เคยมีคำทำนายว่าหลังจากเพลง Gangnam Style ของ Psy ไปแล้ว กระแสคลื่นเกาหลีน่าจะตกต่ำลง แต่อย่างที่เห็นชัดแล้วว่าเป็นการคาดการณ์ที่ผิด วง BTS ออกทัวร์ไปทั่วโลก, บัตรวง BLACKPINK ขายหมดจนต้องเพิ่มรอบ ปีที่แล้วเราติดละคร ‘เลขาคิม’ (What's Wrong With Secretary Kim?) กันงอมแงม และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาดูเหมือนหลายคนจะพร้อมใจกันดูซีรีส์ Kingdom
การถอดรหัสความสำเร็จของกระแสเกาหลีเป็นเรื่องที่พูดถึงอยู่เรื่อยๆ หากโฟกัสที่ฝั่งของซีรีส์ สิ่งที่ทำให้ละครเกาหลีได้ใจคนดูคงเป็นเรื่องของความใหญ่แบบ Larger than life ไล่ตั้งแต่มุกนางตายด้วยโรคลูคีเมีย (แต่ยังแต่งหน้าเต็ม) เมื่อสมัยสิบปีก่อน, การแสดงแบบระเบิดพลังเหมือนตัวละครหัวร้อนตลอดเวลา หรือกระทั่งละครตลกอย่าง ‘เลขาคิม’ ก็มีการตัดต่อฉึบฉับและเสียงเอฟเฟกต์มากมาย
หนึ่งในประเภทซีรีส์เกาหลีที่สร้างกันอยู่เสมอคือละครย้อนยุคราชวงศ์นั่นนี่ ซึ่งปกติแล้วเป็นสิ่งที่ผู้เขียนไม่ค่อยสนใจนัก
แต่กับเรื่อง Kingdom นั้นเป็นข้อยกเว้น เพราะมันเป็นละครย้อนยุค + ซอมบี้!
พอสองสิ่งนี้มาอยู่ด้วยกันมันก็เป็นบิ๊กไอเดียที่นายทุนทั้งหลายแทบจะเอาเงินมากองให้ผู้สร้างทันที ส่วนเนื้อเรื่องของ Kingdom ก็ว่าด้วยองค์ชายรัชทายาทที่ต้องสืบสาวหาความจริงว่าเหตุใดผู้คนถึงแปรสภาพกลายเป็นผีดิบ
Kingdom กำกับโดยคิมซองฮุนที่สร้างชื่อจาก A Hard Day (2014) และ Tunnel (2016) ซึ่งผู้เขียนก็แอบตั้งแง่เล็กน้อย เนื่องจาก Tunnel ว่าเป็นหนังว่าด้วยการเอาชีวิตรอดจากการติดในอุโมงค์ที่ดูเพลินดี แต่หนังวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปมาจนดูตลกไปเลย จนแอบกังวลว่า Kingdom จะมีอาการดังกล่าวหรือไม่
แต่ดูเหมือนงานนี้ผู้กำกับคิมจะแก้มือได้ดีพอควร Kingdom เป็นซีรีส์ดูแล้วหยุดไม่ได้ ผู้เขียนเองก็ดูจบภายในวันเดียว อาจเพราะความยาวที่ค่อนข้างกระชับ มีทั้งหมด 6 ตอน ตอนละ 40-50 นาที
นอกจากนั้นการเขียนบทยังทำได้น่าสนใจจนสามารถเอาไปสอนวิชาเขียนบทได้ กล่าวคือหนังมีสองเส้นเรื่อง-การห้ำหั่นทางการเมืองระหว่างอัครมหาเสนาบดีกับองค์รัชทายาท ในขณะเดียวกันพระเอกของเราก็ต้องวิ่งหนีซอมบี้ไปด้วย
**มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์บางส่วน**
เช่นนั้นแล้ว Kingdom ยังมีเนื้อหาเป็นแนวเอาชีวิตรอด (Survival) เช่นเดียวกับ Tunnel นั่นแหละ เพียงแต่ตัวเอกถูกไล่ล่าจากทั้งมนุษย์และซอมบี้ ซึ่งตามสูตรของหนังแนว Survival แล้วก็ต้องหล่อเลี้ยงคนดูด้วยการ ‘ให้ความหวัง’ และ ‘ทำลายความหวัง’ สลับกันไป (เช่น การเลือกให้ใครรอดหรือตาย) Kingdom เลยมีฉากบีบหัวใจอยู่พอควร หรือยังมีฉากโหดถึงเลือดถึงเนื้อเสียด้วย (ทีมงานให้สัมภาษณ์ว่านี่เป็นข้อดีของการฉายทาง Netflix หากเป็นโทรทัศน์ปกติคงทำไม่ได้)
นอกจากนั้นในระหว่างทางการวิ่งมาราธอนหนีซอมบี้ เราจะเห็นพัฒนาการของพระเอกจากองค์รัชทยาทผู้หยิบหย่งไปสู่การเป็นผู้นำที่ดี แต่จุดนี้ผู้เขียนก็รู้สึกว่าการเปลี่ยน (Turn) ของตัวละครค่อนข้างจะเร็วไปหน่อยและดูมีมิติเดียวจนแบนเกินไป นี่ก็เป็นอาการถ่ายทอดสารแบบโต้งๆ ทื่อๆ ของผู้กำกับ แต่ยังอยู่ในระดับมีชั้นเชิงพอรับได้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนที่สุดของ Kingdom คงหนีไม่พ้น ‘ซอมบี้’ อย่างที่เราเห็นหลายครั้งในสื่อภาพเคลื่อนไหวว่าซอมบี้เป็นสัญลักษณ์ของอะไรสักอย่างมาตลอด ไม่ว่าจะการเสียดสีทุนนิยมในหนังของ จอร์จ เอ. โรเมโร, การทดสอบศีลธรรมมนุษย์ใน 28 Weeks Later (พระเอกตัดสินใจหนีซอมบี้โดยทิ้งลูกเมีย) หรือการตั้งคำถามความแตกต่างระหว่างคนตายกับคนเป็นในซีรีส์ฝรั่งเศส Les Revenants
แล้วซอมบี้ใน Kingdom มีความหมายถึงอะไร?
จุดที่น่าสนใจคือซอมบี้ในเรื่องนี้มีจุดกำเนิดจากตัวละครสองฝั่งคือชนชั้นล่างและชนชั้นสูงที่ล้วนต้องการ ‘มีชีวิตต่อไป’ ทั้งคู่ ฝ่ายชาวบ้านนั้นกลายเป็นซอมบี้เพราะเอาศพของคนมากินประทังชีวิตจนติดเชื้อผีดิบ ส่วนฝั่งราชวงศ์ตัดสินใจทำให้องค์ราชาเป็นซอมบี้เพื่อเป็นหุ่นเชิดทางการเมืองต่อไป จึงเห็นได้ว่าฝ่ายหนึ่งทำไปด้วยความจำเป็นและไม่มีทางเลือก ส่วนอีกฝ่ายทำด้วยความกระหายทางอำนาจ
ประเด็นชนชั้นเป็นสิ่งที่ปรากฏใน Kingdom เสมอ อย่างในฉากตลกร้ายที่ทางการเลือกจำกัดซอมบี้ชาวบ้านกับซอมบี้ขุนนางด้วยวิธีที่ต่างกัน นอกจากนั้นยังมีเรื่องน่าเศร้าในชีวิตจริงที่ทีมงานฝ่ายอาร์ตคนหนึ่งเสียชีวิตเมื่อต้นปี 2018 เพราะทำงานหนักเกินไป แม้จะเป็นเหตุชวนสลด แต่หากมองในแง่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ การจากไปของคนหนึ่งคนในบรรดาทีมงานหลายร้อยชีวิตไม่อาจหยุดยั้งการถ่ายทำซีรีส์ฟอร์มยักษ์เรื่องนี้ได้ (Kingdom ลงทุนราวตอนละ 60 ล้านบาท) สิ่งที่ผู้สร้างทำได้ดีที่สุดก็เป็นเพียงการขึ้นชื่อไว้อาลัยตอนเอนด์เครดิต
ส่วนอีกกลุ่มคนที่มีสถานะไม่ต่างจากซอมบี้ก็คือเราเหล่าคนดูที่หามรุ่งหามค่ำตะลุยดูซีรีส์เรื่องนี้และเฝ้ารอซีซั่นสองอย่างใจจดใจจ่อ ออกจากบ้านไปก็ยังเจอบิลบอร์ดโฆษณาเรื่องนี้มาหลอกหลอน ก้มหน้าเล่นมือถือก็เจอแฮชแท็กทางทวิตเตอร์และโฆษณาขึ้นมาแทรกก่อนจะดูยูทูบ
เราถูกทำให้เป็นซอมบี้หรือเราทำตัวเองนั้นก็เป็นเรื่องต้องขบคิดกันต่อไป