ภายหลังสภารัสเซียเสนอมาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาเพื่อเสริมความมั่นคงของอธิปไตยทางอินเทอร์เน็ตในประเทศ ล่าสุดวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ลงนามในกฎหมายฉบับนี้แล้วเมื่อวันพุธที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา
ฝ่ายนิติบัญญัติของรัสเซียยืนยันว่ากฎหมายใหม่นี้จำเป็นต่อการรักษาความปลอดภัยทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของรัสเซีย และเป็นการตอบโต้แผนปฏิบัติการความมั่นคงทางไซเบอร์ของสหรัฐฯ แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ถูกวิจารณ์จากคนในประเทศว่าเนื้อหามีความคลุมเครือ และเป็นการเพิ่มอำนาจการสอดส่องและเซ็นเซอร์เนื้อหาในโลกออนไลน์ให้รัฐบาลจำกัดการสื่อสารและการเข้าถึงเนื้อหาของคนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจจากศูนย์วิจัยสาธารณะมติรัสเซีย (VTsIOM) ระบุว่า ชาวรัสเซีย 52 เปอร์เซ็นต์ คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ขณะที่ 23 เปอร์เซ็นต์���ห้การสนับสนุนด้วยความเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตควรจะถูกจำกัดด้วยพรมแดนของประเทศ
กฎหมายระบุว่าในกรณีที่เกิดการโจมตีทางไซเบอร์ หรือในเหตุการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ รัสเซียจะตัดขาดจากเซิร์ฟเวอร์อินเทอร์เน็ตทั้งหมดนอกประเทศ และเปลี่ยนไปใช้ รูเน็ต (Runet) ระบบอินเทอร์เน็ตของรัสเซีย ซึ่งทำงานบนเซิร์ฟเวอร์ในประเทศของรัสเซียเอง ซึ่งจะประกันว่าอินเทอร์เน็ตภายในรัสเซียจะยังคงสามารถใช้งานได้
ในอีกนัยหนึ่งคือเมื่อทางสภาเห็นว่าการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตจะเป็นประโยชน์ บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะถูกบังคับให้ตัดสัญญาณจากเซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ แล้วเข้าถึงเว็บไซต์ผ่านระบบชื่อโดเมน (domain name system: DNS) ของรัสเซียเองแทน เป็นการรวมศูนย์การควบคุมการรับส่งข้อมูลอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้รัฐบาลสอดส่องและเซนเซอร์ได้ว่าจะให้ชาวรัสเซียเข้าถึงข้อมูลจากเว็บไซต์ใดได้บ้าง
สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นที่กังขาคือนี่อาจเป็นเพียงท่าทีทางการเมืองมากกว่ามาตรการในเชิงปฏิบัติที่ทำได้จริง แต่ก็มีรายงานของมอสโคว์ไทม์ส อ้างว่ารัสเซียมีการทดสอบการตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากเวิลด์ไวด์เว็บแล้ว ทว่าทุกอย่างจะกลับมาออนไลน์ตามปกติภายใน 30 นาที
หลังการลงนามของปูตินแล้ว กฎหมายฉบับนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน 2562
ที่มา The Moscow Times / CNA / Forbes