เลดี้ เบรนดา เฮล ประธานศาลฎีกาแห่งสหราชอาณาจักร แถลงว่า ไม่เกินช่วงต้นสัปดาห์หน้า คณะตุลาการศาลฎีกาทั้ง 11 คน จะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี กรณีสั่งปิดประชุมสภา 5 สัปดาห์ ตั้งแต่ 9 ก.ย.ถึงวันที่ 14 ต.ค. ซึ่งถือว่านานกว่าการปิดประชุมสภาที่ผ่านมา เป็นความผิดฐานละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะคำสั่งดังกล่าวส่งผลให้ที่ประชุมสภามีเวลา 'น้อยลง' ในการถกเถียงอภิปรายเรื่องแผนดำเนินการเบร็กซิต ซึ่งอังกฤษจะต้องแยกตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) ในวันที่ 31 ต.ค.
นอกจากนี้ เซอร์ จอห์น เมเจอร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ยังตั้งคำถามด้วยว่า นายจอห์นสันได้บิดเบือนข้อมูลที่ทูลเกล้าต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เพื่อให้พระองค์ลงพระนามรับรองคำสั่งปิดประชุมสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะก่อนหน้านั้น จอห์นสันแพ้โหวตในสภาผู้แทนราษฎร โดยเสียงข้างมากไม่หนุนแผนเบร็กซิตแบบ No Deal ซึ่งหมายถึงการไม่มีข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้นกับอียู ซึ่งจอห์นสันเป็นผู้ผลักดัน
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า หากศาลตัดสินว่ามีจอห์นสันกระทำผิดเข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญจริง จะสามารถเปิดสมัยประชุมครั้งใหม่ได้เร็วขึ้นกว่าเดิม หรือก่อน 14 ต.ค. ซึ่งฝ่ายค้านมองว่าอาจจะช่วยให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีเวลามากขึ้นในการอภิปรายรายละเอียดของแผนเบร็กซิตที่จะยื่นต่อสภาอียู
ส่วนบทบรรณาธิการของเว็บไซต์ดิอินดีเพนเดนท์ สื่อใหญ่อีกแห่งหนึ่งของอังกฤษ ตั้งคำถามว่า If the Supreme Court cannot protect us from abuses of power, then who will? (ถ้าศาลป้องกันอำนาจฉ้อฉลไม่ได้ ใครจะปกป้องเรา) พร้อมระบุว่า "คำวินิจฉัยของศาลมีผลอย่างมากในการทวงคืนสิทธิในการพิจารณาและตัดสินใจในด้านต่างๆ เกี่ยวกับเบร็กซิต ให้กลับคืนสู่กลไกรัฐสภา" และย้ำด้วยว่า รัฐธรรมนูญนั้นปรับแก้ได้เสมอ แต่ต้องเป็นการปรับแก้ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล ไม่ใช่เกิดจาก 'ความเพ้อฝัน' ของนายกฯ เพียงคนเดียว
อย่างไรก็ตาม เลดี้เฮล ประธานศาลฎีกา ยืนยันว่าคำวินิจฉัยของศาลไม่เกี่ยวกับรายละเอียดในแผนเบร็กซิต เพราะศาลจะตัดสินว่าคำสั่งปิดสมัยประชุมสภานานกว่าปกติของจอห์นสัน เป็นการ 'ลุแก่อำนาจ' หรือว่าละเมิดรัฐธรรมนูญตามที่เขาถูกกล่าวหาหรือไม่ รวมถึงกรณีที่เขาถูกกล่าวหาว่าแจ้งข้อมูลที่บิดเบือนต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เป็นความจริงหรือไม่
ก่อนหน้านี้ ศาลสกอตแลนด์ได้ตัดสินไปแล้วว่า การกระทำของจอห์นสันนั้น "ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" แต่ไม่ได้ระบุว่ามีความผิดหรือต้องรับบทลงโทษในแง่ใด
ระหว่างที่รอคำวินิจฉัยของศาลฎีกาสหราชอาณาจักร นายฌอง คล็อด ยุงเกอร์ ประธานกรรมาธิการสหภาพยุโรป ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์สกายนิวส์ของอังกฤษ โดยระบุว่า อียูยังคาดหวังแผนเบร็กซิตในแบบที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ และย้ำว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อตกลงแบบ No Deal ของจอห์นสัน เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง จะทำให้เกิดความโกลาหลตามมาในอียูและสหราชอาณาจักรอย่างแน่นอน
ยุงเกอร์ระบุว่า ได้รับรายละเอียดเรื่องแผนดำเนินการเบร็กซิตของรัฐบาลจอห์นสันที่ส่งมาให้อียูพิจารณาแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านอย่างละเอียด เชื่อว่าจะมีเนื้อหาที่สำคัญด้านการปรับแก้หรือยกเลิกนโยบาย 'แบ็กสตอป' (Backstop) ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ เป็นผู้เสนอช่วงเดือน มี.ค.
นโยบายแบ็กสตอปกำหนดให้ 'ไอร์แลนด์เหนือ' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรและติดกับประเทศไอร์แลนด์ เป็นพื้นที่บังคับใช้มาตรการทางการค้าและระเบียบศุลกากรแบบเดียวกับประเทศสมาชิกอียูอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การทำธุรกิจต่างๆ ระหว่างอียูและสหราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรค DUP ซึ่งเป็นตัวแทนทางการเมืองของชาวไอร์แลนด์เหนือ ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติ ทำให้ไอร์แลนด์เหนือแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ของสหราชอาณาจักร จึงโหวตคว่ำข้อเสนอของอดีตนายกฯ เมย์
หลังจากนั้นได้มีการปรับแก้รายละเอียดบางส่วนของมาตรการแบ็กสตอป โดยกำหนดให้ไอร์แลนด์เหนือใช้ระเบียบศุลกากรและตั้งด่านตรวจสินค้าโดยใช้มาตรฐานเดียวกับอียูเฉพาะกับสินค้าในหมวด 'อาหาร' และ 'ปศุสัตว์' เท่านั้น เพราะเป็นหลักปฏิบัติที่ดำเนินการในพื้นที่อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม มีผู้คัดค้านว่าการจำกัดประเภทสินค้าให้เข้ากับกฎระเบียบของอียูจะไม่ได้ผลเมื่อนำไปปฏิบัติใช้จริง เพราะสินค้าที่เข้าและออกระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูมีหลากหลายประเภทกว่านั้นมาก
นับตั้งแต่มีการลงประชามติแยกตัวออกจากอียูตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา นักวิเคราะห์และสื่ออังกฤษหลายสำนักได้คาดการณ์ว่าขั้นตอนดำเนินการเบร็กซิตจะเป็นอย่างไรได้บ้าง มีทั้งหมด 5 แนวโน้มด้วยกัน ได้แก่
1. ไม่มีข้อตกลงใดๆ กับอียู
หากรัฐสภาอังกฤษไม่รับรองข้อตกลงใดๆ ที่รัฐบาลอังกฤษไปเจรจากับอียู จะทำให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกอียูในวันที่ 31 ต.ค. โดยไม่มีข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่จอห์นสันผลักดันมาตั้งแต่ยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งนายกฯ
2. เจรจาต่อรองข้อตกลงกันใหม่
รัฐบาลอังกฤษอาจเสนอให้มีการเจรจาต่อรองข้อตกลงเบร็กซิตใหม่ทั้งหมด ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าอียูยินดีที่จะเจรจาใหม่ทั้งหมดหรือไม่ แต่กำหนดเส้นตาย 31 ต.ค.เป็นการเลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่งจากกำหนดเดิม 29 มี.ค. จึงอาจเป็นไปได้ว่าครั้งนี้อียูจะไม่อนุญาตให้อังกฤษเลื่อนดำเนินการเบร็กซิตอีก
3. ทำประชามติรอบ 2
รัฐบาลอาจต้องยื่นมติให้มีการขยายกำหนดการออกจากเบร็กซิตออกไปจากเดิม และให้รัฐสภาอังกฤษผ่านมติรับรองให้มีการจัดการลงประชามติถามควาเมห็นประชาชนเกี่ยวกับเบร็กซิตอีกครั้ง แต่อดีตรัฐบาลของนายกฯ เมย์เคยยืนยันว่า จะไม่ลงประชามติใหม่ เพราะชาวอังกฤษได้ตัดสินใจเรื่องนี้ไปแล้ว รัฐบาลก็ต้องเคารพเสียงของประชาชน
4. จัดการเลือกตั้งใหม่
นายกฯ จอห์นสัน อาจยื่นเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาจัดการเลือกตั้งใหม่ หากสมาชิกสภาเกิน 2 ใน 3 ลงมติรับรองให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนด จะถือเป็นการหยั่งเสียงว่าประชาชนยังคงเห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลหรือไม่
5. ไม่ออกจากอียูแล้ว
ศาลยุติธรรมยุโรปเคยตัดสินว่า อังกฤษสามารถยกเลิกมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน เพื่อยกเลิกกระบวนการออกจากอียูได้โดยไม่ต้องได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกทั้งหมดอีก 27 ประเทศ แต่แนวโน้มที่อังกฤษจะเลือกหนทางนี้ก็เป็นไปได้น้อย เพราะรัฐบาลยังยืนยันว่าต้องเคารพความเห็นของประชาชนที่ไปลงประชามติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: