สถานะ ส.ส.และรัฐมนตรีของอดีตแกนนำ กปปส. ประกอบด้วย ชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ อิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ที่เพิ่งถูกศาลอาญามีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 ให้จำคุกในคดีเป็นแกนนำ กปปส.ชุมนุมเมื่อปี 2556-2557 ในความผิดอย่างน้อย 9 ข้อหา ทั้งเป็นกบฏ ขัดขวางการเลือกตั้ง เป็นต้น
โดยศาลอุทธรณ์ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 800,000 บาท เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2564
หากดูตามข้อกฎหมายในรัฐธรรมนูญแล้วความเป็นรัฐมนตรีของ 'พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์' รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) 'ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ' รมว.ศึกษาธิการ และ 'ถาวร เสนเนียม' รมช.คมนาคม จะต้องพ้นจากรัฐมนตรีทันที
เพราะความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษเว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
สำหรับสถานะ ส.ส.นั้น มี ส.ส. 3 คน คือ 'ณัฏฐพล' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ 'อิสสระ สมชัย' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ 'ชุมพล จุลใส' ส.ส.ชุมพร เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกศาลอาญามีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี
3 ส.ส.จึงเข้าลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกภาพ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (4) เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
ในขณะที่ 2 รัฐมนตรีที่เป็นสถานะ ส.ส.นั้น คือ 'พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ 'ถาวร เสนเนียม' ส.ส.สงขลา เขตเลือกตั้งที่ 6 พรรคประชาธิปัตย์
ล่าสุด 'ถาวร' ยืนยันข้อกฎหมายว่าตัวเองยังไม่พ้นความเป็น ส.ส.
โดย 'ถาวร' ย้ำว่าตนยังมีคุณสมบัติความเป็นส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (13) ที่กำหนดว่าสมาชิกภาพของส.ส.เมื่อต้องเป็นคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ส่วนที่มีบางคนตีความเรื่องลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) ที่ระบุว่าต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาลนั้น ที่จริง ถ้าเป็นการถูกจำคุก เพียง 1 ชั่วโมงแล้วต้องขาดคุณสมบัติความเป็นส.ส. จนนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้รัฐเกิดความเสียหายจากการต้องเสียเงินหลายสิบล้านบาทสำหรับการจัดการเลือกตั้งดังกล่าว
“กรณีของผมจะถูกนำไปเทียบกรณีของ นวัธ เตาะเจริญสุข อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ เพราะศาลพิพากษาไม่ให้ นวัธได้รับการประกันตัว ทำให้ไม่สามารถมาปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ได้ จึงต้องพ้นจากสภาพความเป็นส.ส. ทั้งนี้ผมไม่ได้รู้สึกเสียดายหรือหวงตำแหน่งส.ส. แต่มีความเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ และถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สภาผู้แทนราษฎร หรือองค์กรที่มีอำนาจ ได้ตัดสินถึงที่สุดแล้ว ผมพร้อมยอมรับ” ถาวร กล่าว
ประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวจึงทำให้ กกต.ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสั่งให้มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เกิดขึ้นหรือไม่ จากกรณีที่ ส.ส.สาย กปปส.ถูกคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังโดยหมายของศาล และต่อมาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
กรณีนี้มีความเป็นไปได้ที่ กกต.จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความตามสถานะ ส.ส.ของ ส.ส.ที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคท้ายให้ กกต.ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
เช่นเดียวกับสถานะความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคท้ายก็ให้อำนาจ กกต.ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีได้เช่นกัน
ยิ่งดูความเห็นข้อกฎหมายของ 'สมชัย ศรีสุทธิยากร' อดีต กกต.ที่ตีความว่ายกกรณี 3 กกต.ที่เคยถูกตัดสินจำคุกเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2549 คนละ 4 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปีด้วยข้อหาจัดการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที โดยถูกคุมขังเป็นเวลา 3 วัน
ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 137(4) กำหนดว่า คนที่จะเป็น กกต. ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 109 (4) ที่เขียนว่า "ต้องคำพิพากษาจำคุกและถูกควบคุมโดยหมายศาล"
นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไม กกต.ทั้ง 3 คนในขณะนั้นต้องพ้นจากตำแหน่งทันที เมื่อศาลส่งเข้าเรือนจำ ด้วยเหตุขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ และมีการสรรหา กกต.ชุดใหม่มาทำงานต่อโดยเริ่มงานตั้งแต่ 20 ก.ย. 2549
'สมชัย' ยกข้อความในมาตรา 109 (4) ของรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้เป็น ส.ส. ซึ่งเป็นเนื้อหาเดียวกับ มาตรา 98(6) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นเมื่อ ส.ส. และรัฐมนตรี ถูกส่งเข้าเรือนจำ เพียงวันเดียวก็หลุดจากตำแหน่ง
"ทบทวนความจำอีกนิด คดี กกต.ชุดที่ 2 ติดคุก และพ้นตำแหน่งทันที คนยื่นฟ้องชื่อ ถาวร เสนเนียม" สมชัย ระบุ
ขณะเดียวกัน หากดูบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ก็ยังเปิดช่องทางให้ไม่ต้องส่งเรื่องตีความในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ
หากบรรดา ส.ส.สาย กปปส.ต้องการโชว์สปิริตอยู่เหนือกฎหมายด้วยการใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญ ลาออกจาก ส.ส. จะทำให้สถานะ ส.ส.สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (2)
ส่วนผู้มีสถานะรัฐมนตรีหากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายก็สามารถใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (2) ลาออกจากความเป็นรัฐมนตรี
เพียงเท่านั้น เรื่องก็ไม่ต้องส่งไปถึงชั้นศาลรัฐธรรมนูญตีความให้เสียเวลา เพียงเพราะถูกปล่อยตัวชั่วคราวหลังถูกศาลอาญาชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง