500 คน ค่าอาหารคนละ 1,000 บาท 1 วันจะตกค่าอาหารรวมทั้งหมด 500,000 บาท ซึ่งหาก ส.ส.ไม่มาประชุม สภาก็ยังเสียเงิน 500,000 บาท แล้วหากสภาล่ม ก็ต้องนำอาหารไปบริจาค ซึ่งปลายสมัยประชุมแบบนี้ สภาล่มบ่อยมาก
"การสูญเสียเป็นงบประมาณแผ่นดินซึ่งสามารถนำไปทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้มากมายมหาศาล เราเสนอว่าให้สภาก่อสร้างห้องอาหารให้เสร็จไวๆ แล้วประมูลให้คนที่อยากมาขายในสภา ขายให้กับบุคคลทั่วไป ผู้สื่อข่าวก็สามารถเข้าไปทานได้ ส.ส. ก็ให้เข้าไปทานได้ ทำแบบศูนย์อาหารของห้าง มีบัตร ส.ส.หิวตอนไหนก็ลงมา"
รังสิมา ระบุว่า ปัจจุบัน ส.ส. ไม่มีสิทธิ์เลือกอาหาร กินได้ก็ต้องกิน กินไม่ได้ก็ไม่ต้องกิน แต่หากมีระบบคล้ายกับศูนย์อาหาร เงินในสภาจะเหลือ เพราะหาก ส.ส.ไม่ใช้ ระบบก็ส่งคืนคลัง
"แบบนี้มันเสียหายกับสภา เสียหายกับสมาชิกที่เป็นคณะกรรมการ ก็เลยลงชื่อกัน ให้ทางชวนตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการฮั้วกันจริงไหม มีการจ่ายเงินจริงไหม หากมีจริงต้องทำโทษ ต้องเอามาประจานว่าคนที่ทำเป็นใคร ทำให้สมาชิกที่เป็นกรรมการเสียหาย ประธานเสียหาย"
รังสิมา ยอมรับว่าเพิ่งทราบว่ามีการล็อบบี้เกิดขึ้น ไม่ทราบว่ามีจำนวนกี่คน ซึ่งตนไม่ได้โดนล็อบบี้ ใครล็อบบี้ก็ไม่สำเร็จ เพราะเราดูตามความเป็นจริง ตอนนี้ยังไม่เห็นผลคะแนนการประมูล ทราบมาว่าคะแนนยังอยู่ในตู้ ยังไม่ได้ออกมารวม
"วิธีการเก่าๆ ที่สภาทำมาไม่รู้กี่ยุคกี่สมัย เราว่าควรที่จะเปลี่ยนแปลงเพราะมีความรั่วไหลเยอะมาก ตั้งแต่เรามาอยู่ พูดกันจริงๆ ใครจะประมูลก็ยาก เพราะเอาใจยาก ส.ส.มี 500 คน แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แล้วก็อุปกรณ์ต่างๆ ร้านที่ทุนไม่หนา ก็อยู่ยาก อุปกรณ์จะหายทุกวัน ห้องนี้เอาชามไป 2 ลูก ห้องนี้เอาถ้วยไป เราก็สงสารร้านที่มาประมูล บางคนเข้ามาก็ถูกกลั่นแกล้ง อยู่ไม่ได้ สมัยสภาเก่าก็มีร้านเข้ามา แต่ก็ถูกเอาเกลือไปโรย เอาข้าวสารไปโรย ในจานอะไรแบบนี้ เขาก็อยู่ไม่ได้ มันมีอะไรสลับซับซ้อนเยอะ"
ส่วนบิ๊กเนมในสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวข้องมาตั้งแต่สมัยสภาเก่าหรือไม่ รังสิมาตอบว่า เรื่องนี้ตอบยาก มีมือที่มองไม่เห็น เราไม่รู้ว่าใครไปล็อบบี้ใคร เพราะเรื่องนี้ถือมีผลประโยชน์เป็นร้อยล้าน จากที่คุยกับเพื่อนสมาชิกในกรรมาธิการกิจการสภาฯ หลายคนก็เห็นด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่อย่างประธานด้วย ย้ำว่า เรื่องนี้ต้องกู้ศักดิ์ศรีของสภาฯ ไม่ใช่เงินหมื่นเดียวไปเลือกร้านที่ ส.ส.กินกันไม่ได้ โดยเรื่องนี้ตนต่อสู้มาโดยตลอด
"คนก็จะบอกว่า รังสิมาเสือกทุกเรื่องเลย แต่เราและรักษาผลประโยชน์ให้ประเทศชาติ อย่างเรื่องนี้เราได้วันละ 1,000 บาท แต่เด็กได้น้อย ก็ทำให้ประชาชนไม่แฮปปี้กับสมาชิกอยู่แล้ว แต่ต้องกราบเรียนว่า ส.ส. ไม่สามารถออกไปทานอาหารข้างนอกได้ เพราะลงคะแนนไม่ทันในสภา ก็จะเกิดความเสียหาย ประชาชนก็จะเสียผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นการบริการต้องอยู่ภายในนี้ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้"
เมื่อถามว่าเงิน 1,000 บาท มากหรือน้อยไปหรือไม่ รังสิมา กล่าวว่า หาก ส.ส. มาทำงานจริงตั้งแต่เช้า เงินจำนวนเท่านี้ถือว่าโอเค