ในยุคที่โซเชียลมีเดียเติบโต ทำให้ ‘แนวคิดอนาคตใหม่’ ไม่ต้องหวังพึ่งสื่อกระแสหลักในการเผยแพร่ ซึ่งอดีตพรรคอนาคตใหม่สามารถยึดพื้นที่โซเชียลมีเดียได้ เพราะมีทีมงานที่เข้าใจ ‘ธรรมชาติโซเชียลฯ’
อีกทั้งมี ‘3 หัวหอกคณะก้าวหน้า’ อย่าง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ อดีตนักธุรกิจหนุ่มที่สนใจการเมือง ขึ้นเวทีดีเบตวิพากษ์กลุ่มทุนด้วยกันเอง ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’อดีตกลุ่มนิติราษฎร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. และ ‘พรรณิการ์ วานิช’ อดีตสื่อมวลชน-พิธีกร ที่ต่างมีวิธีสื่อสารที่คมและตรงใจคนรุ่นใหม่ได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ ‘แนวคิดอนาคตใหม่’ ก็แทรกซึมเข้าไปใน ‘กองทัพ’ เพราะทหารก็เสพสื่อโซเชียลมีเดียเช่นกัน แต่การแสดงออกยังคงมี ‘วินัยทหาร’ กำกับอยู่ อาจมีการแสดงออกมาอยู่บ้าง ที่ก็สะท้อนแนวคิดที่ได้รับมา โดยเฉพาะในพื้นที่โซเชียลมีเดีย
สัญญาณเหล่านี้ ‘ผู้นำเหล่าทัพ’ ให้ความสำคัญไม่น้อย แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ก็เคยมอบนโยบายในที่ประชุมสภากลาโหม
โดยเฉพาะ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ก็เห็นถึงสัญญาณนี้
ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ เริ่มเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ของกองทัพ เริ่มจาก ‘นักศึกษาวิชาทหาร’ โดยเดินสายพบ นศท. ตามกองทัพภาคต่างๆ เมื่อปี62 หลังให้หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) ปรับหลักสูตร นศท. ขึ้นใหม่ เป็นระบบ Active Learning โดยจำนวน นศท. ชั้นปี 1-5 มีกว่า 3.1 แสนคนทั่วประเทศ ถือว่ามากกว่ากำลังพล ทบ. ทั้งหมดด้วย
โดยปรับสัดส่วนวิชาทหารจากเดิม 70 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือ 55 เปอร์เซ็นต์ ที่บางวิชาสามารถไปเรียนรู้ในภาคสนาม เพื่อการลดความซ้ำซ้อนของเวลาและเนื้อหา
สำหรับวิชาทั่วไปจาก 30 เปอร์เซ็นต์ ขยายเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ โดยเพิ่มเนื้อหาทางด้านประวัติศาสตร์ สถาบันพระมหากษัตริย์ บทบาททหารกับความมั่นคง พร้อมทั้งการฝึกทำกิจกรรมช่วยเหลือประชาชน การปฐมพยาบาล และการบรรเทาสาธารณภัย
จุดสำคัญอยู่ที่ ‘เนื้อหาทางด้านประวัติศาสตร์’ ที่ พล.อ.อภิรัชต์ให้ความสำคัญ เพราะเป็นอีกสิ่งที่ ‘กองทัพ’ เผชิญกับแนวคิดอนาคตใหม่ที่ถือ ‘ชุดประวัติศาสตร์’ คนละฉบับกัน เช่น เหตุการณ์ 24 มิ.ย.2475 ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะการ ‘จดจำประวัติศาสตร์’ เหตุการณ์ ‘กบฏบวรเดช’ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายเลือกที่จะจำและเลือกที่ลืมต่างกัน
ที่สำคัญได้มีการผ่อนปรนให้ นศท.ชาย ชั้นปีที่ 1-5 ให้ไว้ผมรองทรงสูง หลัง ทบ. เล็งเห็นถึงการ ‘สร้างแรงจูงใจ’ ในการสมัครเข้ามาเรียน นศท. มากขึ้น
นอกจากนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ยังไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนนายร้อย จปร. สถาบันที่ผลิต ‘คอมแมน-คีย์แมน’ ของ ทบ. ในอนาคต โดยได้ร่วมเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล เทนนิส ฟันดาบ ออกกำลังกายท่าพีที รวมทั้งนอนค้างกับ นักเรียนนายร้อย จปร. ด้วย พร้อมพูดคุยในฐานะ ‘รุ่นพี่ จปร.31’ กับ ‘รุ่นน้อง จปร.68-71’ อีกทั้งร่วมกระโดดร่มแบบสายดึงประจำกับนักเรียนนายร้อย จปร. ที่เข้ารับการฝึกภาคสนามหลักสูตรส่งทางอากาศ รุ่นที่ 323
ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ ได้ตรวจเยี่ยมโรงเรียนนายสิบ ทบ. ที่ พล.อ.อภิรัชต์ กำชับ ผู้บังคับหน่วยในการดูแลกำลังพลทุกระดับชั้น โดยเฉพาะชั้นประทวน ที่เปรียบเสมือน ‘กระดูกสันหลัง’ (Backbone) ของ ทบ. รวมทั้งยกระดับ ‘ชีวิตทหารเกณฑ์’ นำร่องโดยให้สิทธิ ‘ทหารเกณฑ์’ ที่สมัครใจเป็นทหารอีก 1 ปี หลังการเกณฑ์ทหารปี 2563 ต้องเลื่อนไป 3 เดือน จากสถานการณ์โควิด-19 โดย ทบ. จะให้โควต้าในหลักสูตรส่งทางอากาศ ซึ่งเดิมมีให้เฉพาะบางเหล่า เพื่อเข้าสอบโรงเรียนนายสิบ ทบ.
อีกทั้งสั่งปรับปรุงระเบียบคุณสมบัติของผู้ที่มีรอยสักในการสอบคัดเลือกเข้าเป็น นักเรียนนายสิบ ทบ. และนายทหารประทวนของ ทบ. เพื่อเข้าสู่กระบวนการสอบคัดเลือกมากขึ้น โดย ทบ. ได้นำร่องมอบเครื่องลบรอยสักแก่ ค่ายธนะรัชต์ เพื่อลบรอยสักนอกร่มผ้า ‘พลทหาร’ ที่ได้เป็นนักเรียนนายสิบ ทบ.
อย่างไรก็ตาม พล.อ.อภิรัชต์ กลับมาให้ความสำคัญกับนักเรียนนายสิบ และ ทหารชั้นประทวนมากขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ จ.นครราชสีมา ที่เป็นเรื่องในค่ายทหาร แต่กลับบานปลายออกมานอกรั้วทหาร
หลัง จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา สังกัดกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 อดีตนักเรียนนายสิบ ทบ. ที่ได้ก่อเหตุ โดยชนวนเหตุ พล.อ.อภิรัชต์ ระบุว่า “ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาและเครือญาติ” จากเรื่องการซื้อขายที่ดิน เมื่อผิดสัญญากัน ก่อให้เกิดแรงจูงใจในการก่อเหตุ
ต่อมาคือเหตุการณ์ ‘จ่าจำปา’ จ.ส.อ.พีรศักดิ์ จำปา ทหารประจำหมวดกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลที่ 5 กองพลทหารราบที่ 5 จ.นครศรีธรรมราช ถูกจำขัง 45 วัน ส่งไปฝึกที่ศูนย์ฝึกธำรงวินัย และสั่งงดบำเหน็จประจำปี 63 (ครึ่งปีหลัง) จากกรณีคลิป ‘จ่าจำปา’ โต้เถียงกับผู้ว่าฯตรัง ระหว่างยื่นเอกสารขอผ่านด่านโควิด ในการใช้เส้นทางไปดูแลแม่ที่ป่วยนอนอยู่ที่บ้าน
โดยเกิดกระแสกดดันจากสังคมให้ทบทวนบทลงโทษ ‘จ่าจำปา’ รวมทั้งบรรดาศิษย์โรงเรียนนายสิบ ที่เป็นทหารในกองทัพ ต่างออกมาโพสต์ข้อความในเชิงว่าผู้บังคับบัญชาไม่ปกป้องและไม่ให้ความเป็นธรรมลูกน้อง
อีกทั้งกรณี ‘หมู่อาร์ม’ ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี อดีตเสมียนงบประมาณแผนกโครงการและงบประมาณกองแผน โครงการศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์ กรมสรรพาวุธ ทบ. แม้ว่า ‘หมู่อาร์ม’ ไม่ใช่นักเรียนนายสิบ ทบ. แต่เป็นทหารชั้นประทวนมา 9 ปี ออกมาร้องเรียนถูกผู้บังคับบัญชา ข่มขู่ คุกคามเอาชีวิต หลังเปิดเผยปัญหาทุจริตเบี้ยเลี้ยงภายใน กรมสรรพาวุธ ทบ.
ด้วยเหตุผลการร้องเรียนตามขั้นตอนใน ทบ. ไม่ได้ผล จึงทำให้ ‘หมู่อาร์ม’ เข้าสู้เส้นทางการเมืองแทน ผ่านกลุ่มการเมืองที่เป็น ‘ขั้วตรงข้าม’ กับกองทัพ เช่น พรรคก้าวไกล ที่เป็นอดีตพรรคอนาคตใหม่ อีกทั้งบนเฟซบุ๊กของ ‘หมู่อาร์ม’ ก็แสดงออกอย่างชัดเจน รวมทั้งขึ้นเวทีเสวนา ‘เส้นทางปฏิรูปกองทัพ’ ด้วย โดยนโนบาย ‘ปฏิรูปกองทัพ’ เป็นอีกนโยบายหลักของ ‘อดีตพรรคอนาคตใหม่’ ที่ชัดเจน และใช้ในการหาเสียงและทวงถามสัญญาต่างๆจากกองทัพ
ทั้งหมดนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ทราบดีถึง ‘แนวคิดคนรุ่นใหม่’ ที่มีกรอบคิดทางการเมืองล้อไปกับ ‘อดีตอนาคตใหม่’ ย่อมสั่นครอนกองทัพไม่น้อย ดังนั้นการ ‘เดินสาย’ พบปะ นศท. , นักเรียนนายร้อย จปร. , นักเรียนนายสิบ ทบ. ที่เปรียบเป็น ‘เลือดใหม่ ทบ.’ เพื่อลดช่องว่างต่างๆลง
อีกทั้งรับมือกับ ‘กระแสธารความคิดใหม่ๆ’ ที่เข้ามายังกองทัพ การปรับตัวจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสะเทือนกองทัพซ้ำ จนทำให้วิกฤตศรัทธาต่อกองทัพยากจะฟื้นกลับมา
ถือเป็นช่วง ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ ใน ทบ. ว่าสุดท้ายแล้ว ‘ชุดความคิด’ ใด จะสถาปนาใน ทบ. ได้ยืนระยะกว่ากัน
สมรภูมิใหม่ ระอุขึ้นแล้ว !!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง