นิโคลัส โคมเจียน หัวหน้ากลไกสอบสวนอิสระเกี่ยวกับเมียนมา (IIMM) กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า เฟซบุ๊กมีข้อมูล “เกี่ยวข้อง (กับการละเมิดสิทธิในเมียนมา) อย่างมากและสามารถเป็นหลักฐานของอาชญากรรมระหว่างชาติที่ร้ายแรง” แต่กลับไม่แบ่งปันข้อมูลใดๆ ระหว่างการเจรจากันมาอย่างยาวนาน แม้เฟซบุ๊กจะเคยประกาศว่าจะทำงานร่วมกับทีมสอบสวนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในเมียนมา รวมถึงการละเมิดสิทธิชาวโรฮิงญา
อย่างไรก็ตาม โคมเจียนปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายละเอียดว่า IIMM ข้อมูลอะไรจากเฟซบุ๊ก แต่ระบุว่า IIMM จะเจรจากับเฟซบุ๊กต่อไป และเขาหวังว่า IIMM จะได้รับหลักฐานที่สำคัญในที่สุด ด้านเฟซบุ๊กก็ไม่ได้ตอบคำถามของสำนักข่าวรอยเตอร์สเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ข้อความที่มีเนื้อหาแสดงความเกลียดชัง หรือ เฮทสปีช ต่อชาวโรฮิงญา จนนำไปสู่ความรุนแรงในรัฐยะไข่ แต่เฟซบุ๊กกล่าวว่า กำลังยุติเฮทสปีช และลบบัญชีที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา รวมถึงเข้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพ แต่ยังคงเก็บข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาไว้
โคมเจียนออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ เพียงไม่นานหลังจากที่เฟซบุ๊กปฏิเสธคำขอของแกมเบีย ที่ต้องการได้ข้อมูลโพสต์และการติดต่อสื่สารของทหารและตำรวจของเมียนมา หลังขากที่แกมเบียฟ้องร้องเมียนมาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือ ICJ ในกรุงเฮก โดยกล่าวหาว่าเมียนมาสังหารหมู่ ข่มขืน และทำลายชุมชนต่างๆ ในรัฐยะไข่
เมื่อเดือน ต.ค. ปี 2016 กองทัพเมียนมาเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญา จนทำให้ชาวโรฮิงญาลี้ภัยออกจายะไข่ไปยังบังกลาเทศมากกว่า 700,000 คน ถือเป็นหนึ่งในวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุด
แกมเบียอธิบายการปราบปรามชาวโรฮิงญาว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างปฏิบัติการนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำลายชาวโรฮิงญา ด้วยการสังหารหมู่ ข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศอื่นๆ รวมถึงการเผาทำลายหมู่บ้านอย่างเป็นระบบ โดยที่ยังมีคนถูกขังไว้ในบ้านเหล่านั้น” อีกทั้งยังมีการเผาทำลายมัสยิด ร้านค้าและคัมภีร์อัลกุรอาน นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังได้ออกมาเปิดเผยเองว่าโพสต์ที่โจมตีชาวโรฮิงญามีความเชื่อมโยงโดยตรงกับกองทัพเมียนมา
ต่อมาอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมาเดินทางไปศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และกล่าวว่า แกมเบีย “ทำให้คนเข้าใจความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ผิด” สถานการณ์ในรัฐยะไข่มี “ความซับซ้อน” และเธอก็รับรู้ “ความทุกข์ทรมาน” ของคนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา แต่เธอย้ำหลายครั้งว่า การปราบปรามชาวโรฮิงญาในปี 2017 เป็น “ปัญหาภายในประเทศ” และกองทัพเมียนมาได้ตอบโต้การโจมตีจากกองกำลังติดอาวุธท้องถิ่น เช่น กองกำลังปลดปล่อยโรฮิงญาอาระกัน (ARSA)
ที่มา : Channel News Asia, NDTV