ไม่พบผลการค้นหา
‘หนังสือเดินทางไทย ไม่ต้องขอวีซ่า สามารถไปได้หลายประเทศ’ คือ นโยบายที่พรรคเพื่อไทยประกาศ เพื่อการคืนศักดิ์ศรีของประเทศบนเวทีโลก ในการจัดงาน "คิดใหญ่ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน" เปิดนโยบายพรรค เมื่อช่วงวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา สร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้ที่ได้ยินการแถลงนโยบายนี้จากปากของ เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย

บทบาทในเวทีโลกของประเทศไทย จะด้วยทั้งการเกิดขึ้นของสงครามยูเครน ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ การทำรัฐประหารในเมียนมา ตกต่ำลงอย่างรุนแรง ภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย จากการไม่มีนโยบายต่างประเทศที่มีความเป็นตัวของตัวเอง และเลือกจะเอนเอียงแนวนโยบายของตัวเองไปยังชาติค่ายอำนาจนิยม เช่น จีน และรัสเซีย

ความตกต่ำทางนโยบายระหว่างประเทศของไทย ยังหมายรวมถึงการเปิดการเจรจา จะด้วยบนเวทีทวิภาคีหรือพหุภาค เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกทางการค้า ตลอดจนการเดินทางเข้าพรมแดนในแต่รัฐ กลับเลวร้ายลงอย่างน่าใจหาย นับตั้งแต่การทำรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ที่กำลังจะต่อชะตากรรมตัวเอง เพื่อพยายามเป็นนายกรัฐมนตรีต่อให้ได้อีกอย่างน้อย 2 ปี


พาสปอร์ตไทยในปี 2566 เข้าได้แค่ 79 ปลายทาง
336598649_232461679175801_6876755402536844133_n.jpg

จากข้อมูลของดัชนี Henley Passport (HPI) ของ Henley & Partners บริษัทที่ปรึกษาด้านสัญชาติชั้นนำระดับโลก ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ระบุว่า ประเทศไทยถูกจัดลำดับความทรงอิทธิพลของพาสปอร์ตอยู่ในอันดับที่ 67 ของโลก ด้วยความสามารถในการเข้าถึงปลายทางได้ทั้งหมด 79 ปลายทาง ต่างจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ในอันดับที่ 1 ที่สามารถเดินทางเข้าพรมแดนต่างๆ ได้ถึง 193 ปลายทาง

หากเปรียบเทียบระดับการมีอิทธิพลของพาสปอร์ตไทยในอันดับที่ 67 ของโลก ที่สามารถเดินทางเข้าไปยัง 79 ปลายทางได้ ยังมีอีก 2 ประเทศที่อยู่ในสถานะเดียวกันกับไทย คือ เบลารุส ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการแห่งสุดท้ายของทวีปยุโรป และโบลิเวีย ประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ ซึ่งยังคงมีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ต่างอะไรไปจากประเทศไทย

จากข้อมูลของเว็บไซต์ Passport Index เปิดเผยว่า ในปี 2566 ผู้ถือพาสปอร์ตไทยสามารถเดินทางเข้าไปยังปลายทาง โดยไม่ต้องขอวีซ่าได้ทั้งหมด 37 ปลายทาง และสามารถขอ Visa on Arrival (VOA) เมื่อเดินทางถึงปลายทางที่ 53 ปลายทาง และขอการเข้าเมืองแบบระบบ ETA ได้ทั้งหมด 4 ปลายทาง แต่ไทยกลับต้องขอวีซ่าทั้งหมด 104 ปลายทาง ส่งผลให้ไทยสามารถเดินทางไปถึงที่ไหนในโลกก็ได้เพียงแค่ 47% ของปลายทางทั้งหมดเท่านั้น

หากพิจารณาในกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยและทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จะพบได้ว่า ประเทศไทยต้องขอวีซ่าในการเดินทางเข้าประเทศเหล่านี้ทั้งหมด ยกเว้นประเทศญี่ปุ่นที่ไม่ต้องขอวีซ่าในการเข้าประเทศเป็นเวลา 15 วัน ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2556 นอกจากนี้ ไทยยังคงต้องขอวีซ่าการเดินทางเข้าประเทศจีนด้วยเช่นกัน

ในทางตรงกันข้าม ปลายทางที่ไทยสามารถเดินทางเข้าได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า เพียงแค่การพกพาสปอร์ตอย่างเดียวนั้น มีปลายทางหลักๆ เช่น ฮ่องกง อินโดนีเซีย ลาว มาเก๊า มาเลเซีย  ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ตุรเคีย เวียดนาม ซึ่งสามารถเดินทางเข้าได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า 30 วัน เช่นเดียวกันกับ บรูไน กัมพูชา เมียนมา และไต้หวัน ซึ่งคนไทยสามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเป็นเวลา 14 วัน


ดูเขาสะท้อนใจเรา ญี่ปุ่น-สิงคโปร์ พาสปอร์ตทรงอิทธิพลสุดในโลก

เว็บไซต์ Passport Index เปิดเผยว่า ประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์มีคะแนนความคล่องตัวอยู่ที่ 172 และ 171 ตามลำดับ โดยผู้ถือพาสปอร์ตญี่ปุ่นสามารถเดินทางไปไหนมาไหนโดยไม่ต้องขอวีซ่าทั้งหมด 113 ปลายทาง และ 125 ปลายทางในส่วนของสิงคโปร์ ผู้ถือพาสปอร์ตทั้ง 2 ประเทศแห่งนี้สามารถเดินทางไปไหนก็ได้ในมุมโลกใบนี้คิดเป็น 86% ของปลายทางทั้งหมด

นับตั้งแต่มีการจัดอันดับดัชนีพาสปอร์ตทรงอิทธิพลในองค์กรต่างๆ นับทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งญี่ปุ่นและสิงคโปร์ไม่เคยหลุดออกจาก 10 ประเทศแรกที่มีพาสฟอร์ตทรงอิทธิพลที่สุดในโลก สิ่งสำคัญที่ทำให้พาสปอร์ตของทั้ง 2 ประเทศทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกหนีไม่พ้น "ความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างความแข็งแกร่งของหนังสือเดินทาง และการเข้าถึงเศรษฐกิจโลก"

ตัวอย่างเช่น พาสปอร์ตของญี่ปุ่นสามารถเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้ทั้งหมด 193 แห่งโดยไม่ต้องใช้วีซ่า ซึ่งคิดเป็น 98% ของพื้นที่เศรษฐกิจโลก ในอีกด้านหนึ่ง พลเมืองของประเทศที่อยู่ในอันดับต่ำสุดของดัชนี เช่น อัฟกานิสถาน อิรัก และซีเรีย ซึ่งมีคะแนนการเข้าปลายทางโดยไม่ต้องขอวีซ่าไม่เกิน 30 ปลายทาง 

ต่างปิดโอกาสต่างๆ สำหรับการเคลื่อนย้ายและการเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติ ทั้งนี้ อัฟกานิสถานเป็นประเทศพาสปอร์ตทรงอิทธิพลต่ำสุดในอันดับที่ 110 ซึ่งสามารถเข้าได้ 27 ปลายทาง


เพื่อนบ้านอาเซียนอยู่ตรงไหนกันบ้าง

จากดัชนี HPI มาเลเซียเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียน ที่มีอิทธิพลของพาสปอร์ตรองลงมาจากสิงคโปร์ ในอันดับที่ 14 ซึ่งสามารถเดินทางเข้าปลายทางได้ทั้งหมด 180 ปลายทาง ตามมาด้วยบรูไนในอันดับที่ 23 ที่ 167 ปลายทาง สูงกว่าไทยราว 50-60 อันดับ ซึ่งหนีไม่พ้นเงื่อนไขของการเอื้ออำนวยในการเคลื่อนตัวทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้พลเมืองของทั้งสองประเทศไปไหนมาไหนได้กว้างไกลกว่าคนไทย

อย่างไรก็ดี อินโดนีเซียมีอันดับความทรงอิทธิพลของพาสปอร์ต ที่ต่ำกว่าไทยในอันดับที่ 73 ของโลก ด้วยการเข้าถึงปลายทางได้ทั้งหมด 72 ปลายทาง ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ในอันดับ 78 ที่ 67 ปลายทาง เวียดนามอันดับ 89 ที่ 55 ปลายทาง กัมพูชาอันดับ 80 ที่ 54 ปลายทาง ลาวอันดับ 94 ที่ 50 ปลายทาง และเมียนมาอันดับ 97 ที่ 47 ปลายทาง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่ประสบกับปัญหาสิทธิมนุษยชน และความเป็นประชาธิปไตยที่ตกต่ำไม่ต่างอะไรไปจากไทย

สถานการณ์พาสปอร์ตของเมียนมายังคงเลวร้าย หลังจากการถูกทำรัฐประหารเมื่อ 2 ปีก่อน โดยปัจจุบันนี้ ผู้ถือพาสปอร์ตเมียนมาสามารถเดินทางเข้าประเทศอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเพียงแค่ 12 ประเทศ ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกันเอง