ข้อมูลจากเว็บไซต์ worldometers รายงานว่า ยอดผู้ติดเชื้อสะสมล่าสุดในซูดานอยู่ที่ 1,526 ราย แต่ด้วยจำนวนผู้ที่หายแล้วมีเพียง 162 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตแล้ว 74 ราย ก็สร้างความกังวลให้กับคนไทยหลายคนที่ยังตกค้างอยู่ในซูดาน
หนึ่งในนั้นคือ 'ศักดา ปาโหด' นักศึกษาชาวไทยซึ่งกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยญาซีร่า เผยกับทีมข่าว 'วอยซ์ออนไลน์' ว่าถึงแม้ยอดผู้ติดเชื้อในซูดานจะอยู่ที่ราวๆ ครึ่งหนึ่งของยอดผู้ติดเชื้อสะสมในไทย แต่จำนวนผู้เสียชีวิตที่แซงหน้าไทยไปแล้วทำให้เขามองว่านี่เป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อจึงรู้สึกกังวลอย่างมาก
โดยศักดาเผยว่าไม่กี่สัปดาห์มานี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในซูดานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ละวันเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย ทำให้กังวลว่าหากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ระบบสาธารณสุขของซูดานที่ค่อนข้างล้าหลังจะรองรับผู้ป่วยไม่ไหว จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้อพยพกลับไทยในเร็ววัน แม้เข้าใจดีว่าทางการไทยก็คงพยายามประสานช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ก็อยากให้พิจารณาเรื่องความเสี่ยงและความยากลำบากในการเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานด้วย เพราะถึงจำนวนผู้ติดเชื้อในซูดานจะน้อยกว่าหลายประเทศในแอฟริกาและตะวันออกกลาง แต่มาตรฐานด้านการแพทย์ด้อยกว่าหลายประเทศอยู่มากพอสมควร
“อยากกลับมากครับ เพราะเป็นที่ทราบดีว่าการแพทย์ที่นี่ล้าหลังและไม่แน่นอน หากสถานการณ์ยังควบคุมไม่ได้ ยิ่งในตอนนี้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลายคนจึงอยากกลับบ้านครับ แต่หากรัฐให้กลับด้วยเครื่องบินอพยพคงจะไม่ไหวจ่ายค่าตั่วเพราะคงจะแพงน่าดูนะครับ” ศักดาเผย
นักศึกษาชาวไทยรายนี้ยังเล่าว่า รัฐบาลซูดานได้ประกาศเคอร์ฟิวในกรุงคาร์ทูมเป็นเวลา 3 สัปดาห์ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ก่อนที่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาจะขยายเคอร์ฟิวออกไปอีก 10 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค. ประชาชนออกจากบ้านได้แค่ช่วงเวลา 6.00-13.00 น. ขณะที่ทางการได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปตั้งแต่เดือนมี.ค. ทำให้มีการปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ สำหรับเขาเองตอนนี้การออกไปซื้อหาอาหารยังพอทำได้ แต่ก็ไม่กล้าออกไปนอกบ้านมากนัก ต้องใช้วิธีซื้อกักตุนบ้าง เนื่องจากประชาชนในซูดานส่วนมากยังใช้ชีวิตตามปกติ คนใส่หน้ากากป้องกันตัวเองมีน้อย ซึ่งศักดาบอกว่าสาเหตุที่คนไม่ค่อยตื่นตัวเรื่องการป้องกันโรคปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากทั้งการเข้าไม่ถึงข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต ความไม่เชื่อถือในข้อมูลของรัฐบาล หรือคนที่เชื่อว่าโควิด-19 ไม่มีจริงก็ยังมี
ซูดานอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลเปลี่ยนผ่านหลังการโค่นล้มอดีตประธานาธิบดี 'โอมาร์ อัล บาเชียร์' ที่ครองอำนาจมากยาวนานเกือบ 30 ปี บทความจากเว็บไซต์ข่าว Middle East Eye ในกรุงลอนดอนระบุว่าแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในซูดานจะยังไม่สูงมากนัก แต่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค. ทำให้หลายฝ่ายกังวลมากว่าซูดานจะรับมือกับวิกฤตนี้ไหวหรือไม่เมื่อมองจากระบบสาธารณสุขที่อ่อนแอ
ก่อนหน้านี้ไม่กี่สัปดาห์ รัฐมนตรีสาธารณสุขซูดานได้เตือนว่าประเทศได้เข้าสู่ 'ช่วงอันตราย' ท่ามกลางการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ยารักษาและชุดป้องกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของซูดานก็เผยกับ Middle East Eye ว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อได้สะท้อนให้เห็นว่าโครงสร้างด้านสาธารณสุขและสถานพยาบาลของซูดานมีความอ่อนแออย่างไรในการรับมือความท้าทายครั้งใหญ่อย่างการตอบการตอบสนองการระบาดใหญ่ครั้งนี้
โดยนอกจากเรื่องความกังวลเรื่องระบบการแพทย์ ศักดาบอกว่าความลำบากของคนไทยตกค้างในซูดานตอนนี้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นแรงงานคือเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะเมื่อธุรกิจต่างๆ ต้องปิดจากมาตรการล็อกดาวน์ก็ทำให้รายได้ของแรงงานไทยเป็นศูนย์ เงินเก็บแทบจะไม่เหลือแล้ว แม้ในช่วงแรกเจ้าของกิจการช่วยเหลือได้แต่ในระยะยาวเขามองว่าคงไม่ไหว เพราะไม่รู้ว่าจะขยายเคอร์ฟิวออกไปอีกหรือไม่ ส่วนนักศึกษาไทยเองก็เผชิญปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายเช่นกันเพราะการโอนเงินทางไกลจากครอบครัวในไทยมาก็ลำบาก แม้ตอนนี้ยังพออยู่ได้แต่ถ้าติดอยู่นานกว่านี้โดยสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจะลำบากแน่นอน
ศักดาเผยว่านักศึกษาไทยได้รับความช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงไคโรของอียิปต์ที่ดูแลซูดานด้วย โดยให้ความช่วยเหลือผ่านทางสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำกรุงคาร์ทูมมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันประมาณ 1 เดือน ความช่วยเหลือรอบแรกเป็นถุงยังชีพและเงินคนละประมาณ 100 บาท ส่วนความช่วยเหลือรอบ 2 ถูกส่งมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นข้าวสารอาหารแห้ง
นักศึกษาชาวไทยคนนี้ยังบอกว่า ตอนนี้มีแบบสำรวจคนไทยตกค้างในซูดานที่ประสงค์เดินทางกลับออกมาแล้ว แต่สิ่งที่ทุกคนกังวลคือค่าตั๋วเครื่องบินที่ต้องรับผิดชอบกันเอง เพราะจากการสำรวจตั๋วเดินทางกลับจากกรณีอพยพคนไทยกลับจากอียิปต์พบว่ามีราคาค่อนข้างสูง อยู่ที่ประมาณ 26,000 กว่าบาท คนที่ฐานะไม่ดีอาจจ่ายไม่ไหว แต่เชื่อว่าถ้ามีการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายส่วนนี้จากรัฐก็น่าจะดีขึ้น แต่ระหว่างนี้หากยังไม่สามารถเดินทางกลับได้ ก็อยากให้มีการช่วยเหลือเยียวยาที่เพียงพอซึ่งจะได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของคนไทยที่ตกค้าง โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่มีรายได้และยังต้องส่งเสียครอบครัวที่เมืองไทย
สอดคล้องกับ 'ซอฟวาน มะลาเฮง' นักศึกษาไทยจากมหาวิทยาลัยนานาชาติแอฟริกาในกรุงคาร์ทูม ที่เผยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ว่ากังวลกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะการเข้าถึงการตรวจในซูดานทำได้ยากและมาตรฐานการรักษาของโรงพยาบาลก็ไม่น่าไว้ใจ ถ้าได้กลับบ้านคงจะรู้สึกปลอดภัยกว่า สำหรับตัวเขาเองซึ่งอาศัยอยู่ที่พักนอกมหาวิทยาลัย การออกไปซื้อหาอาหารตามเวลาที่ได้รับอนุญาตยังคงทำได้ไม่ยาก แต่ราคาข้าวของก็แพงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอีกเรื่องที่กังวลคือเรื่องข่าวการจี้ปล้นที่ได้ยินเพิ่มขึ้นในช่วงแรกๆ ของการล็อกดาวน์
ซอฟวานยังเป็นรองนายกสมาคมนักศึกษาไทย ณ ซูดาน โดยเขาบอกว่าสมาคมประชุมกันเรื่อยๆ ถึงการช่วยเหลือกันเองของนักศึกษาไทย พร้อมเผยว่าเรื่องค่าตั๋วเครื่องบินสำหรับอพยพกลับก็เป็นประเด็นที่นักศึกษาหลายคนกังวล รวมถึงตัวเขาเองที่ทางครอบครัวในไทยก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตนี้เช่นกัน และเมื่อถามว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรมากที่สุดในเวลานี้ นักศึกษาไทยจากจังหวัดยะลาก็บอกว่า ถุงยังชีพที่เพียงพอต่อการประทังชีวิตไปได้สัก 1 เดือน จำเป็นต่อนักศึกษาไทยและแรงงานที่ตกค้างอยู่อย่างมาก เพราะตอนนี้นักศึกษาประสบปัญหาทั้งเรื่องการโอนเงินจากทางไกล ส่วนแรงงานก็ไม่มีรายได้
ส่วน 'อารีนา หมัดซัน' นักศึกษาไทยอีกคนซึ่งกำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนานาชาติแอฟริกาโดยได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัย และยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมาคมนักศึกษาไทยในซูดานบอกว่า นักศึกษาไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงคาร์ทูมซึ่งถือเป็นพื้นที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดในซูดาน และถ้าเป็นไปได้ส่วนมากอยากเดินทางกลับไทยเนื่องจากกังวลว่าหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากยิ่งขึ้นจะยิ่งเดินทางกลับได้ยาก แต่หากมีการจัดเที่ยวบินพิเศษโดยทางการไทยเพื่ออพยพคนที่ตกค้างกลับประเทศ สิ่งที่หลายคนกังวลก็คือเรื่องค่าตั๋วที่ต้องรับผิดชอบเอง
“ถามว่าอยากกลับกันไหม แน่นอนค่ะอยาก แต่ถ้าราคาตั๋วมาก็ตอบชัดเจนไม่ได้ว่าคนที่บอกอยากกลับจะยังกลับไหม มันแพงค่ะ ตอนนี้ที่ไทยเองผู้ปกครองก็ไม่ได้ทำงานกัน ก็แย่ไปตามๆกัน ไม่อยากเพิ่มภาระให้ทางบ้าน เพื่อนๆบางคนมาเรียนที่นี่กับพี่กับน้อง หากต้องกลับพร้อมกัน ก็เหยียบแสน ก็ลำบากค่ะ” อารีนากล่าว
ส่วนสาเหตุที่ประชาชนในซูดานส่วนหนึ่งดูจะระมัดระวังตัวน้อยในช่วงโควิด-19 อารีนามองว่าปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะความยากจน “ส่วนหนึ่งคนที่นี่เป็นคนที่ค่อนข้างไปในทางยากจนมากๆ ไม่ทำอะไรเลยก็จะอยู่ไม่ได้ ตอนเย็นทั้งๆ ที่เป็นเวลาเคอร์ฟิวแต่เขาก็ยังมาขายของ แต่คนไม่เยอะหรอกค่ะ น้อย แค่ขอให้ขายได้วันละ 100 หรือ 200 ปอนด์ (ซูดาน) เพื่อมีเงินหาซื้ออาหารสำหรับเขา” ขณะเดียวกัน เธอก็อยากให้รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือเยียวยาคนไทยที่ยังต้องตกค้างอยู่ในซูดานให้เพียงพอ ทั้งเรื่องความช่วยเหลือด้านการเงินและอาหารของยังชีพ เพราะการล็อกดาวน์ในซูดานส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนไทยที่นี่มากพอสมควร
ข้อมูลจากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า ตอนนี้ในซูดานมีนักศึกษาไทยตกค้างอยู่ทั้งหมด 703 คน และแรงงานไทย 72 คน ขณะที่ 'นุชนาถ ศิริห้องทอง' ผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านนวดแผนไทยในซูดานบอกว่า แรงงานไทยที่มาทำงานในซูดานมีหลากหลายทั้งมาทำงานตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างซ่อมบำรุง ก่อสร้าง และนวดแผนไทย แต่ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทุกคนประสบปัญหาเดียวกันคือไม่มีรายได้
“ผลกระทบหลักๆ คนงานไม่ได้ทำงานประมาณ 2 เดือน จึงทำให้ทุกคนไม่มีรายได้ ส่งไปใช้จ่ายภาระทางบ้าน และ ณ ตอนนี้ คนงานเงินใช้จ่ายที่นี้ก็เริ่มจะหมดแล้วคะ ต้องประหยัดกันมากๆ เพราะซูดานไม่สามารถส่งเงินทางไกลได้เนื่องจากประเทศปิด...ความกลัวความกังวลของคนงาน เป็นเรื่องความปลอดภัย กลัวจะได้รับเชื้อ แต่ต้องเจอกับการแพทย์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ทุกคนกลัว และเงินใช้จ่ายที่จะหมด ไม่พอใช้ ทั้งทางนี้และทางบ้าน...แน่นอนค่ะ หยุดงานไม่มีเงิน ปัญหาหลักๆของทุกคน ณ สถานการณ์นี้” นุชนาถกล่าว
นุชนาถยังเผยว่าจากการสอบถามลูกจ้างแรงงานไทยในร้านอาหารและร้านนวดแผนไทยของตัวเอง ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 15 คน ก็พบว่าสำหรับคนงานที่ยังไม่ได้กลับบ้านตอนนี้ อยากให้ทางการไทยช่วยเหลือจัดหาถุงยังชีพให้มีอาหารเพียงพอสมเหตุสมผลมากกว่าข้าวสารคนละ 5 กิโลกรัมและมาม่า 5 ห่อต่อคนที่เคยได้รับแจก เพราะปากท้องเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเช่นนี้ที่ทุกคนไม่มีงาน ไม่มีรายได้ และราคาข้าวของในซูดานก็สูงมาก ส่วนคนที่ต้องการเดินทางกลับซึ่งตอนนี้ยังไม่ทราบค่าตั๋ว ถ้าต้องออกค่าใช้จ่ายเองก็อยากให้มีความช่วยเหลือจากรัฐในเรื่องการแบ่งเบาลดค่าตั๋วหรือให้ยืมเงินค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก่อน
ในฐานะผู้ประกอบการไทยในซูดาน นุชนาถยอมรับว่ามีภาระหนักในช่วงนี้เพราะต้องปิดร้านตามมาตรการควบคุมการระบาดแต่ก็ยังต้องรับผิดชอบช่วยเหลือค่าอาหารของลูกจ้างทุกเดือน บวกกับค่าเช่าร้านทำเลใจกลางเมืองที่ราคาสูงมากและต้องจ่ายค่าเช่าทุก 6 เดือน หลังจากนี้ถ้ามีการผ่อนปรนก็อาจกลับมาเปิดร้านอาหารอีกครั้ง แต่ร้านนวดยังไม่กล้าเปิดเพราะมีความเสี่ยงสูงกว่า เนื่องจากต้องสัมผัสกับลูกค้า โดยหลังจากนี้คงต้องดูสถานการณ์ว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร แล้วพอรับมือได้แค่ไหนจึงจะตัดสินใจอีกครั้ง
ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงไคโรของอียิปต์ ซึ่งมีอาณาเขตดูแลในซูดานได้โพสต์ประกาศผ่านเฟซบุ๊คเพจของสถานทูตเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ระบุว่าทางสถานทูตกำลังพิจารณาประสานช่องทางให้ความช่วยเหลือคนไทยที่จำเป็นต้องเดินทางจากซูดานกลับประเทศไทย โดยอาจเป็นเที่ยวบินพิเศษที่ผู้โดยสารต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง สถานทูตอยู่ระหว่างตรวจสอบค่าตั๋วเครื่องบิน และคาดว่าจะมีราคาสูงกว่าปกติเนื่องจากเป็นเที่ยวบินในภาวะไม่ปกติ โดยขอให้ผู้ประสงค์เดินทางกลับไทยกรอกแบบฟอร์มแจ้งความต้องการเอาไว้ก่อนเพื่อที่ทางสถานทูตจะนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาจัดหาเที่ยวบินพิเศษ
โดยหลังจากพูดคุยกับนักศึกษาไทยที่ตกค้างในซูดาน ทีมข่าว 'วอยซ์ออนไลน์' ได้สอบถามเรื่องแนวทางความช่วยเหลือไปยังกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้รับข้อมูลว่าทางสถานทูตไทยในกรุงไคโรกำลังประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและซูดานในการจัดเที่ยวบินพิเศษจากซูดานมายังไทย ทั้งเรื่องการขออนุญาตเส้นทางการบิน การติดต่อขอทราบราคาค่าใช้จ่ายในการจัดเที่ยวบินและการขอโควตาเพื่อนำคนไทยเข้าประเทศ
ส่วนเรื่องความช่วยเหลือเรื่องตั๋วเดินทางกลับซึ่งเป็นความกังวลของนักศึกษาและแรงงานที่ตกค้างในซูดานนั้น กรมสารนิเทศระบุว่า “หากผู้ที่ประสงค์กลับไทย แต่ไม่มีค่าใช้จ่ายเพียงพอในการจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน ก็สามารถยืมเงินจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไคโร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายได้” ขณะที่เรื่องปัญหาวีซ่าและเอกสารจำเป็นอื่นๆ ในการเดินทางกลับ ทางสถานทูตและสถานกงสุลกิตติมศักดิ์จะช่วยเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในซูดานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเมื่อมีการยืนยันจัดเที่ยวบินพิเศษแล้ว
นอกจากนี้ ยังเผยแนวทางช่วยเหลือหากยังคนไทยที่ตกค้างยังไม่สามารถเดินทางกลับได้ว่า สถานทูตไทยในอียิปต์จะประสานกับสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในกรุงคาร์ทูม แจกจ่ายถุงยังชีพเพิ่มเติม และในกรณีนักศึกษาหรือแรงงานไทยติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างพำนักอยู่ในซูดาน ทางการซูดานจะรับผิดชอบรักษาพยาบาล