ไม่พบผลการค้นหา
พรรคเพื่อไทย แถลงการณ์ค้าน กกต. คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แจกพรรคเล็กที่ได้ ส.ส.ต่ำกว่าเกณฑ์ ส.ส. 1 คน ต่อ 7 หมื่นเสียง พร้อมยก รธน. มาตรา 91 ไม่เปิดทางให้พรรคการเมืองได้ ส.ส.เกิน ส.ส.พึงมี เตรียมเดินหน้าเอาผิด กกต. ทุกช่องทาง ด้าน 'สุดารัตน์' บี้ กกต. แจงให้ได้แจก ส.ส.พรรคเล็ก

พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์เรื่อง คัดค้านวิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยระบุว่า ตามที่ กกต.ได้มีประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง กกต. แบบบัญชีรายชื่อ โดยกำหนดให้พรรคการเมืองมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ ทั้งๆที่พรรคการเมืองนั้นๆ มีคะแนนไม่ถึงจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ และยังปรากฏด้วยว่าพรรคการเมืองที่ได้รับจัดสรรที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเหล่านั้น ได้รับคะแนนเสียงไม่ถึงจำนวนเสียงต่อ ส.ส. 1 คน ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ได้กำหนดไว้อีกด้วยเช่นกัน

พรรคเพื่อไทยได้แถลงให้ทราบไปแล้วว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 128 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ก็ตาม แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็มิได้วินิจฉัยลงไปในรายละเอียดถึงวิธีการคำนวณส ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่ากกต. สามารถที่จะคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้กับพรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อส.ส. 1 คน ได้หรือไม่ ดังนั้นจึงต้องยึดหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณที่ไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กล่าวคือ

1. พรรคการเมืองที่จะได้รับจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าคะแนนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน (ประมาณ 70,000 คะแนน)

2. พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่าจำนวนคะแนนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน ย่อมไม่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พึงมี และไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ ย่อมไม่มีสิทธิได้รับจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4) ประกอบมาตรา 128 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้จัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองเฉพาะพรรคที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อที่พึงได้รับเท่านั้น

3.หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4) และมาตรา128 (5) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนท้ายได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าในการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดมี ส.ส. เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ เมื่อพรรคที่มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนต่อจำนวน ส.ส. 1 คน ไม่มี ส.ส.พึงมี หากมีการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคดังกล่าว จะมีผลให้พรรคนั้นมีจำนวน ส.ส. เกินจำนวนที่พึงมี (เดิมไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลย) ซึ่งจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญรวมถึงขัดต่อมาตรา 128 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวมา ของ กกต.ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและ พ.รบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กกต.ได้รับทราบข้อท้วงติง ข้อทักท้วงของพรรคการเมืองที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการให้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตาม “สูตรแจกพรรคเล็ก” และได้แจ้งให้ทราบด้วยว่า การตัดสินใจดังกล่าวนอกจากจะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังอาจจะส่งผลต่อบริบททางการเมืองภายภาคหน้าอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย  

โดยเหตุนี้พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวมาของ กกต. เข้าข่ายเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และจะใช้ช่องทางดำเนินการตามกฎหมายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในทุกช่องทางที่จะทำได้ต่อไป จึงแถลงมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

สุดารัตน์

'สุดารัตน์' บี้ กกต. แจงแจก ส.ส.ให้พรรคคะแนนไม่ถึง 7หมื่นเสียง

เช่นเดียวกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ แคนดิแดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ย้ำพรรคการเมืองจะมี ส.ส.เกินกว่า ส.ส.พึงมีไม่ได้ เพราะหากดูจากวิธีคำนวณคะแนนพึงมีของคนที่ได้คะแนนมากกว่า 30,000 เสียง จะมี ส.ส.เพิ่งมีแค่ 0.5 คน ดังนั้น หากจะปัดคะแนนขึ้นไปเป็นหนึ่งคนซึ่งจะเป็นไปไม่ได้แน่นอน ทั้งนี้นอกจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญแล้ว การคำนวณออกมาโดยผลลัพธ์ ก็จะต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน ซึ่งกกต.จะไปสรุปว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แล้วการคำนวณก็จะต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน 

คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุว่า หาก กกต. จะยืนยันที่จะประกาศผลคะแนนพึงมีให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนไม่ถึง 71,000 คะแนนได้ที่นั่งไปนั้น กกต.จะตอบสังคมและผู้เสียหาย ซึ่งก็คือพรรคการเมืองที่สูญเสียที่นั่ง ส.ส.จากการคำนวณไปให้ได้ว่าสิ่งที่ กระทำอยู่นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่หาก กกต.จะอ้างว่าได้ถามไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วและศาลแจ้งว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องถามกลับไปที่ กกต.ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือสูตรที่นำมาคำนวณ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

คุณหญิงสุดารัตน์ ยังย้ำว่าพรรคเพื่อไทยเป็นหนึ่งในผู้เล่น ที่ก่อนจะลงเล่นได้อ่านและทำความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญมาอย่างละเอียดแต่หาก กกต.จะอ้างด้วยวิธีการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและบอกว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องเท่ากับว่าเป็นการบอกกติกากับคนผ่านรัฐธรรมนูญอีกอย่างหนึ่ง แต่กลับไปคำนวณด้วยวิธีที่ผิดรัฐธรรมนูญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง