ไม่พบผลการค้นหา
ธงทอง จันทรางศุ อภิปรายบทบาทองค์กรตุลาการในสองระบอบการเมือง ก่อนและหลัง 2475 สถานะของตุลาการเป็นอย่างไร ย้ำหลัง 2475 ศาลทั้งหลายยังพิพากษาในพระปรมาภิไธย แต่ไม่ใช่การนำความกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชวินิจฉัย เผยสถาบันตุลาการกำลังถูกตั้งคำถาม จนอาจเสื่อมศรัทธาจากประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลถึงสถาบันกษัตริย์ด้วย

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาวิชาการสาธารณะหัวข้อ “บทบาทตุลาการกับการธำรงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมอภิปราย

บทบาทหน้าที่ขององค์กรตุลาการในระบอบประชาธิปไตย ผ่านมุมมองด้านประวัติศาสตร์กฎหมาย เป็นหัวข้อใหญ่ที่ธงทองพูดถึงวันนี้ 

องค์กรตุลาการก่อน 2745: จากรวมศูนย์ สู่การโอนอำนาจภายใต้เจ้าของเดิม

ธงทองระบุว่า ในสังคมทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ย่อมมีการบริหารจัดการภายในสังคมนั้น เพื่อให้มีกฎกติกา สร้างให้เกิดกระบวนการแก้ปัญหา มีการพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้า รวมทั้งมีกลไกในการระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งหมดนี้หากมองในระดับประเทศระบบนี้เรียกว่า อำนาจอธิปไตย แต่หากมองย่อให้เล็กลงเป็นระดับหมู่บ้าน ระบบเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นมาช้านานแล้ว เพราะย่อมจะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่ในการออกกฎกติกาของหมู่บ้าน มีคนที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อน แก้ปัญหา พัฒนา รวมทั้งวินิจฉัยข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น

สำหรับสังคมไทย ธงทองชี้ว่า เท่าที่พอมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในสมัยสุโขทัย หรือในอาณาจักรอื่นๆ ที่ถือเป็นนครรัฐร่วมยุคร่วมสมัยกัน จะพบว่า พระเจ้าแผ่นดินในอดีตมีภาระหน้าที่ตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งนับรวมถึงการตัดสินคดีด้วย ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองยังมีขนาดเล็กภาระกิจหน้าที่เหล่านี้ จะอยู่ในแวดวงที่จำกัด กล่าวคือ พระเจ้าแผ่นดินสามารถทำภาระกิจหน้าที่เหล่านี้ได้ด้วยพระองค์เอง 

แต่เมื่อปริมาณผู้คนมากขึ้น คดีความต่างๆ ความขัดแย้งต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้นตามไป จึงอาจจะเป็นสิ่งที่เหลือวิสัยหากจะทำตามแบบของ พ่อขุนรามคำแหง ต่อไป ซึ่งเมื่อใครมีปัญหาทุกข์ร้อนข้องใจก็สามารถไปลั่นกระดิ่งที่แขวนไว้

ธงทองชี้ว่า การขยายตัวของนครรัฐเป็นเหตุที่ทำให้พระเจ้าแผ่นดินทำหน้าที่ในทางตุลาการได้โดยพระองค์เองทั้งหมดไม่ได้ จึงมีการแต่งตั้งบุคคลขึ้นมาช่วยทำหน้าที่ แต่อำนาจโดยแท้ยังคงอยู่ที่พระเจ้าแผ่นดินอยู่ ในฐานะที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

อย่างไรก็ตามบทบาทการทำหน้าที่ตุลาการในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ธงทอง มองเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ และชวนพิจารณาคือ ภายใต้โครงสร้างลักษณะนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็มีแนวโน้มที่จะทำให้คนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมกับบทบาทหน้าที่นี้เพิ่มขึ้น 

เขายกตัวอย่างว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 เวลานั้นผู้ที่ทำหน้าที่ช่วยพระเจ้าแผ่นดินในเรื่องการตัดสินคดี คือ ตำแหน่ง “พระมหาราชครู” เกิดว่างลง รัชกาลที่ 4 จึงมีพระบรมราชโองการให้คนทั้งหลายสามารถเสนอชื่อผู้ที่ควรจะเป็นพระมหาราชครูคนใหม่ได้ เขาย้ำว่าแม้สุดท้ายการตัดสินใจจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นแนวโน้มของการพยายามสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วม 

ทั้งนี้เขาย้ำอย่างให้ความสำคัญต่อไปว่า ในเวลานั้นอำนาจตุลาการ ยังไม่ได้แยกออกมาเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจากอำนาจบริหาร อำนาจหน้าที่ในการจัดการข้อพิพาทจึงถูกแขวน ถูกฝากไว้กับ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เช่น กรมนา (กระทรวงเกษตรฯ ในปัจจุบัน) ก็สามารถดูแลจัดการกรณีพิพาทในเรื่องที่ดินได้

เมื่อถึงรัชสมัยของ รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการปฏิรูปบ้านเมืองหลากหลายด้าน ธงทองชี้ว่า ช่วงเวลานี้มีความเด่นชัดของการที่จะแยกอำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ออกจากกัน มีระบบการศึกษากฎหมายสมัยใหม่เกิดขึ้น และมีโรงเรียนกฎหมายสมัยใหม่เกิดขึ้นด้วย โดยกระทรวงยุติธรรมในเวลานั้นก็ทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุระการของศาล คล้ายกับสำนักงานศาลยุติธรรมในเวลานี้ อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้่แสดงให้เห็นการก่อตัวที่ชัดขึ้นของระบบอำนาจตุลาการ แต่ก็ยังคงสงวนอำนาจนี้ไว้เป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินอยู่ 

“อย่างอาจารย์สมลักษณ์ (จัดกระบวนพล) ซึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตำแหน่งนี้เรียกว่า กรรมการศาลฎีกา คำพิพากษาสุดท้ายแล้ว บางเรื่อง บางลักษณะ ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชพระบรมราชวินิจฉัยเป็นชั้นที่สุดก่อน” ธงทอง กล่าว

เขายกตัวอย่างต่อไปว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งยังถือว่าศาลทั้งหลาย แม้จะมีอำนาจตุลาการ แม้จะสามารถพิจารณาวินิจฉัยคดีได้เอง แต่ก็ยังคงสงวนคดีสำคัญไว้ให้พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้พิจารณา

อย่างในคดีหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2466 - 2467 เวลานั้นมีข้อพิพาทกันระหว่าง ‘ผู้ใหญ่’ สองฝ่าย มีจำเลยเป็นหม่อมเจ้า ขณะที่ฝ่ายโจทก์เป็นผู้พิพากษา ตำแหน่งอธิบดีศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ ในสภาพการณ์เช่นนี้ จำเลยย่อมมีความกังวล แม้ตนจะเป็นหม่อมเจ้าก็ตาม

แต่เรื่องนี้รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งให้มี ‘ศาลรับสั่งพิเศษ’ ขึ้นมา โดยประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมรวมกันประมาณ 4-5 ท่าน เช่น พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ (วัน จามรมาน)  พระยาจักรปาณีศรีศีลวิสุทธิ์ (เจ้าพระยามหิธร หรือ ลออ ไกรฤกษ์) และรายงานสุดท้ายที่มีการตัดสินคดีนั้น ระบุว่า 

“ฝ่ายจำเลยคงเข้าใจผิดว่า ความยุติธรรมในสยามประเทศมิผ่อนผันเอนเอียงตามฐานะของคู่กรณีพิพาทนั้นฤๅ ถ้าจำเลยยังมีความพะวง สงสัย ประการใดในข้อนี้ ข้าพระพุทธเจ้าของพระราชทานสนองว่า จำเลยเข้าใจผิดถนัด ตุลาการศาลนี้ย่อมรักษาความศักดิ์สิทธิของกฎหมายไม่น้อยกว่าตุลาการที่อื่นทั้งหลาย มิยอมเลยให้ผู้ใดมาบั่นความยุติธรรมเล่นใด แม้จำจะต้องฝ่าอุปสรรคใดๆ ข้าพระพุทธเจ้าก็จะสนองพระเดช พระคุณ ให้เต็มความสามารถตามหน้าที่ในลักษณะอินทภาษนั้น 

พระเจ้าอยู่หัวท่านได้อ่านเรื่องเหล่านี้แล้ว ท่านก็บอกว่า ได้เห็นว่าผู้พิพากษาได้ใช้วิจารณญาณสอดส่องในคดีอันซับซ้อนยุ่งยากนี้ ละเอียด ลออดีมาก และความเห็นที่แสดงนั้นก็ปราศจากฉันทาคติ(รัก) โทสาคติ(โกรธ) ภยาคติ(กลัว) โมหาคติ(หลง) เป็นการถูกต้องด้วยตัวบทกฎหมายทุกประการแล้ว เราจึงเห็นชอบด้วยตามคำพิพากษาของศาลรับสั่ง ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษานั้นเถิด ” ธงทองกล่าว 

ธงทอง ระบุว่า สิ่งที่ยกตัวอย่างมีนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทางของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กล่าวคือ เรามีระบบกฎหมายแบบใหม่เกิดขึ้น แต่คดีสำคัญก็ยังอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัยจนถึงปี 2475 รูปแบบการปกครองก็ได้เปลี่ยนไป ศาลทั้งหลายก็มีกฎหมายรัฐธรรมนูญที่รองรับสถานะของบทบาทหน้าที่ในการทำหน้าที่ตุลาการพิพากษาคดี

องค์กรตุลาการหลัง 2475 : คำพิพากษาในพระปรมาภิไธย มิใช่การมีพระบรมราชวินิฉัยต่อข้อพิพาท

บทบาทหน้าที่ขององค์กรตุลาการนับตั้งแต่ปี 2475 ถึงปัจจุบัน ธงทองเห็นว่า มีคำหลักที่เกิดขึ้น และจำเป็นต้องทำความเข้าใจกันคือ ศาลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือกระทั่งศาลทหาร ศาลทั้งหมดเหล่านี้ล้วนแล้วแต่พิพากษาคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์จะสามารถมีพระบรมราชวินิจฉัยสุดท้ายได้เหมือนก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 

ธงทองชี้ว่า บทบาทขององค์กรตุลาการหลัง 2475 นั้นมีหน้าที่ต้องพิพากษาอรรถคดีไปตามตัวบทกฎหมาย พิพากษาไปตามสิ่งที่เห็นว่าเป็นความยุติธรรม โดยสิ่งนี้ก็ระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 188

“การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ 

พระมหากษัตริย์ และตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาทางคดี ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง”

ธงทอง กล่าวต่อไปว่าตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันมักมีการระบุถึงการทำหน้าที่ของตุลาการโดยปราศจากอคติเสมอ โดยสิ่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเขาหยิบยกคำอภิปรายของ อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ อดีตประธานศาลฎีกา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรี โดยมีการอภิปรายไว้เมื่อปี 2554

ซึ่งในครั้งนั้น อรรถนิติ ได้เชิญพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2546 ซึ่งมีผู้พิพากษาไปเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณที่พระราชวังไกลกังวล มาแสดงไว้

“ท่านได้เปล่งคำปฏิญาณด้วยความเข้มแข็ง ก็เข้าใจว่าท่านตั้งใจทำหน้าที่ตามคำพูดที่เปล่งออกมานี้ ที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับข้าพเจ้า คือ ท่านได้บอกว่าจะปฏิบัติในพระปรมาภิไธยหมายความว่า ข้าพเจ้าถ้าได้เห็นท่านทั้งหลายปฏิบัติดีชอบจริงๆ ก็สบายใจ แต่ถ้าสงสัยว่าท่านจะทำอะไรไม่ถูกต้อง ข้าพเจ้าก็เดือดร้อน ที่เดือดร้อนเพราะว่า เมื่อปฏิบัติอะไรในพระปรมาภิไธย พูดง่ายๆ ว่าในนามพระเจ้าอยู่หัว ถ้าทำอะไรมิดีมิชอบ พระเจ้าอยู่หัวก็เป็นคนทำมิดีมิชอบ ฉะนั้นขอกำชับอย่างหนักแน่นว่า ให้ทำตามคำปฏิญาณ เพราะจะทำให้ข้าพเจ้าเองในส่วนตัว และในหน้าที่เดือดร้อน และถ้าข้าพเจ้าเดือดร้อนก็คงทำให้คนเดือดร้อนมากเหมือนกัน จะทำให้ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม”

ธงทอง ย้ำอีกครั้งว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่จะต้องสร้างความเข้าใจกันให้ชัดว่า ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า การตัดสินคดีในปัจจุบันเป็นการตัดสินคดีในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปเชื่อ หรือนำความขึ้นกราบบังคมทูลเป็นรายเรื่อง รายคดี หรือในเรื่องใดก็แล้วแต่ 

“ผู้พิพากษาจะต้องคิด อย่างที่มีพระราชดำรัสที่พระราชทานไว้ ในเมื่อท่านทั้งหลายได้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติ ทำหน้าที่ที่คนทั้งหลายจับตามองอยู่ว่า เป็นการทำงานในพระปรมาภิไธยนั้น สิ่งที่ท่านตัดสินนั้นจำต้องประกอบด้วยเหตุด้วยผล อยู่บนกฎหมาย ปราศจากอคติ ถ้าหากว่าท่านมิได้ทำดังที่ว่านั้น มันจะมีความเสียหายเกิดขึ้นในระบบความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อความยุติธรรมในประเทศนี้ ในขณะเดียวกันที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น ก็จะเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย เพราะเหตุว่า ความไม่ศรัทธา ความไม่เลื่อมใส ถ้ามีขึ้นต่อสถาบันตุลาการ ก็จะเกิดขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย เป็นธรรมดา” ธงทอง กล่าว 

ในทางตรงกันข้ามหากผู้พิพากษาทำหน้าที่ได้ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ปราศจากอคติ ผลที่เกิดขึ้นคือ ความยุติธรรม ความพอใจของคนทั้งหลายก็จะเกิดขึ้น และความศรัทธา เลื่อมใส ความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ย่อมเกิดขึ้นตามเป็นเรื่องปกติ 

เขากล่าวต่อว่า ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานั้น มีประเด็น และความสนใจสาธารณะเกี่ยวกับบทบาทของตุลาการในการตัดสินคดีทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคดีที่มีเรื่องราวความขัดเเย้งทางการเมืองเกี่ยวข้องด้วย เช่น คดีบกพร่องโดยสุจริต, คดีทำกับข้าวออกทีวี, กรณีคำตัดสินของศาลต่างประเทศกับคุณสมบัติของสภาชิกสภาผู้แทนราษฎร, กรณีการใช้ดุลพินิจในการตัดสินคดีอาญา-การปล่อยตัวชั่วคราว 

“สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจสาธารณะ หากสามารถทำให้มั่นใจได้ว่า ศาล หรือผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ตามกฎหมาย โดยปราศจากอคติ สิ่งเหล่านี้ก็ย่อมทำให้เกิดความยั่งยืนสถาพรต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ และตรงกันข้ามหากว่าศาลไม่สามารถการันตีให้เกิดความเชื่อมั่นนั้นได้ ไม่สามารถแสดงเหตุผล ไม่สามารถทำให้คนวางใจได้ ผมคิดว่าผลก็จะเกิดในทางตรงกันข้ามสำหรับเรื่องเหล่านี้ ” ธงทอง กล่าว

เลคเชอร์จากพระอินทร์ : หลักอินทภาษ การทำหน้าที่ตุลาการ โดยปราศจากอคติ 4 ประการ

ธงทอง กล่าวต่อถึง หลักการปราศจากอคติ ซึ่งรัชกาลที่ 6 ก็ได้เคยมีพระราชกระแสไว้เมื่อครั้งทรงตั้งศาลรับสั่ง ในกรณีข้อพิพาทระหว่างหม่อมเจ้า กับผู้พิพากษา ทั้งยังปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งหมดนี้มีรากจากหลักอินทภาษ 4 ซึ่งตามตำนานเป็นคำสั่งสอนของพระอินทร์ที่มีต่อชายคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นตุลาการ โดยหลักการดังกล่าวประกอบด้วย 

  • ฉันทาคติ (ความรัก) คือ ความลำเอียงเพราะความรักใคร่ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อผู้พิพาทต้องตัดสินของญาติสนิท มิตรสหาย วงศ์วานว่านเครือ สมัครพรรคพวก และรวมทั้งกรณีการรับสินบาทคาดสินบน  
  • โทสาคติ (ความโกรธ-เกลียดชัง) คือ การที่ผู้พิพากษาต้องตัดสินคดีให้กับคู่แค้น หรือคนที่มีข้อพิพาทกับตนมาก่อน ซึ่งหมายความรวมทั้งกรณีที่ผู้พิพากษาติดตามข่าวคนคนหนึ่ง และพบว่าคิดไม่เหมือนตน ซึ่งกรณีนี้ก็อาจจะเป็นต้นทางของการมีโทสาคติได้
  • ภยาคติ (ความกลัว) คือ ความลำเอียงเพราะความกลัว กรณีนี้ไม่ได้หมายความเฉพาะความกลัวเกี่ยวกับสวัสดิภาพ เช่น การถูกข่มขู่ แต่หมายรวมถึงความกลัวในระดับที่ซับซ้อนมากกว่านี้ด้วย คือ ความกลัวในความไม่เจริญ 

“เคยมีเรื่องเล่าสู่กันฟังว่ามีผู้พิพากษาท่านหนึ่ง อยู่ในฐานะซึ่งรู้กันอยู่ในทีว่ามีคิวจะได้เป็นผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงในองค์กรตุลาการ เมื่อท่านเข้าใกล้คิวรับตำแหน่งไปเรื่อยๆ ข้อปฏิบัติของท่านที่น่าสนใจ และท่านพูดเล่าให้เพื่อนฝูงฟังด้วยความเต็มอกเต็มใจว่า จากนี้ไปท่านจะไม่ให้ได้รับประกันเลย ไม่ว่าคดีอะไรถ้ามาให้ท่านพิจารณา ท่านก็จะไม่ให้ประกัน เพราะหากให้ประกันแล้วมันหนีไป มันก็จะเดือดร้อนมาถึงท่าน ท่านอาจจะบกพร่องต่อหน้าที่ และถูกครหานินทา สุดท้ายจะทำให้ท่านไม่ได้ก้าวสู่ตำแหน่งระดับสูงที่ว่า นี่เป็นภยาคติ อย่างหนึ่ง คือกลัวตัวเองจะไม่เจริญ” ธงทอง กล่าว

  • โมหาคติ (ความหลง) คือ การที่คิดว่าตนเองรู้แล้ว ติไม่ได้ เตือนไม่ได้ ไม่พยายามหาความรู้เพิ่มเติม 

ธงทอง ย้ำว่า อคติทั้ง 4 ประการ เป็นสิ่งที่ ‘ผู้หลัก-ผู้ใหญ่’ แต่เดิมมาสั่งกันมาตลอดตั้งแต่กฎหมายตราสามดวง แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยู่ในใจของคนอย่างเดียวเท่านั้น เราไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้ว่าใครมีอคติหรือไม่ มีเพียงเจ้าตัวเท่านั้นที่รู้คำตอบ และมีเพียงเจ้าตัวเท่านั้นที่จะสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ 

การจะพิสูจน์ตัวเองได้สำหรับผู้พิพากษานั้น มีหลักการอยู่ที่คำพิพากษา โดยจะต้องแสดงเหตุผลที่แจ้งชัด มีคำอธิบายที่กระจ่าง ธงทองยกตัวอย่างว่า หากมีการพิจารณาไม่ให้ประกันตัว ก็ต้องแจ้งให้ชัดว่า ไม่ให้ประกันตัวเพราะมาตราใด วงเล็บใด อนุไหน จำเป็นต้องบอกให้ชัด แต่ถ้ามีคำสั่งที่คลุมเครือไม่สามารถอธิบายได้ ความระแวงสงสัยก็จะเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เขายกตัวอย่างถึงคำพิพากษาคดีตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีด้วยว่า 

“กรณีที่รัฐมนตรี มีคดีไปศาลรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่า ปรากฎการณ์นี้น่าสนใจ ผมพิสูจน์ไม่ได้ ผมบอกไม่ได้ว่าท่านผู้ตัดสินมีอคติหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ท่านรู้อยู่แก่ใจท่าน ผมตอบไม่ได้ แต่สิ่งที่ประชาคมกฎหมายสนใจก็คือ เหตุผลที่ท่านยกมาแสดงตรงนั้น เป็นเหตุผลซึ่งในสายตายของนักกฎหมายจำนวนมากสามารถหักล้างได้ด้วยเหตุผลอื่นๆ ซึ่งดีกว่า ฉะนั้นการที่จะพิสูจน์ว่าตัวเองมีอคติมากน้อย หรือไม่มีเลยมาตรวัดไม่ได้อยู่ที่ตัวท่านเพราะท่านรู้แก่ใจท่านเอง แต่อยู่ที่เหตุผลที่ท่านใช้ในคำพิพากษาของท่าน ในการสั่งคดีของท่าน” ธงทอง กล่าว