ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย วันที่ 21 ก.ย. 2566 ถึงกรณีที่ศาลฎีกาสั่งตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ช่อ พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆากพรรคอนาคตใหม่ ตลอดชีวิต จากกรณีการโพสต์เฟสบุ๊กในช่วงที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย ก่อนเข้ามาทำงานทางการเมือง ซึ่งมีผู้เห็นว่าเป็นแสดงความเห็นการพาดพิงสถาบันกษัตริย์
ปริญญา กล่าวว่า โดยปกติแล้วการตัดสิทธิรับเลือกตั้งจะเป็นเรื่องของการทำผิดกฎหมายอาญา ซึ่งหลักที่เคยมีมาก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ 2560 คือ หากผู้ใดที่เคยต้องโทษเข้าเรือนจำ ก็จะต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงจะสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นกลับมีการเพิ่มเติมว่าหากใครต้องโทษจำคุกมาก่อน จะถูกตัดสินลงรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการตัดสิทธิทางการเมือง ที่แต่ก่อนอิงอยู่กับการทำผิดทางอาญา โดยมีการนำไปผูกโยงกับเรื่องในทางจริยธรรมด้วย
“เรื่องทางอาญาถ้าศาลพิพากษาว่า ทุจริต ก็ยังพอทำเนา แต่พอเป็นเรื่องของจริยธรรมนั้นไม่จำเป็นต้องผิดทางอาญา ศาลไม่ต้องตัดสินว่าผิดกฎหมาย เพียงแค่เห็นว่าผิดจริยธรรมก็สามารถไปสู่การตัดสิทธิตลอดชีวิต ผมว่ามันเกินไป เราจะเห็นด้วยเห็นต่างจากสิ่งที่คุณช่อโพสต์ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”
ปริญญา กล่าวต่อว่า กรณีนี้ศาลฏีกาตัดสิทธิเพียงแค่สิทธิในการลงรับสมัครเลือกตั้ง แต่ไม่ตัดสิทธิในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งตรงนี้ก็เกิดคำถามว่า หากกระทำของคุณช่อ ไม่ได้เป็นการกระทำในลักษณะนั้นทำไมศาลจึงตัดสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต
“ปัญหานี้ มันคือปัญหาจากตัวรัฐธรรมนูญของอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ในมาตรา 235 ถ้าเราอ่านคำพิพากษาของศาลมันเป็นเรื่องของมาตรา 235 โดยเฉพาะ ที่พูดเรื่องการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ปปช. สามารถส่งเรื่องไปที่ศาลฎีกา ประเด็นคือมาตรฐานจริยธรรมที่ว่าใครเป็นคนเขียน รัฐธรรมนูญมาตรา 219 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระร่างขึ้นมา โดยใช้บังคับกับศาสรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระด้วยกันเอง แต่มีการกำหนดให้มาตรฐานนี้บังคับใช้กับ สส. และรัฐมนตรีด้วย”
ปริญญา ย้ำว่า มาตรฐานจริยธรรมดังกล่าว เป็นการร่างขึ้นโดยที่ไม่ได้ถือเป็นกฎหมาย เพราะกฎหมายจะต้องออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ และตามปกติการจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองจะต้องทำผิดกฎหมาย แต่มาตรฐานจริยธรรมนั้นถูกร่างโดยศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระซึ่งมีความยึดโยงกับผู้ทำการรัฐประหาร จึงกลายเป็นปัญหาซ้ำซ้อนมากเพิ่มขึ้น ทั้งนี้รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วยว่า หากผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ต้องเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง แต่สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งจะตัดสิทธิหรือไม่ก็ได้ ส่วนกรณีเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งกำหนดไว้ด้วยว่าจะต้องตัดสิทธิตลอดชีวิต
“ในเมื่อมาตรฐานจริยธรรมไม่ใช่กฎหมาย และรู้อยู่แล้วว่าปลายทางจะนำไปสู่อะไร การตีความจำเป็นต้องระมัดระวังมาก และประเด็นสำคัญคือในส่วนของศาลฎีกา ในข้อต่อสู้ของคุณช่อ เขาก็บอกว่า การกระทำที่นำมาสู่การฟ้อง เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นมาก่อนการเป็น สส. และตอนที่ถูกร้องก็พ้นจากตำแหน่ง สส. ไปแล้ว และกรณีนี้ผลของการใช้มาตรา 235 เมื่อศาลรับเรื่องไว้จะต้องสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ และหากศาลตัดสินว่าผิดจริยธรรมจริงก็สามารถสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง และตัดสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้งด้วย เรื่องนี้ศาลสามารถวินิจฉัยได้ว่า มาตรา 235 ควรนำมาใช้กับผู้ที่พ้นตำแหน่งไปแล้วหรือไม่ และสามารถใช้กับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ได้หรือไม่ แต่ศาลให้เหตุผลว่า แม้ว่าการกระทำจะเกิดขึ้นก่อน แต่กลับไม่ดำเนินการลบออก จึงถือว่าเป็นการกระทำผิด”
ปริญญา สรุปว่า เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาหลายชั้น ทั้งตัวสถานะของจริยธรรมที่ไม่ใช่กฎหมายและมีที่มาจากคณะบุคคลที่ยึดโยงอยู่กับผู้ทำรัฐประหาร และในตัวบทจริยธรรมเองก็เขียนไว้อย่างกว้างๆ จึงทำให้สามารถเลือกใช้ได้ตามอำเภอใจ ตามอคติได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องทางอาญามันต้องเป็นไปตามหลักอาญา ต้องพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย จึงจะลงโทษได้ แต่จริยธรรมเป็นเรื่องคลุมเครือ
“เรื่องการต้องธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ การกระทำขนาดไหนละครับที่จะเรียกได้ว่าไม่เป็นการธำรงรักษาแล้ว”