นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนชาวสวนผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งขณะที่มีรายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า ในปี 2563 ยังไม่มีคำสั่งซื้อผลไม้ไทยจากต่างประเทศเข้ามา โดยเฉพาะในจีน ฮ่องกง และเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดส่งออกผลไม้หลักของไทย
ขณะที่ช่วงต้นฤดูกาลตั้งแต่เดือน เม.ย. - พ.ค. จะเริ่มมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่า 2 แสนตัน ดังนั้นเพื่อป้องกันผลกระทบทางด้านราคาจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการเพื่อเข้าไปดูแลเกษตรกรไม่ให้ได้รับผลกระทบหนัก
เบื้องต้นจะมีการขอจัดสรรงบกลางเพื่อบริหารจัดการผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ 90 แห่งทั่วประเทศ วงเงิน 414.20 ล้านบาท เพื่อเข้าไปกระตุ้นตลาดผลไม้จำนวน 80,000 ตัน หรือประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณผลผลิตล็อตแรกที่เริ่มออกสู่ตลาด โดยให้สหกรณ์ต้นทางใช้เป็นค่าบริหารจัดการผลไม้ กิโลกรัมละ 1 บาท ค่าขนส่ง จากแหล่งรวบรวมไปสหกรณ์ปลายทาง กิโลกรัมละ 2 บาท ค่าจัดจัดซื้อบรรจุภัณฑ์ เช่น ตะกร้า กล่อง จำนวน 3.5 ล้านใบ และค่าบริหารจัดการของสหกรณ์ปลายทางเพื่อกระจายผลไม้สู่ผู้บริโภคในพื้นที่ กิโลกรัมละ 50 สตางค์ ซึ่งการเข้าไปกระตุ้นตลาดครั้งนี้จะใช้เงินช่วยเหลือเกษตรกรเฉลี่ย 4.06 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ในจังหวัดใหญ่ เช่น นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ สงขลา สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ รวม 16 จังหวัด และระดับอำเภอ 824 อำเภอ นอกจากนี้จะให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละหนึ่งให้สหกรณ์กู้ยืมไปเป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมผลไม้จากสหกรณ์ในฤดูกาลปี 2563
สำหรับในปี 2563 กระทรวงเกษตรฯ คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีปริมาณ ผลไม้ออกสู่ตลาดรวม 3,072,591 ตันโดยรวมทั้ง ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ ลองกอง และลิ้นจี่ ในจำนวนนี้ผลผลิตสำคัญคือ ทุเรียน ลำไย และมังคุด จะมีปริมาณมากกว่าร้อยละ 84 ของปริมาณผลไม้ทั้งประเทศ ซึ่งจากข้อมูลการส่งออกผลไม้ย้อนหลัง 3 ปีตั้งแต่ 2560-2562 ประเทศและเขปกครองหลักที่สั่งซื้อผลไม้ของไทย คือ จีน ฮ่องกง และเวียดนาม รวม 1,324,637 ตัน โดยในจำนวนนี้ส่งออกไปจีน 570,833 ตัน ฮ่องกง 114,260 ตัน และเวียดนาม 639,545 ตัน