วันที่ 16 พ.ย. ที่บริเวณองค์การสหประชาชาติ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย นำโดย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้อง รัฐบาลไทยหารือกับประเทศสมาชิกเอเปคเพื่อยุติการนองเลือดในประเทศเมียนมา โดยมี นลินี มหาขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน เป็นผู้แทนรับเรื่อง
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย เห็นว่าในการจัดการประชุมเอเปคประจำปี 2022 (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) รัฐบาลไทยในฐานะเจ้าภาพควรมีบทบาทสำคัญในการหารือเพื่อยุติการนองเลือดในประเทศเมียนมาและแสดงพลังในการยืนหยัดเคียงข้างประชาชนในประเทศเมียนมา
ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงได้เปิดให้มีการรณรงค์ในประเด็นดังกล่าว ผ่านการลงชื่อบนเว็บไซต์ Change.org ระหว่างวันที่ 21 ต.ค. 2565 ถึง 15 พ.ย. 2565 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในการรณรงค์ครั้งนี้ มีผู้ร่วมลงชื่อเรียกร้องทั้งสิ้น 2,129 รายชื่อ โดยมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. รัฐบาลไทยต้องใช้วิธีการทุกอย่างที่เป็นไปได้ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมระหว่างชายแดน
2. ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน กลุ่มพหุภาคี และองค์การระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานในสหประชาชาติ
3. เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและด้านมนุษยธรรมในเมียนมา รับผู้ขอลี้ภัยและประกันการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในประเทศไทย รวมทั้ง ละเว้นจากการเนรเทศหรือการส่งกลับของผู้ขอลี้ภัยชาวเมียนมา และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ขอลี้ภัย และหยุดการดำเนินคดีกับพวก เขาระหว่างพำนักในประเทศไทย
4. หน่วยงานของรัฐต้องออกประกาศระเบียบหรือกฎกระทรวงอย่างเป็นทางการแก่ผู้ประกอบการธุรกิจและรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบของบริษัทอย่างเต็มที่ที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ กองทัพเมียนมา และหน่วยงานในเครือในฐานะผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ด้าน ปิยนุช เน้นย้ำว่า ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือต่อนานาประเทศ สาเหตุที่มารวมตัวกันบริเวณด้านหน้าอาคารองค์การสหประชาชาติ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยประเทศหนึ่ง แต่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญในการหารือและหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังได้แล้ว
"เหลือเวลาในการประชุมเอเปคอีกไม่กี่วัน เราจึงต้องกระทุ้งว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเลิกปิดตา และทำเป็นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คุณประชุมในโรงแรม หรือพื้นที่หรูหรา แต่คนที่ล้มตายเป็นจำนวนมากก็ยังมีอยู่ คุณต้องแสดงภาวะผู้นำ เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน รัฐบาลไทยจำเป็นต้องพูดเรื่องนี้ได้แล้ว"
เมื่อถามถึงท่าทีของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือ อาเซียน ปิยนุช มองว่า อาเซียนเองได้ถูกประณามบ่อยครั้งว่าไม่สนใจกิจการภายในประเทศ ถึงเวลาแล้วที่อาเซียนจะต้องแสดงจุดยืน ว่าอาเซียนสนใจในสิทธิมนุษยชนบ้างเหมือนกัน จึงควรเป็นอีกหนึ่งเสียงที่หยิบยกปัญหาความรุนแรงในเมียนมาร์เข้ามาในที่ประชุมเอเปค
"หากอาเซียนไม่สนใจ และปล่อยโอกาสนี้หลุดลอยไป ก็ย้ำให้เห็นถึงความไร้อารยะ และไม่สนใจในข้อเรียกร้องหรือฉันทามติ 5 ข้อ ที่อาเซียนเคยทำไว้เมื่อ เม.ย. ปี 2564 คือพูดไปโดยไม่สนใจ สักแต่จะพูด" ปิยนุช ระบุ