“คุณอาจจะจำได้ว่าผมถูกวิจารณ์ในการเรียกปูตินว่าเป็นอาชญกรสงคราม” ไบเดนระบุกับผู้สื่อข่าว “อย่างไรก็ดี ความจริงได้เปิดเผยมาแล้ว เราเห็นมันเกิดขึ้นที่บูชา เขา (ปูติน) คืออาชญากรสงคราม” ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกมาเรียกประธานาธิบดีรัสเซียว่าเป็นอาชญากรสงครามในวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ก่อนถูกชาติพันธมิตรตะวันตกอย่างฝรั่งเศสวิจารณ์ว่าคำพูดในลักษณะดังกล่าวอาจยกระดับสถานการณ์ในยูเครนขึ้น
อย่างไรก็ดี ไบเดนกล่าวเสริมว่า “เราจำเป็นจะต้องรวบรวมข้อมูล เราจะเดินหน้ามอบอาวุธให้กับยูเครนตามที่พวกเขาต้องการเพื่อใช้ในการต่อสู้ และเราจะต้องหาข้อมูลปลีกย่อย (เพื่อ) การพิจารณาคดีอาชญากรรมสงคราม ชายคนนี้โหดร้ายและสิ่งที่เกิดขึ้นในบูชานั้นอุกอาจมาก”
โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนได้ลงพื้นที่เกิดเหตุในเมืองบูชา ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปจากกรุงเคียฟประมาณ 30 กิโลเมตร โดยประธานาธิบดียูเครนเปิดเผยว่า อาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นในเมืองแห่งนี้ของยูเครน “ถูกเรียกโดยทั่วโลกว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
“เรายืนกันอยู่ที่นี่ในวันนี้ และมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น” เซเลนสกีกล่าวกับผู้สื่อข่าว “เราทราบมาว่ามีประชาชนกว่าพันรายถูกสังหารและถูกทรมาน ด้วยการตัดแขนขาออก ผู้หญิงถูกข่มขืน เด็กถูกฆ่า” ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ถูกสังหารโดยกองทัพรัสเซียยังคงไม่มีความแน่ชัด ในขณะที่มีการค้นพบประชาชนที่ถูกสังหารนอกกรุงเคียฟแล้วอย่างน้อย 410 ราย
ก่อนหน้านี้ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ออกมาวิจารณ์ข้อวิจารณ์ของไบเดนต่อปูตินในการเรียกประธานาธิบดีรัสเซียว่าเป็นอาชญากรสงคราม แต่ล่าสุด มาครงได้ชี้ว่าเหตุการณ์ในเมืองบูชาเป็น “หลักฐานอาชญากรรมสงครามที่ชัดเจน” ก่อนชี้ว่า “มันคือกองทัพรัสเซียที่อยู่ในที่แห่งนั้น เราได้ระบุไปที่ทางการยูเครนว่า เราพร้อมให้ความช่วยเหลือในการสืบสวนที่พวกเขากำลังดำเนินการ ความยุติธรรมระหว่างประเทศต้องมีชัยเหนือกว่า”
นอกจากนี้ ฝรั่งเศสกำลังพิจารณาการยกระดับมาตรการคว่ำบาตรที่ “ชัดเจน” มากยิ่งขึ้นต่อรัสเซีย ซึ่งรวมถึงมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันและถ่านหินที่ผลิตในรัสเซีย ซึ่งฝรั่งเศสเป็นชาติอันดับสองของสหภาพยุโรปรองจากเยอรมนีที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียมาใช้ในประเทศของตน นอกจากนี้ ฝรั่งเศสได้ประกาศขับนักการทูตจำนวนหนึ่งของรัสเซียออกจากประเทศแล้ว เช่นเดียวกันกับเยอรมนีที่ประกาศขับนักการทูตรัสเซียออกนอกประเทศ
เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้านความมั่นคงเปิดเผยว่า เหตุการณ์ในเมืองบูชาเป็นหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน โดยสหรัฐฯ ยืนยันว่าตนจะดำเนินการต่อไปเพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ให้ได้ ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยืนยันว่าตนกำลังทำงานร่วมกันกับพันธมิตรยุโรปอย่างใกล้ชิด
สหรัฐฯ ยังได้เรียกร้องขอให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติร่วมลงมติขับรัสเซียออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยมติดังล่าวต้องอาศัยเสียงรัฐสมาชิกสหประชาติ 2 ใน 3 เพื่อประกาศขับรัสเซียออกจากคณะมนตรีดังกล่าว
ที่มา: