“ชัชชาติ สิทธิพันธ์” เป็นเทคโนแครตที่ก้าวสู่สนามการเมืองพ่วงด้วยจุดแข็งที่ยากจะปฏิเสธ นั่นคือ “วิสัยทัศน์” ต่อการพัฒนาเมือง และในวิกฤติโควิด-19 วิสัยทัศน์ข้อนี้ถูกทดสอบอยู่เสมอ
ต้นเดือนเมษายน “ชัชชาติ” เปิดตัวโปรเจกต์ในโลกออนไลน์ ใช้ชื่อว่า โครงการ “บ้านใกล้ เรือนเคียง”
สารที่เขาส่งถึงสังคมไทยผ่านโครงการนี้ คือการสร้าง “ระบบ” ในการดูแลชุมชน “โดยตรง” โดยไม่ต้องผ่านองค์กร/หน่วยงานกลาง
การตัดผ่านคนกลางเช่นนี้ จะทำให้ความช่วยเหลือกระจายไปสู่ 1,500 ชุมชน ใน 50 เขตพื้นที่ของ กทม.ได้อย่างรวดเร็ว
อีกวิธีที่ทำให้การกระจายของบริจาคเป็นไปอย่างรวดเร็ว คือการส่งของบริจาคผ่าน “ประธานชุมชน” ซึ่งจะช่วยให้ของบริจาคถูกส่งมอบถึงมือประชาชนที่เดือดร้อนได้จริงๆ “เพราะประธานชุมชนจะรู้ว่าใครเป็นใครในชุมชนครับ”
โมเดลการบรรเทาทุกข์ผ่าน “เส้นเลือดฝอย” นี้ เริ่มจาก บ้านใกล้เรือนเคียงของเราก่อน เริ่มจาก ใกล้ๆ ตัวเราก่อน
เมื่อหาข้อมูลของชุมชนที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน หรือที่ทำงาน ชื่อผู้ติดต่อ รายละเอียดของชุมชน สิ่งที่ขาดแคลนได้แล้ว ก็ให้ช่วยเหลือได้ทันที ตามกำลังที่มี ไม่ว่าจะเป็น ข้าวกล่อง หน้ากาก เจลล้างมือ ข้าวสาร อาหารแห้ง นมกล่อง ของเล็กน้อย
ทีมอาสาสมัคร ได้เปิดลิงค์ออนไลน์ให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปค้นข้อมูลชุมชนได้ทันที แวะเยี่ยมชมได้ที่ https://bit.ly/2RlSzEZ
ทั้งหมดนี้ สอดรับกับคีย์เวิร์ดในแคมเปญหาเสียงของ “ชัชชาติ” ที่ปูมาแต่ต้น คือ การแก้ปัญหาของเมือง ผ่าน “เส้นเลือดฝอย-กลุ่มคนที่เปราะบางในระดับเส้นเลือดฝอย” ของเมือง
ความช่วยเหลือในโครงการบ้านใกล้เรือนเคียง จึงถูกส่งไปถึง คนในชุมชมส่วนใหญ่ที่เป็นแม่บ้าน แม่ครัว รปภ. คนส่งของ ไปจนถึงผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง-คนพิการติดเตียง
“ชัชชาติ” เชื่อมั่นว่า “การแก้ปัญหาตรงที่ระดับเส้นเลือดฝอยจะช่วยลดปัญหาในระดับใหญ่ได้”
“ถ้าชุมชนไม่เจ็บไม่ป่วย จะช่วยลดการระบาด ลดปัญหาของพื้นที่ในอนาคต และลดภาระของบุคลากรสาธารณสุขได้มาก”
“ตอนนี้ความช่วยเหลือต่างๆ เน้นไปรวมศูนย์อยู่ด้านบน การกระจายลงมาสู่คนที่ลำบากจริงๆไม่ทั่วถึง ถ้าเราช่วยกันกระจายกันดูแลโดยตรงในพื้นที่ใกล้ๆเรา จะช่วยให้เข้าถึงปัญหาได้เร็วและตรงจุด”
“ชัชชาติ” เสนออีกว่า ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่แค่เอาของไปแจก เอาของไปส่งมอบ แต่ต้องพัฒนาไปถึงขั้น “ระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ” ให้ได้ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐในระดับหน่วยย่อย (สำนักงานเขต/อปท.) ร่วมกับเครือข่ายความสัมพันธ์ในระดับชุมชน (ผู้นำชุมชน)
คนที่อยู่หน้างานจริง รู้ปัญหาได้ดีที่สุด!!
เมื่อคราวที่ใครต่อใคร ถามไถ่ “ชัชชาติ” ถึงตำแหน่งแคนดิเดตพรรคเพื่อไทย ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขามักแบ่งรับแบ่งสู้ด้วยประโยคทำนอง “ไม่ใช่เรื่องตำแหน่ง ไม่ใช่เรื่องอำนาจ แต่เป็นเรื่องข้อเสนอที่มีต่อการแก้ปัญหาประเทศ”
ในห้วงเดือนเมษายน นอกจากโปรเจกต์ “บ้านใกล้ เรือนเคียง” แล้ว เขายังมีข้อเขียนขนาดยาว นำเสนอประเด็นต่างๆ ต่อการแก้ไขวิกฤติโควิด-19 อีกด้วย
“ชัชชาติ” นำเสนอถึง 6 มาตรการที่รัฐจำเป็นต้องเร่งผลักดัน (1) แก้ปัญหาให้เด็ดขาด โดยอาศัยผู้ที่เชี่ยวชาญ และเรียนรู้ประสบการณ์จาก เกาหลีใต้ สิงคโปร์ (2) เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ต้องมีขนาดใหญ่และเพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจที่จำเป็น
(3) มาตรการการเยียวยา บรรเทาทุกข์ ต้องครอบคลุมประชาชนที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม (4) หาช่องทางในการช่วยเหลือทีมีประสิทธิภาพ ถึงมือประชาชนเร็วที่สุด (5) ชะลอการเลิกจ้างให้มากที่สุด รัฐเข้าไปร่วมออกเงินในบางส่วน (6) การช่วยรับภาระดอกเบี้ยให้ประชาชน และการชะลอการจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆไม่จำเป็นต้องเร่ง เพราะผู้รับเหมากับราชการได้รับผลกระทบน้อย งบประมาณต้องลงตรงประชาชนให้มากที่สุด
“ชัชชาติ” ยังเล่าถึงเศรษฐกิจของความไว้ใจ (Trust Economy) ที่จะเป็นทางออกของโลกหลังวิกฤติโควิด-19
“ความไว้ใจจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจ เรายังคงต้องกินอาหาร เดินทาง หาความบันเทิง ซื้อสินค้าต่างๆ แต่เราจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และช่องทางที่เราไว้ใจ”
“ก่อนมีโควิด ถ้ามีใครมาวัดอุณหภูมิเราก่อนเข้าร้าน เราคงจะรู้สึกรำคาญว่ามาวัดทำไม แต่จากนี้ไป ถ้าร้านไหนไม่วัดอุณหภูมิ เราอาจจะไม่อยากเข้าไปใช้บริการ เพราะเราไม่ไว้ใจ”
“ในภาพใหญ่ระดับประเทศ เราจะสร้าง Brand ประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าไว้ใจ (Trusted Nation) ได้อย่างไร”
“ธุรกิจต่างๆ การท่องเที่ยว สายการบิน ท่าอากาศยาน สถานีขนส่ง ร้านอาหาร ศูนย์การค้า สปา สำนักงาน ร้านทำผม คลีนิค ร้านเสริมสวย การส่งอาหาร ระบบขนส่งสาธารณะ ห้องน้ำสาธารณะ จะต้องมีการปรับขบวนการต่างๆในการทำงานเพื่อสร้างความไว้ใจ ควรจะต้องเริ่มคิดและเตรียมการตั้งแต่ตอนนี้ การจะเริ่มเปิดธุรกิจได้ ไม่ใช่แค่เป็นระดับนโยบายแต่เราต้องมีความพร้อมในระดับปฎิบัติการด้วย”
เมื่อมีข่าวค่าไฟแพง “ชัชชาติ” ก็ออกชน “การไฟฟ้า” ทว่าเป็นการชนด้วยข้อมูล
“ดูง่ายๆ ของกรุงเทพฯ ก่อนนะครับ มีหน่วยงานหลักสองหน่วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ผลิตไฟ ขายให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แล้วมาขายให้ประชาชน
กฟผ.
กำไรเบ็ดเสร็จ 48,776 ล้านบาท
กำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรร 284,223 ล้านบาท
กฟน.
กำไรเบ็ดเสร็จ 9,025 ล้านบาท
กำไรสะสมที่ยังไม่จัดสรร 95,742 ล้านบาท
ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า เป็นค่าใช้จ่ายของทุกครัวเรือน ในช่วงวิกฤตที่ทุกคนลำบาก ขอให้รัฐช่วยประชาชนอย่างเต็มกำลัง อย่าตัดไฟชาวบ้าน อย่าไปห่วงเรื่องกำไรขาดทุน ผมคิดว่านโยบายง่ายๆคือปีนี้ห้ามมีกำไร ต้องช่วยคนลำบากก่อน”
“สนธิ ลิ้มทองกุล” ยังอาศัยข้อมูลของ “ชัชชาติ” ไปอ่านออกอากาศ-ถล่ม-ขยายความ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับค่าไฟ เมื่อเทปก่อน ไปหาดูกันได้
“ชัชชาติ” เล่าถึงปัญหาของพี่น้องประชาชนในภาวะปิดเมืองแบบนี้ว่า “รายจ่ายมันไม่ได้หยุด” และชาวบ้าน “กลัวทั้งโควิดและกลัวอด”
นอกจากภาพการส่งต่อของบริจาค จาก “เครือข่าย” ต่างๆ ที่รายล้อมตัวเขาแล้ว ประโยคที่เขาเน้นย้ำเสมอในแต่ละโพสต์ทางเฟซบุ๊คคือ “เราต้องรอดไปด้วยกัน”
“สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปได้และเข้มแข็งขึ้น คือ ความเห็นอกเห็นใจ ความเสียสละ เรารอดคนเดียวไม่ได้ เราต้องรอดไปด้วยกัน คนที่พอมีกำลัง ช่วยเหลือและแบ่งปันให้คนที่ขาดแคลน”
ทว่า “ชัชชาติ” จะรอดหรือไม่ ปี 64 คงได้ลุ้นกัน เพราะจริงอยู่ว่า การเปิดตัวนานทำให้ได้มีเวลาในการแสดงวิสัยทัศน์-สร้างเครือข่ายในระดับพื้นที่ ทว่าอีกด้านยังเป็นการสั่งสมบาดแผล-ทำให้หน้าช้ำไปด้วย