ไม่พบผลการค้นหา
ห่างหายจากสนามการเมืองไปพักใหญ่ กระทั่งก้าวสู่ศักราชใหม่ปี 2566 ปีแห่งการเลือกตั้ง ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มาให้ความเห็นผ่านทาง รายการ CareTalk x Care ClubHouse ในหัวข้อ ผู้นำต้อง คนที่ “ทำอย่างแบด”จนประชาชน “แซดอย่างบ่อย” ที่มี พี่โทนี่ วู้ดซัม หรือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมพูดคุย

ครั้งนี้เป็นตอนแรกและเป็นครั้งแรกที่ ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มาออกหน้าจอให้ความเห็นทางเศรษฐกิจผ่านหัวข้อ "ผู้นำต้อง คนที่ “ทำอย่างแบด”จนประชาชน “แซดอย่างบ่อย” เมื่อคืนวันที่ 10 ม.ค. 2566

ดร.ปานปรีย์ ในวัย 65 ปี ดีกรีไม่ธรรมดา โปรไฟล์เป็นที่ยอมรับ สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และปริญญาเอก ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ จาก Claremont Graduate University

งานด้านการเมืองนั้น ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร เคยผ่านการเป็นอดีตข้าราชการประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จนถึงสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จนกระทั่งในปี 2539 ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ และการต่างประเทศในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ 

จากข้อมูลสรุปรวมพรรคการเมือง และสาขาพรรคการเมือง 2545 โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักกิจการพรรคการเมือง และการออกเสียงประชามติ พบว่า ดร.ปานปรีย์ เริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างเต็มตัวในปี 2545 ด้วยการเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา ซึ่งขณะนั้นมี ‘กร ทัพพะรังสี’ เป็นหัวหน้าพรรค และยังดำรงตำแหน่ง ‘รองเลขาธิการพรรค’ ร่วมกับ สมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา เขต 11 ที่ปัจจุบันสังกัด พรรคภูมิใจไทย, พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพมหานครพรรคเพื่อไทย (พท.) , วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และสุภาพ คลี่ขจาย

หลังจากนั้นราว 2 ปี ดร.ปานปรีย์ ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยระหว่างปี 2546-2548 ได้รับหน้าที่ที่สำคัญในการเป็นหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศไทย และกลุ่มประเทศ BIMSTEC ประกอบไปด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาน ศรีลังกา

จนกระทั่งในปี 2548 ดร.ปานปรีย์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทย และได้รับมอบหน้าที่เป็นประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุน และการค้าภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี และประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า 

จากบทสัมภาษณ์ของ Executive Journal มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ฉบับเดือน เม.ย.-มิ.ย. ปี 2549 ดร.ปานปรีย์ ได้แสดงทัศนะถึงความพร้อมของประเทศไทยในการจัดทำเขตการค้าเสรีว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีความพร้อมในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพราะประเทศไทยมีการค้าระหว่างประเทศมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังนั้น การค้าระหว่างประเทศของไทยจึงไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร และจะเห็นว่าประเทศไทยเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศทั้งในรูปของ WTO (องค์การการค้าโลก) และ AFTA (เขตการค้าเสรีอาเซียน) บางครั้งในการเจรจาเราอาจจะขอเขามากกว่าที่เขาคาดหวัง หรือเขาขอเรามากกว่าที่เราคาดหวัง ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้เจรจาที่ต้องรู้เท่าทัน และรู้ว่าต้องทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด 

“ภาพรวมในวันนี้ การเปิดเสรีทางการค้าค่อนข้างจะเป็นประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจให้กับประเทศ ขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับผลกระทบ เราต้องมีความจริงจังที่จะเข้าไปดูแลแก้ไขให้เขามีความแข็งแรงที่จะเข้าสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้” ดร.ปานปรีย์ กล่าว 

ภายหลังการรัฐประหาร 2549 ทำให้รัฐบาลไทยรักไทยในการนำของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ต้องปิดฉากลง และการเมืองไทยเข้าสู่รัฐบาลทหาร ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2550 โดยพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาลแต่ก็ต้องมีเหตุอันให้ยุบพรรคเมื่อปลายปี 2551

ทำให้ ดร.ปานปรีย์ ได้เข้ามารับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2551 จนถึงช่วงเดือน ก.ย. 2553 ภายใต้การนำของ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (ปัจจุบันลาออกจากพรรคเพื่อไทย) 

ดร.ปานปรีย์ ได้รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และเป็นกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ก่อนที่ในปี 2556 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

ภายหลังการกองทัพรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2 ดูเหมือนว่าชื่อของ ดร.ปานปรีย์ จะห่างหายจากแวดวงข่าวสารการเมืองไปพักใหญ่ จนกระทั่งในวันที่ 3 พ.ย. 2561 เริ่มมีการเคลื่อนไหวในทางการเมืองด้วยกระแสข่าวที่แกนนำพรรคเพื่อไทยไดทาบทาม ดร.ปานปรีย์ ให้มาเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติแต่ก็ไม่ได้ข้อยุติ 

รวมถึงกระแสข่าวที่มีการทาบทามเพื่อให้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมควบตำแหน่ง ‘แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี’ ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2562 

ทว่า ดร.ปานปรีย์ เลือกออกมาปฏิเสธข่าว โดยระบุว่า ยังไม่เห็นข่าว และไม่ทราบว่ามีชื่อตน เพราะมัวแต่ลุ้นชื่อคนอื่นอยู่ และที่ผ่านมาก็ยังไม่มีผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยหรือใครส่งสัญญาณทาบทามอะไรมา ตอนนี้ตนยังไม่ได้กลับมาทำงานการเมือง เพราะเว้นวรรคมาสักพักหนึ่งแล้ว

ปานปรีย์ -258A-42A2-B6D8-E848AD929E3A.jpeg

อย่างไรก็ตาม ดร.ปานปรีย์ ยังเคยให้สัมภาษณ์กับทางรายการ Tonight Thailand ทาง สถานีโทรทัศน์ Voice TV เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2561 ในประเด็นมุมมองปัญหาเศรษฐกิจ-การเมือง โดยใจความตอนหนึ่งว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ในประเทศไทยอยู่ในระดับที่อันตราย เรามองเฉพาะในเรื่องการเจริญเติบโต ไม่ได้มองเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืน ถ้าเราอัดฉีดเงินไปข้างบนอย่างเดียว เงินจะไม่ถึงข้างล่าง รวมถึงไม่เกิดการปูพรม ดังนั้นวิธีแก้จากเงินงบประมาณของรัฐบาลนั้นต้องมีการกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น แต่ไม่เคยทำ อีกทั้งพบว่าในปี 2560 งบประมาณส่วนกลาง 60-70% และงบประมาณท้องถิ่นอีกราว 25% แต่ในส่วนท้องถิ่นกลับถูกดึงกลับมาส่วนกลาง ดังนั้นถ้าท้องถิ่นไม่แข็งแร็ง ทุกอย่างจะกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ 

“ผมทำงานเกี่ยวกับบ้านเมืองมาระยะยาวพอสมควร และคิดว่าอะไรที่ทำให้บ้านเมืองได้ก็ยินดี ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด หรือไม่มีตำแหน่งก็ยินดี และถ้าเลือกได้ก็ทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่ามีความชำนาญอย่างเช่น การค้าระหว่างประเทศ และเรื่องเศรษฐกิจที่ตนก็ติดตามอยู่ตอดเวลา แต่ถามว่าตัดสินใจทางการเมืองอย่างไรไม่ได้อยู่ที่ตนอย่างเดียว” ดร.ปานปรีย์ ระบุ 

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 ดร.ปานปรีย์ ได้ร่วมเป็นแขกรับเชิญในรายการ Care Talk x Care Club House ในหัวข้อ ผู้นำต้อง คนที่ “ทำอย่างแบด”จนประชาชน “แซดอย่างบ่อย” พร้อมด้วย ‘โทนี่ วู้ดซัม’ และสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้แสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องของเศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านมิติทางเศรษฐกิจว่า โลกของเราเกิด 3 วิกฤตคือ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศสงครามการค้ากับจีน ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในเรื่องการค้า และภูมิรัฐศาสตร์ การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก และ สงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงเกิดการกีดกันทางการค้าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รุนแรง 

อีกทั้งในเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขัน รายได้ของประเทศไทยมาจากเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเรื่องการส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แต่การท่องเที่ยวก็ไม่เพียงพอ ให้เศรษฐกิจขยายตัว ในเวลานี้เริ่มมีปัญาหาเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจ มันควรจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ยืดหยุ่น เพราะยุทธศาสตร​์ชาติ 20 ปีนั้น ต้องยกเลิก ทำให้มีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา นอกจากเรื่องการเมือง และรัฐธรรมนูญแล้ว สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ 

ดร.ปานปรีย์ ระบุว่า งบประมาณยังออกแบบเดิมๆ การจัดงบฯ แทบจะถูกล็อก งบลงทุนมีน้อย ก็เอางบลงทุนนั้นไปลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เรื่องการจัดงบฯ ให้เศรษฐกิจเติบโตขยายตัวมากขึ้นต้องคำนึงถึงคุณภาพชีวิตประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่จัดงบฯให้ส่วนใดเติบโต ดังนั้น งบฯ ยุคใหม่ควรกระจายมากขึ้นก็สอดคล้องกับการกระจายอำนาจ ที่ไม่เคยทำอย่างจริงจัง ก็ทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างทั่วถึงไม่เกิดความเหลื่อมล้ำ อันดับที่1และ2ของโลก ปัญหาหนี้สินครัวเรือนจะลดน้อยลง 

เรื่องงบประมาณมีความสำคัญเท่ากับนโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคการเมืองที่จะมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประชาชน เวลานี้เราจะเห็นเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องเล่นไม่ได้ เป็นปัญหาใหญ่มากระดับโลก สะท้อนมาถึงประเทศไทยที่พึ่งเศรษฐกิจโลก เพราะโลกมีปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ด้วย ความรู้ทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่เพียงพอ ถ้าไม่มีความรู้ภูมิรัฐศาสตร์การจะไปเจรจาการค้า การจะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูต ใครจะเป็นเพื่อนฉัน ใครไม่เป็นเพื่อน ก็จะไม่ค้าขายด้วย ถ้าตรงนี้ไม่มีบุคคลทางความสามารถเหล่านี้ ตนคิดว่าประเทศไทยจะไม่สามารถดึงรายได้กลับมาจุนเจือเศรษฐกิจของประเทศได้อีก

ดร.ปานปรีย์ กล่าวว่า ตนจะเน้นเศรษฐกิจไทย ควรมองยุทธศาสตร์เศรษฐกิจบวกความมั่นคงของประเทศจะเป็นหัวใจ แล้วเมื่อมียุทธศาสตร์จะต้องมีนโยบาย ควรเป็นเศรษฐกิจยืดหยุ่นไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในเวลานี้ ต้องบริหารคู่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภูมิรัฐศาสตร์ เป็นหัวใจสำคัญทำให้เศรษฐกิจประเทศฟื้นฟูไปได้ ขยายตัวได้ตามที่วางไว้

"ครั้งหนึ่งเราเคยเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า แต่ตอนนี้เริ่มมาอีกทางแล้วจะเปลี่ยนสนามการค้าเป็นสนามรบ มันเป็นเรื่องที่คิดว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญการต่างประเทศน้อยไปจากนี้ไปจะต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้ เพราะจะสร้างรายได้ให้ประเทศไทยในอนาคต" ปานปรีย์ ระบุทิ้งท้ายถึงบทบาทของประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียนที่ควรจะเป็น

ปานปรีย์ 302082294178654_n.jpg
  • ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร อายุ 65 ปี

-อดีตข้าราชการประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ -รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ 

-ที่ปรึกษานายกฯ ด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ 

- ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติพัฒนา ปี 2545

-ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ปี 2546-2548 รัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร

-ผู้แทนการค้าไทย ปี 2548 

-รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (อันดับ 1) รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และเป็นกรรมการยุทธศาสตร์พรรค (2551 - 2553)

-ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปี 2556 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง