วันที่ 21 ม.ค. 2565 ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านสภาผู้แทนราษฎร นำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย นิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้เสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติขอสอบถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีผู้เข้าชื่อทั้งหมดที่ 173 รายชื่อ จาก 7 พรรคการเมือง โดยมีประเด็นที่จะอภิปรายมี 4 เรื่อง 1.เรื่องวิกฤตข้าวของแพงค่าแรงถูกของแพงทั้งแผ่นดิน 2.เรื่องโรคระบาดโควิดและอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) 3.วิกฤตการเมืองยุคการเมืองใช้เงินเป็นหลัก และ 4.ความล้มเหลวการบริหารราชการแผ่นดินมากมาย ทั้งปัญหายาเสพติด การทุจริตคอร์รัปชั่น ภาวะฝุ่นพิษ PM 2.5 และการค้าการลงทุน ซึ่งในส่วนของเวลาในการอภิปรายได้ใช้แนวทางของปีที่แล้วเป็นหลัก จึงขอเวลาไม่น้อยกว่า 36 ชั่วโมง เพื่อให้เวลาสมาชิกได้อภิปรายได้เต็มที่ โดยคาดว่าจะสามารถอภิปรายช่วงวันที่ 16-18 ก.พ.นี้
เมื่อถามว่า คาดหวังกับการอภิปรายทั่วไปครั้งนี้อย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในเนื้อหาสาระยากที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่เป็นการบอกความจริงต่อประชาชนโดยตรงถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ทำให้เกิดปัญหาต่อประเทศชาติ และทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ฉะนั้น จะนำเรื่องนี้มาบอกต่อประชาชน โดยนำความเดือดร้อนโดยตรงจากรัฐบาลมากดดัน เพราะตอนนี้มีภาคประชาชนเริ่มออกมาเรียกร้องในทุกกลุ่มอาชีพนอกสภา
ด้าน ชวน กล่าวว่า ตนได้หารือในเรื่องนี้เมื่อวัน 19 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้วว่า ญัตตินี้จะสามารถเสนอในช่วงนี้และหนึ่งปีจะทำได้เพียงหนึ่งครั้ง ซึ่งคาดว่าจะอภิปรายกลางเดือน ก.พ. ส่วนระยะเวลาที่จะใช้ในการอภิปรายนั้นให้ตัวแทนผู้ควบคุมเสียงทั้งสองฝ่ายหารือกันต่อไป แต่กรณีมาตรา 152 เป็นการเสนอเพื่อสอบถามให้คำแนะนำรัฐบาลไม่ถึงขั้นไม่ไว้วางใจแต่โดยปฎิบัติก็เป็นอีกเรื่อง เบื้องต้นผู้นำฝ่ายค้านได้คุยกับเราแล้วจะรักษามาตรฐานสภาฯ จากนี้จะนำญัตติดังกล่าวไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อดำเนินการต่อไป
สำหรับเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งลงนามโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร มีเนื้อหาดังนี้
ด้วยปรากฏข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างรุนแรงเข้าทำนอง “ข้าวของแพง ค่าแรงถูก” อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวผิดพลาดในทุกด้านของรัฐบาลนี้ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ตกต่ำและทรุดตัวมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการยึดอำนาจจนถึงการบริหารของรัฐบาลปัจจุบันซึ่งเป็นรัฐบาลเดียวกัน มีการก่อหนี้สาธารณะสูงสุดเป็นประวัติการณ์จนต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ
ขณะที่หนี้ครัวเรือนของประชาชนและอัตราการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ก็สูงขึ้น เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อกว่าสองล้านคนและเสียชีวิตกว่าสองหมื่นคน ขณะที่มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาก็ไม่มีความชัดเจนแน่นอนกลับไปกลับมายิ่งทำให้เศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
ขณะที่รัฐบาลไม่มีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้รับความเดือดร้อนอย่างถ้วนหน้า การจัดหาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนก็ล่าช้าไร้ประสิทธิภาพ ต่อมาก็เกิดการแพร่ระบาดของโรคระบาดในสัตว์รวมทั้งเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรด้วย ทำให้สุกรขาดตลาดและเนื้อสุกรมีราคาสูงขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่รัฐบาลกลับปกปิดข้อมูลการระบาดของโรคจนทำให้การแพร่ระบาดกระจายไปทั่วประเทศ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้รับความเสียหายและเดือดร้อนในวงกว้าง ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวกลับมีข้อมูลว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนรายใหญ่อันเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้กับประชาชน
การแก้ปัญหาโรคระบาดทั้งในคนและสัตว์ขาดองค์ความรู้และภูมิปัญญา เน้นแก้ปัญหารายวัน ขณะเดียวกันสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ก็ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลกระทบและความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่จะควบคุมและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 ที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเกิดขึ้นซ้ำซากทุกปี โดยที่รัฐบาลไม่มีมาตรการในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม มีการนำทรัพยากรทางธรรมชาติและเงินแผ่นดินไปแลกเปลี่ยนและใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหาการกระทำที่ผิดพลาดของนายกรัฐมนตรี กรณีเหมืองทองอัครา การแก้ปัญหาประมงล้มเหลวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการนับแสนราย การปฏิรูปการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่มีความคืบหน้าแม้แต่เรื่องเดียว เหตุเพราะรัฐบาลขาดความจริงใจที่จะปฏิรูปการเมือง เช่น เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ระบบการเมืองไทยถอยหลังไปกว่า 40 ปี
ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกทำให้ไทยต้องสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจากการไม่เตรียมพร้อมต่อการพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงสาย ลาว-จีน และสูญเสียโอกาสที่จะได้จากกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก(APEC) การเลือกตั้งย้อนยุคไปสู่ระบบอุปถัมภ์และการใช้เงินเป็นหลัก การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลยังส่อไปในทางทุจริตหลายเรื่องที่ส่งผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน จากรายงานของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาและผลวิจัยจากภายนอกพบว่ารัฐบาลนี้มีการทุจริตสูงมาก ส่งผลทำให้อันดับการทุจริตคอรัปชั่นโลกของไทยสูงขึ้นซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดในประเทศอย่างกว้างขวางทุกพื้นที่และยังเป็นแหล่งส่งออกยาเสพติดรายใหญ่ไปยังหลายประเทศจนทำให้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายไปทั่วโลก จึงถือได้ว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นวิกฤติของประเทศที่จะต้องมีการระดมความคิดเห็นและหามาตรการเพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงมาตรการการชดเชยเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและประชาชนผู้บริโภคที่ต้องรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นราคาสินค้า
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นจึงเป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยจะได้ซักถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพปัญหาและหาแนวทางแก้ปัญหาของคณะรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าว และร่วมกันหาข้อสรุปเพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงเป้าหมาย อันจะยังประโยชน์และลดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนต่อไป
ข้าพเจ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้มีรายชื่อท้ายญัตตินี้ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรจึงขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เรียนมาเพื่อโปรดบรรจุญัตตินี้ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาโดยด่วน ส่วนเหตุผลและรายละเอียดต่างๆ จะได้แถลงและชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป