ไม่พบผลการค้นหา
ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2566 จะผ่านวาระ 1 เรียบร้อย แต่การอภิปราย 3 วัน ของส.ส.หลายพรรคการเมือง น่าสนใจ มีการรวบรวมข้อมูล สถิติประกอบการอภิปรายกันจำนวนมาก 'วอยซ์' จึงรวบรวมข้อมูลระดับมหภาคในประเด็นใหญ่ๆ มานำเสนอ แม้จะมีประเด็นอื่นๆ อีกมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา สวัสดิการ แรงงาน โครงการ EEC ฯลฯ

ข้อมูลทั้งหมดจะทำให้เห็นปัญหาในวิธีคิด วิธีบริหารแบบราชการ ปัญหาโครงสร้างงบประมาณ ซึ่งควรต้องได้รับการแก้ไขในอนาคตในหลายเรื่อง เนื่องจากงบประมาณ 3.185 ล้านล้านบาท (อ่านคำว่า 'ล้าน' 2 ครั้ง) ล้วนมาจากกระเป๋าเงินของทุกคน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ท่ามกลางสถานการณ์ที่เราต่างใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบาก ต้องใช้หนี้ของตัวเองรวมถึงหนี้สาธารณะที่ต้องร่วมแบกอีกมหาศาล

ทั้งนี้ ข้อมูลที่นำเสนอรวบรวมมาจากการอภิปรายของ ส.ส.หลายคน อาทิ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, อนุดิษฐ์ นาครทรรพ, อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, เกียรติ สิทธิอมร, เบญจา แสงจันทร์, สมบัติ ศรีสุรินทร์, ไชยา พรหมา, อนุรักษ์ บุญศล, ปดิพัทธ์ สันติภาดา, วิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์, สมคิด เชื้อคง, วีระกร คำประกอบ, ไพบูลย์ นิติตะวัน

280864713_1374525009734801_3787551895898467129_n.jpg
  • ราว 10% ของงบประมาณใช้ชำระหนี้ที่ผ่านมา ปัญหาไม่ใช่การกู้เยอะ แต่รัฐบาลเปลี่ยนหนี้สินเป็นรายได้ประเทศได้หรือไม่ และต้องระวังด้วยว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของประเทศพัฒนาแล้วกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  • หนี้สาธารณะ รวบรวมได้ 12 ล้านล้าน ซึ่งเกินร้อยละ 70 ของ GDP แบ่งเป็น

-หนี้สาธารณะ (มี.ค.2565) ราว 9,950,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยปีละ 20,000 ล้านบาท

-หนี้เงินค้างชำระตามนโยบายของรัฐ 1,060,000 ล้านบาท

-หนี้งบผูกพัน 1,095,000 ล้านบาท

-หนี้ประกันสังคม 66,000 ล้านบาท

  • หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่ 14.58 ล้านล้าน หรือร้อยละ 90.1 ของ GDP
  • จำนวนหนี้สินในระบบเฉลี่ย 204,926 บาทต่อครัวเรือน แต่คนจำนวนไม่น้อยก็เป็นหนี้หลายแบบ

-มีคนเป็นหนี้นอกระบบอย่างเดียว 5.2%

-มีคนเป็นหนี้ในระบบอย่างเดียว 90.8%

-มีคนเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ 4%

  • หนี้นอกระบบคาดการณ์ว่ามีอยู่ราว 85,000 ล้านบาท
  • งบประมาณเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้ หากหารด้วยหนี้ครัวเรือน 14.5 ล้านล้าน ได้ผลลัพธ์ 0.03% ยกตัวอย่าง สมมตินาย ก.มีหนี้อยู่ 100 บาท แปลว่า งบปีนี้เอาไปช่วยแก้ปัญหาหนี้ให้นาย ก. 3 สตางค์
  • ประชาชนหนี้ท่วม แต่ ปตท.กลับกำไรพุ่ง และนำส่งคลังน้อยมากประมาณ 10% ปี 2562 ปตท.มีกำไรสุทธิก่อนหักภาษี 1.6 แสนล้าน ปี 2563 อยู่ที่ 6.5 หมื่นล้าน ปี 2564 อยู่ที่ 2.2 แสนล้าน ทั้งนี้ เพราะค่าการกลั่นน้ำมันของไทยนั้นแพงเกินไป ที่สิงคโปร์เฉลี่ย 4.6บาท/ลิตร ประเทศไทยเฉลี่ย 5.51 บาท/ลิตร แพงกว่า 91 สตางค์
  • ทำไมหนี้จึงพุ่งได้ ถ้าจำกันได้ รัฐบาลได้ออกพ.ร.ก.เงินกู้ 2 ฉบับ ฉบับปี 2563 จำนวน 1 ล้านล้านบาท และฉบับปี 2564 จำนวน 5 แสนล้านบาท ส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศสูงขึ้นถึง 62.76% ต่อ GDP ข้อมูลจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะว่า สูงเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 15 ปี
  • อย่างไรก็ตาม ตัวเลขหนี้สาธารณะนี้ยังไม่เกินกรอบวินัยการเงินการคลัง เพราะมีการแก้ไขเพดานหนี้ใหม่โดยคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐตามมาตรา 10 ของกฎหมายว่าด้วยวินัยกฎหมายการเงินการคลังที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นประธาน จากไม่เกิน 60% ต่อ GDP ขยายไปเป็น 70% เมื่อ 16 เม.ย. 2563 โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามประกาศนโยบายการเงินการคลังที่ส่งผลกระทบต่อการจัดงบประมาณในปีต่อๆ มา ดังนี้

1. การแก้ไขสัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองใหม่เพื่อกรณีฉุกเฉิน จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3.5% ของงบประมาณ เปลี่ยนเป็นไม่เกิน 7.5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลางจึงกระโดดขึ้นเป็น 2 เท่าทันที

จากงานศึกษาโดยทั่วโลกพบว่าสัดส่วนงบกลางไม่ควรเกิน 3-5% ของงบประมาณ แต่ของเราอยู่ที่ 18.6% (อย่างไรก็ดี งบกลางมีการผูกพันไปแล้วเป็นสิบรายการ เหลือรายการเดียวที่เอาไว้ใช้ฉุกเฉิน)

2.การแก้ไขสัดส่วนการชำระคืนเงินต้น จากเดิมตั้งไว้ให้ชำระไม่น้อยกว่าร้อย 2.5 ของงบประมาณ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ มีการแก้ไขไม่น้อยกว่า 1.5% ดูเสมือนว่าวิธีการดังกล่าวจะเป็นผลดีกับรัฐบาล แต่ข้อเท็จจริง เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือทางการคลังของรัฐบาล ส่งผลให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น

281557028_1015173955792003_2701636890507697605_n.jpg
  • งบประมาณราว 40% เป็นงบบุคลากร
  • ในงบบุคลากร ตัวเลขที่สูงสุด คือ เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ราว 3 แสนกว่าล้าน สูงเท่ากับกระทรวงศึกษาธิการ
  • งบเกี่ยวกับบำนาญเพิ่มขึ้น 2 เท่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา
  • ข้าราชการเกษียณปัจจุบันมีราว 8 แสนคนและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปี 2580 งบก้อนนี้จะกลายเป็น 8 แสนล้าน
  • บำนาญข้าราชการรวมแล้ว 322,790 ล้านบาท เทียบกับบำนาญประชาชนรวมแล้ว 71,407 ล้านบาท
282137250_1273849089812945_3797596393881567433_n.jpg
  • ทุกปีบริบทเปลี่ยน โจทย์เปลี่ยน ความท้าทายเปลี่ยน แต่การจัดงบตั้งแต่ปี 2562-2566 ยังเหมือนเดิม

-บุคลากรเกือบ 40%

-ชำระหนี้+ดอกเบี้ยเกือบ 10%

-อุดหนุน อปท.ราว 10%

-สวัสดิการตามกฎหมายราว 7%

-ภาระผูกพันราว 5%

-พื้นที่ว่างทางการคลังสำหรับการบริหารหรือทำสิ่งใหม่ประมาณ 29%

  • หากดูประเภทงบ จะพบว่าเป็นงบลงทุน 21.82% หรือ 6.95 แสนล้าน เท่ากับวงเงินกู้ที่ตั้งไว้ว่าจะกู้ อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดพบว่า งบลงทุนที่แท้จริงมีเพียง 15.46% อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
  • หลายหน่วยงานของบต่อเนื่องลักษณะเดียวกันตั้งแต่ปี 2560 เรื่อยมาจนปี 2566 แม้แต่งาน Expo สนับสนุน Start Up ก็มีการขอจัดในปีโควิดหนัก 2563 ยังไม่นับงบอบรมและงบที่ปรึกษาที่ขอไว้เกือบ 1,000 ล้านบาท
  • การจัดสรรงบประมาณในส่วนของสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมแล้วมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ถูกขอจัดสรรโดยหน่วยงานต่างๆ รวมแล้ว 30,537 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 ประเภท

-จัดสรรผ่านหน่วยรับงบของส่วนราชการในพระองค์เป็นจำนวน 8,611 ล้านบาท

-จัดสรรผ่านโครงการพิทักษ์รักษาเทิดทูนสถาบันฯ และโครงการตามพระราชประสงค์อีก 660 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5%

-จัดสรรผ่านโครงการถวายความปลอดภัย 4,933 ล้านบาท

-จัดสรรผ่านโครงการหลวง และโครงการในพระราชดำริอย่างน้อย 13,533 ล้านบาท

-จัดสรรผ่านโครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวงอื่นๆ อีก 2,799 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 28%

  • ในจำนวนทั้งหมดนี้ มีส่วนที่ลดลงคือ งบประมาณโครงการถวายความปลอดภัยซึ่งลดไป 28% แต่เป็นเพราะ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไม่มีการจัดตั้งเพื่อซื้อ เฮลิคอปเตอร์ หรือพระราชพาหนะเข้ามาแล้ว
  • ในส่วนโครงการในพระราชดำริ ถึงแม้ว่าปีนี้จะมีการขอจัดสรรเข้ามาลดลงไป 11% แต่พบปัญหาว่า การตั้งงบที่เกี่ยวข้องโครงการในพระราชดำริ ซึ่งเป็นหน่วยรับงบจำนวนหลายหน่วยที่ทำโครงการที่มีชื่อเดียวกัน แต่กลับต่างคนต่างทำ เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่มีการจัดตั้งอยู่ใน 8 กระทรวง หรือโครงการเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ที่กระจายอยู่ใน 51 หน่วยงาน จึงเสนอว่าควรมอบหมายโครงกาารเหล่านี้ ให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งดูแล เพื่อให้โครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยประหยัดงบประมาณ 
285117023_375997334351944_6323973538642028037_n.jpg
  • การจัดซื้ออากาศยานไร้คนขับ MALE UAV ของกองทัพเรือ งบปี 2565 กำหนดวงเงินจัดซื้อ 4,070 ล้านบาท โดยระบุว่าเป็นระบบ ตัว UAV 3 เครื่องพร้อมติดตั้งระบบอาวุธ แต่ต่อมากลายเป็นซื้อได้แต่ UAV กับระบบควบคุม แต่ไม่มีอาวุธมาด้วย
  • ร่าง TOR ฉบับเดิม ระบุถึงระบบอาวุธด้วย แต่ก่อน TOR จะคลอด มี "เสี่ย..." ที่คุ้นเคยกับบิ๊กในกระทรวง และเป็นตัวแทนบริษัท มาวิ่งเต้นให้แก้ไข TOR ให้ไปซื้อ UAV ที่ไม่ติดอาวุธ เพราะบริษัทของเขาไม่สามารถเสนอราคาอาวุธได้เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตที่เป็นตัวแทนไม่อนุญาตขายอาวุธให้ประเทศไทย เมื่อแก้ TOR บริษัทไหนชนะราคาก็แล้วแต่ กองทัพเรือก็จะได้ UAV ที่ไม่มีอาวุธ บริษัทที่ชนะราคาแถม UAVที่ไม่มีอาวุธมาให้อีก 4 เครื่อง รวมเป็น 7 เครื่อง และลดราคาให้อีก 1,000 ล้าน เหลือ 3,000 ล้าน
  • ในเอกสารบรรยายสรุปของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) RTAF family of UAVs ระบุว่ามีความพร้อมในการวิจัย ผลิตอากาศยานไร้คนขับ ทั้ง UAV และ MALE UAV (แบบติดอาวุธ) หากเป็นอากาศยานระบบเดียวกับที่กองทัพเรือซื้อ 3 ลำจะคิดราคาเพียง 795 ล้านบาท หากเป็น 7 ลำก็จะใช้เงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท
  • วันนี้ตั้งงบมาซื้อาอาวุธอีกกว่าหมื่นล้าน ทั้งที่กระทรวงกลาโหมรู้ว่าเรามีความสามารถในการผลิต UAV ในประเทศ ทำไมไม่สั่งให้มีการจัดซื้อในประเทศ และส่วนต่างราคา 1,000 ล้านบาท เงินไปอยู่ที่ไหน
  • นอกจากนี้ในงบกระทรวงกลาโหม ยังระบุถึงเป้าหมายของกองทัพมีความพร้อมในการเผชิญภัยคุกคามทุกรูปแบบ ตั้งวงเงิน 7.8 หมื่นล้านบาท โดยโครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ กองทัพเรือมี 3.5 พันล้านบาท และกองทัพอากาศ 3.2 พันล้านบาท แม้กระทั่งกองบัญชาการกองทัพไทย ก็มีราว 4 ร้อยล้าน
  • กลาโหมให้ทหารไปทำทุกเรื่อง โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC วงเงินปี 2566 รวม 717 ล้านบาท และให้งบกับกองทัพเรือ โดยอ้างถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับ 13 หมุดหมายที่ 5 วงเงิน 5.9 แสนล้าน ทำเมืองอัจฉริยะ หมุดหมายที่ 8 วงเงิน 122 ล้าน คำถามคือทำไมจึงเป็นภารกิจกลาโหม
  • ในส่วนของงบผูกพัน กองทัพบกมีงบผูกพันปี 2566 จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 3,123 ล้านบาท กองทัพเรือ มีโครงการเสริมสร้างกำลังพลผูกพันตามสัญญา 11 โครงการ โดยไม่ระบุรายละเอียด ตั้งแต่ปี 2560-2573 รวม 50,000 ล้านบาท และมีโครงการที่จะเริ่มผูกพันใหม่ปี 2566-2568 รวม 2,500 ล้านบาท
  • แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะพยายามลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมลงในภาพรวม แต่งบในส่วนบุคคลากร งบเงินเดือนค่าตอบแทน ลดอย่างไรก็ลดไม่ลง เพราะกองทัพมีกำลังพลที่มากจนเกินไป มีนายพลเยอะเกิน ค่าเฉลี่ยงบประมาณด้านบุคลากรทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 37% เป็น 40% ขณะที่งบบุคลากรของกระทรวงกลาโหมเพิ่มจาก 45% เป็น 54% โดยเฉพาะกองทัพบกจาก 62% ดีดไป 77% เปรียบเทียบง่ายๆ คือ เงิน 100 บาทที่ให้กองทัพ เอา 77 บาทไปเป็นค่าบุคลากร เหลือแค่ 23 บาทเป็นงบประมาณเพื่อปรับปรุงพัฒนาด้านอื่น
279914251_491639952750454_5372539337063655295_n.jpg
  • งบประมาณใช้กับ กทม. 75% งบกลาง 17% จังหวัดอื่น 26% ดังนั้น ประชาชนในความหมายของนายกฯ ก็คือ คนกรุงเทพ นายทุน และข้าราชการ สะท้อนให้เห็นความไม่ยุติธรรมในการจัดงบประมาณ
  • รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง ถูกประมาณการไว้สูงเกินจริงเฉลี่ย 13% ทำให้รัฐอุดหนุนเงินน้อยลงเฉลี่ย 13% ทุกปี ยกตัวอย่างปี 2562 รายได้ท้องถิ่นทั้งหมดหายไปราว 1 แสนล้านบาท เพราะรัฐประมาณการรายได้ไว้สูงเกินจริง
  • ‘งบผ่านหัว’ เป็นงบที่แฝงอยู่กับงบที่ให้ท้องถิ่น โดยกระทรวงต่างๆ จะนำนโยบายใดๆ มาฝากไว้ให้ท้องถิ่นเป็นผู้จ่าย ยกตัวอย่าง งบปี 2566 มี ‘งบผ่านหัว’ ราว 1.4 แสนล้านบาท เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ 87,000 ล้านบาท เบี้ยคนพิการ 20,000 ล้านบาท เบี้ยผู้ติดเชื้อ HIV 585 ล้าน งบอาหารกลางวันเด็ก 22,000 ล้าน งบนมโรงเรียน 9,800 ล้าน เป็นต้น หากหัก ‘งบผ่านหัว’ ออก ท้องถิ่นเหลือรายได้ต่อรายได้รัฐบาลเพียง 23.9% ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ที่ 35%
  • หากท้องถิ่นได้เงินส่วนประมาณการรายได้ที่รัฐให้ขาดไป รวมกับงบผ่านหัวที่ไม่ต้องรับฝาก เฉลี่ยแล้วแต่ละท้องถิ่นจะได้เพิ่มขึ้น 30 ล้านบาท สามารถนำไปดำเนินนโยบายของตนเอง
  • ในญี่ปุ่นจะจัดงบ 70% ไปที่ท้องถิ่น และอีก 30% อยู่ส่วนกลาง
  • งบที่กระจายไปจังหวัด ผ่าน 3 ท่อ 1.ท่องบกระทรวงต่างๆ 2.ท่องบจังหวัดและกลุ่มจังหวัด 3.ท่องบท้องถิ่นที่ได้อุดหนุน ทั้งหมดนี้ซับซ้อน-ทับซ้อน ทำให้กำหนดทิศทางพัฒนาจังหวัดไม่ได้
  • ปี 2566 งบลทุนจำแนกตามพื้นที่รวมแล้ว 3.4 แสนล้าน พบว่า กระจุกตักอยู่ในกรุงเทพ 51,000 ล้าน งบสูงสุดคือ ก่อสร้างรถไฟฟ้าสีม่วง สีเหลือง 1.3 หมื่นล้าน, ซ่อมบำรุงอากาศยานหรือจัดกาเฮลิคอปเตอร์ให้บุคคลสำคัญ 1.4 พันล้าน, ค่าเวนคืนที่ดินค่าก่อสร้างทางหลวงเส้นพระรามสองและอื่นๆ 5,000 ล้าน, ป้องกันน้ำท่วม 2 พันล้าน สำหรับต่างจังหวัด งบลงทุนครึ่งหนึ่งกระจายผ่านกระทรวงคมนาคมและเกษตร เน้นการซ่อมสร้างถนนและระบบชลประทาน งบซ่อมมี 40% งบสร้าง 60%
  • ข้อเสนอ คือ กระจายงบและภารกิจให้ท้องถิ่น โดยแบ่งสัดส่วนงบเป็น ส่วนกลาง 50 ท้องถิ่น 50 บริการขั้นพื้นฐานยกให้ท้องถิ่นดูทั้งหมด และลดความเหลื่อมล้ำด้วยโมเดลการอุดหนุนแบบญี่ปุ่น คือ คำนวณรายจ่ายรายหัวที่ต้องใช้ x ประชากร - ด้วยรายได้ท้องถิ่นจัดเก็บได้เอง = ส่วนที่รัฐส่วนกลางอุดหนุน
282759268_538912277905658_3298865641836883537_n.jpg
  • จำนวนคนยากจนเพิ่มทำลายสถิติ การตรึง 'เส้นความยากจน' นั้นรัฐเพิ่มจากเกณฑ์รายได้ 2,600 บาทเศษต่อเดือน เป็น 2,700 เศษ เพื่อลดภาระรัฐบาลที่ต้องไปช่วยเหลือ ถ้าเทียบกับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันเทียบกันไม่ได้
  • จำนวนคนจนที่พ้นเส้นความยากจนปริ่มน้ำ มีรายได้เดือนละ 2,700 บาทเศษ มีอยู่ 4.8 ล้านคน แต่หากนับคนจนจริงจะพบว่ามีเกือบ 11 ล้านคน หรือดูจากการแจกบัตรพลังประชารัฐก็มีถึง 20 ล้านคน
  • ปี 2558-2561 คนจนเพิ่มขึ้น 1.85 ล้านคน จึงกล่าวได้กว่า คนจนเพิ่มก่อนวิกฤตโควิดแล้ว
  • ประชาชนหารายได้อย่างยากลำบาก แต่ค่าใช้เพิ่มขึ้นทุกด้าน คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารเฉลี่ยเพิ่ม 30-35% ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการเดินทางเฉลี่ยเพิ่ม 50% ต้นทุนการผลิตภาคการเกษตร เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 188%
  • ขณะที่ราคาผลผลิตตกต่ำหลายรายการ เช่น ราคาข้าวเปลือกเหนียว ปี 2562 อยู่ที่ 13,798 บาทต่อตัน ปี 2563 ลงมาที่ 10,071 บาท ปี 2564 ลงมาที่ 7,772 บาท ปี 2565 ขยับมาที่ 8,783 บาท ลำไยสดทั้งช่อ A ราคาต่อ ก.ก. ปี 2562 อยู่ที่ 26.31 บาท ปี 2563 อยู่ที่ 22.28 บาท ปี 2564 อยู่ที่ 21.65 บาท ปี 2565 อยู่ที่ 16.91 บาท
  • ธกส. ได้งบมาให้เกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติ เฉลี่ยแล้วรายละ 1,153 บาท กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีงบสนับสนุนเกษตรกรเฉลี่ยแล้ว 603 บาทต่อราย
  • ธกส.มีลูกหนี้ 4.8 ล้านราย ยอดหนี้รวม 1.6 ล้านล้าน หนี้เฉลี่ย 290,000 บาทต่อราย สหกรณ์การเกษตร มีลูกหนี้ 1 ล้านราย ยอดหนี้รวม 178,000 ล้าน หนี้เฉลี่ย 180,000 บาทต่อราย
  • จะเห็นว่าหนี้เกษตรกรสูงมาก จึงเสนอจัดสรรงบใหม่แก้หนี้เกษตรกร โดยให้เงินทุนปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร 25,000 ล้าน เริ่มต้นแก้หนี้เกษตรกรอายุ 70 ปีขึ้นไป 372,000 ราย เงินต้นคงค้าง 1 แสนล้านบาท และกลุ่มเกษตรกรที่หนี้เสียและกำลังจะเสียที่ดิน แล้ว้ให้นำที่ดินส่วนหนึ่งมาให้เช่าปลูกไม้ยืนต้นมูลค่าสูง
  • วิกฤตด้านแรงงาน หากนับการว่างงานแอบแฝงจะไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน ไม่มีกระบวนการรองรับ แรงงานกลับต่างจังหวัด แต่ภาคการเกษตรไม่มีผลิตผลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สุดท้ายราคาสินค้าเกษตรก็ไม่ดี ต้นทุนก็สูง สัดส่วนแรงงานในระบบและนอกระบบเปลี่ยน แรงงานในระบบกำลังถ่ายโอนไปสู่แรงงานนอกระบบ และแทบไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ
  • จำนวนบัณฑิตจบใหม่ว่างงาน ไตรมาส 1 ปี 2563 มีประมาณ 1.5 แสนคน ไตรมาส 2 ปี 2563 มีประมาณ 2.3 แสนคน เพิ่มสูงสุดในไตรมาส 3 ปี 2564 มีประมาณ 2.7 แสนคน ก่อนที่ไตรมาส 4 ปี 2564 ลดมาที่ประมาณ 2.5 แสนคน
  • งบบริหาร EEC 11,000 ล้านบาท ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว คนรับผลประโยชน์ส่วนมากเป็นนายทุนต่างชาติ เทียบกับงบสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs ) ตั้งงบส่งเสริม 2,700 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่ 3 ล้านราย เฉลี่ยแล้วได้รายละ 900 บาท เป็นการละเลยทุนของคนตัวเล็กตัวน้อย โดยเฉพาะในระยะเฉพาะหน้าที่ต้องการการฟื้นฟูกิจการ
  • SMEs ในไทยมีอยู่ 3.07 ล้านรายครอบคลุม 13.9 ล้านคน ส่วนยอดหรือเกรด A ของเหล่า SMEs มีอยู่ 15% ที่พร้อมเดินหน้าหลังวิกฤตโควิด ส่วนอีก 85% หรือราว 2.6 ล้านคน เรียกว่าอยู่ในระดับพออยู่รอดได้เป็นรายวันรายเดือน และติดขัดไปต่อไม่ได้ เป็นกลุ่มที่น่าห่วง ช่วงโควิดการท่องเที่ยวโรงแรมหยุดชะงักและหมดทุน ช่วงฟื้นฟูนี้ ดูจากการจัดงบประมาณก็ยังมองไม่เห็นว่าเขาจะฟื้นฟูได้อย่างไร
  • ปี 2561 ธุรกิจ SMEs มีมูลค่ากว่า 7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 43% ของGDP ประเทศ เติบโต 0.8% (ภาคบริการ 44% ภาคการค้า 31.4% ภาคการผลิต 22.6%)
  • งบชายแดนใต้ 2566 แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ในแผนบูรณาการแก้ปัญหาชายแดนใต้ 6,200 ล้าน และงบของกระทรวงต่างๆ รวมแล้ว 22,000 ล้าน หากนับตั้งแต่ปี 2547 จะพบว่ารัฐใช้งบแก้ปัญหาชายแดนใต้ไปแล้วรวม 5.1 แสนล้าน
  • ขณะที่งบลงไปในพื้นที่มาก แต่สัดส่วนคนจนในจังหวัดชายแดนใต้กลับสวนทาง ปี 2563 การศึกษาของ PBO พบว่า จังหวัดปัตตานีคือพื้นที่ที่คนยากจนที่สุด รองมาคือ นราธิวาส
  • เจาะไปในแผนบูรณาการจังหวัดชายแดนใต้ตั้งงบ 6,251 ล้าน แบ่งเป็นรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนครึ่ง-ครึ่ง หน่วยงานที่ได้รับงบมากที่สุดคือ มหาดไทย 2,450 ล้าน กอ.รม. 1,448 ล้าน สำนักนายกฯ 1,514 ล้าน เน้นเรื่องความมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง
  • กอ.รมน.ตั้งงบผิดประเภท ปีนี้ได้รับงบ 5,000 กว่าล้านบาท โดยไปจัดสรรอยู่ในงบรายจ่ายอื่นๆ กว่า 90% เป็นการเลี่ยงข้อกฎหมายและตรวจสอบไม่ได้
  • กอ.รมน.มีการจัดตั้งงบผูกพันกล้อง CCTV ตั้งแต่ปี 2566-2570 วงเงิน 610 ล้านบาท ถ้านับย้อนไปถึงปี 2560 จะพบว่าซื้อไปแล้ว 620 ล้าน มีกล้องในพื้นที่ 6,600 กว่าตัว แต่เหตุการณ์ที่ตากใบเมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏว่ากล้องวงจรปิดใช้การไม่ได้ มีการถอดออกก่อนเกิดเหตุหลายวัน
  • นอกจากนี้ กอ.รมน.ยังมีโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่น้ำโกลก ปีที่แล้วก็มี เป็นงบผูกพัน 519 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีการก่อสร้างตลิ่งของกรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อสร้างตลิ่งรวมแล้ว 50 กว่าแห่ง
  • งบด้านการข่าวกรองในพื้นที่ชายแดนใต้ รวม 6 หน่วยงานตั้งไว้ 739 ล้านบาท หน่วยงานที่ได้รับเยอะที่สุดคือ กอ.รมน. 552 ล้านบาท
  • ขณะที่งบเจรจาด้านสันติภาพ ปี 2565 ตั้งไว้ 6 ล้านกว่า ปีนี้เพิ่มเป็น 9 ล้านเศษเท่านั้น
280996366_1024774015095853_8860507482234349123_n.jpg
  • รายได้รัฐบาลประมาณการอย่างหนึ่ง แต่จัดเก็บได้จริงโดยส่วนใหญ่ต่ำกว่าประมาณการ บางปี 2-3 แสนล้าน
  • เมื่อรายได้หลุดเป้าก็ทำให้ต้องกู้เพิ่ม ในงบประมาณปี 2564 รัฐบาลกำหนดว่าจะกู้ 5.7 แสนล้าน แต่เมื่อรายได้ต่ำกว่าเป้าก็ต้องกู้เพิ่มหลัง พ.ร.บ.งบประมาณผ่านสภา ปีนั้นการกู้กลายเป็น 8.45 แสนล้าน
  • งบบูรณาการที่มีสูงถึง 218,477 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.86 ของงบประมาณรายจ่าย ถูกซ่อนไว้ในกระทรวงต่างๆ และไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถวัดความสำเร็จแต่ละโครงการได้ชัดเจน
  • หันดูกระทรวงวัฒนธรรม ในส่วน soft power ดูแล้วพบว่ามีงบโครงการภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ 60 ล้าน ตัวชี้วัดคือ คนดูแค่ 50,000 คน ส่วนใหญ่เป็นการส่งเสริมเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ความหลากหลาย การอนุรักษ์วัฒนธรรม และโดยเฉพาะประเด็นคุณธรรมจริยธรรม
  • กระทรวงวัฒนธรรมได้รับงบรวม 6,700 ล้านบาท แต่มีงบในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่ถึง 300 ล้านบาท ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัลที่ต้องพัฒนาเรื่องนวัตกรรมได้งบไม่ถึง 300 ล้านบาท
  • การทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Content เกาหลีใต้สนับสนุนงบเรื่องนี้ 15,000 ล้าน ประเทศไทยให้สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 301 ล้าน ไนจีเรียน่าจับตา ใช้เงินกู้สนับสนุนเรื่องนี้ 15,000 ล้าน
  • ทั้งนี้ เกาหลีใต้เริ่มทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตั้งแต่ปี 1994 หลังเห็นผลสำเร็จของจูลาสสิคพาร์คที่รายได้มากกว่าการผลิตรถยนต์ 100 คัน และทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเกาหลีโตเป็นอันดับ 7 ของโลก มูลค่า 4 พันล้านบาท จ้างงาน 7 แสนตำแหน่ง ไนจีเรีย อุตสาหกรรมภาพยนตร์ใหญ่อันดับ 2 ของโลกด้านปริมาณ รองจาก Bollywood ของอินเดีย

อ่านทั้งหมดได้ที่ https://web.facebook.com/VoiceOnlineTH/posts/10162895756834848?_rdc=1&_rdr