ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ หนุนนายกฯ ใช้กฎหมายเคร่งครัดและตรงไปตรงมากับทุกฝ่าย ด้าน ธนภร แนะเลือกเปิดโต๊ะเจรจา อย่าใช้กฎหมายปิดปากผู้เห็นต่าง

ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีเรื่องการบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราที่มีอยู่ว่า หลักการที่สำคัญคือประเทศไทยปกครองด้วยระบบนิติรัฐคือรัฐที่ปกครองด้วยกฏหมายฉะนั้นผลของนิติรัฐประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใดก็ต้องอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

คำแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีเป็นหลักการเบื้องต้นในประเทศที่ปกครองด้วยหลักนิติรัฐอยู่แล้วเมื่อมีการฝ่าฝืนกฎหมายบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นกฎหมายฉบับใดมาตราใด หากมีข้อเท็จจริงใดที่เป็นความผิดก็จะต้องถูกดำเนินการตามกฏหมายอย่างเคร่งครัดและตรงไปตรงมา ไม่เฉพาะแต่ประชาชนผู้ชุมนุมเท่านั้นรวมถึงเจ้าหน้าที่ด้วย หากมีการกระทำใดเป็นความผิดก็ต้องรับผิดชอบในการกระทำนั้นเช่นเดียวกัน

"ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จะแปลกมากหากมีคนกระทำความผิดแล้วรัฐบาลรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและตรงไปตรงมา ท้ายที่สุดรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ ที่มีอำนาจหน้าที่ก็จะต้องรับผิดชอบเพราะถือว่ามีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

"ฝ่ายการเมืองจึงไม่ควรหวั่นไหวกับคำแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีไม่ควรโจมตีรัฐบาลจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายผิดถูกว่ากันไปตามข้อเท็จจริง การกระทำสำคัญที่สุดในฐานะนักกฏหมายจึงสนับสนุนนายกรัฐมนตรีให้บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดและตรงไปตรงมาภายใต้หลักนิติธรรม" ราเมศ กล่าว


แนะเปิดเจรจาดีกว่าปิดปาก

ธนภร โสมทองเเดง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ความเห็นต่างทางการเมืองมีทุกประเทศทั่วโลก การรับฟังความคิดเห็นต่างตรงนี้ เป็นภาวะผู้นำของผู้นำประเทศ ควรเจรจาพูดคุย เปิดโต๊ะพูดคุยกัน ไม่ใช่ใช้กฎหมายปิดปากประชาชน จะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ทางการเมืองเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ขาดการยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอย่างแท้จริง

บุคคลภายนอกเข้าสู่อำนาจได้ เป็นการสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหารซึ่งไม่ต่างจากการออกแบบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เมื่อกติกาที่ออกแบบไม่เป็นธรรม ควรจะแก้ไข โดยใช้กลไกรัฐสภา เพราะการเมืองต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง ไม่ใช่ เห็นพี่น้องประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองโดยเฉพาะนิสิต นักศึกษา เด็ก เป็นศัตรูทางการเมือง จะใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาดจัดการ เป็นการราดน้ำมันเข้าลงกองไฟ มิคสัญญีทางการเมืองแน่นอน จะนำไปสู่การรัฐประหาร

ธนภร กล่าวว่า แนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 255 บัญญัติว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้..” ซึ่งได้ควบคุมกลไกการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้แล้ว แต่ปรากฏว่าในมติการประชุมรัฐสภา ญัตติร่าง 7 ของไอลอว์ ในมาตรา 256(3) การพิจารณาวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ร่างดังกล่าวตกไป เป็นที่น่าเสียดาย เพราะร่างดังกล่าวมาจากประชาชน ไม่ใช่ประชาชนส่วนน้อยของประเทศ แต่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎหมายแม่บท รัฐบาลขาดความจริงใจในการแก้ปัญหา ดังนั้น ในการประชุมพิจารณาในวันที่ 17,18 พฤศจิกายน 2563 โหวตรับรองวาระ 1 จึงเป็นเพียงประวิงเวลาจากการประชุมสมัยสามัญที่ผ่านมา ถือได้ว่า เป็นเพียงการสับขาหลอกประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองเท่านั้น

เพราะตัวแปรอยู่ที่ สมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงเท่านั้น อย่าลืมว่า รากเหง้า สว.250 คน ท่านได้แต่ใดมา ผลของความไม่จริงใจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนติดตามการประชุมโดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ อยากเห็นการพัฒนาของประเทศตามแนวทางประชาชนมาติดตามการประชุมถึงหน้ารัฐสภาเพราะไม่ไว้วางใจการทำหน้าที่ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม แต่ฝ่ายรัฐบาลกลับปล่อยให้เสื้อเหลืองเข้ามาชุมนุมแล้วปล่อยเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน และเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่โดยการฉีดนำความดันสูง ยิงแก๊สน้ำตา และกระสุนปืนไม่ทราบฝ่าย ปัญหาเหล่านี้ จะไม่เกิดขึ้น หากใช้การประนีประนอมพูดคุยทุกฝ่ายและที่สำคัญ ต้องมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา